กรมสนับสนุนบริการสุขภาพตรวจสอบคลินิกดูดไขมัน ด้วยเทคนิคบอดี้ไทท์ ย่านสยามสแควร์ หลังสาวที่ใช้บริการร้องเรียนว่าทำให้หน้าท้องไหม้เป็นแผลเป็น เสียค่ารักษานับแสนบาท ย้ำเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลทางโซเชียลมีเดียเพียงด้านเดียว ควรนำชื่อคลินิก และแพทย์ที่ดำเนินการมาตรวจสอบว่าเป็นคลินิกที่มีมาตรฐาน ตามกฎหมายหรือไม่
จากกรณีหญิงสาวรายหนึ่งเข้าร้องเรียนกับสื่อมวลชน หลังรับบริการดูดไขมันหน้าท้องที่คลินิกแห่งหนึ่งย่านสยามสแควร์ กทม. ที่ให้บริการดูดไขมันด้วยเทคนิคบอดี้ไทท์ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และเกิดบาดแผลไหม้ที่หน้าท้องจนเป็นแผลเป็นขนาดใหญ่ ต้องเสียทั้งค่าบริการดูดไขมันและรักษาบาดแผลนับแสนบาท โดยหญิงรายนี้บอกว่าได้ค้นหาข้อมูลของคลินิกแห่งนี้ทางสื่อโซเชียลมีเดีย ก่อนตัดสินใจเข้ารับบริการ
นพ.ประภาส จิตตาศิรินุวัตร
นพ.ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ได้สั่งการให้สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะและกองกฎหมาย เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นการด่วน โดยส่งพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบคลินิกดังกล่าวใน 4 ประเด็นดังนี้
1.มีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องกับกรมสบส. ตามที่พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 กำหนดหรือไม่
2.แพทย์ที่ดำเนินการตรวจรักษา เป็นแพทย์จริงที่ขึ้นทะเบียนกับแพทยสภาหรือไม่
3.เครื่องมือที่ใช้ดูดไขมันหรือเครื่องมืออื่นๆ รวมทั้งยา เวชภัณฑ์ที่ให้บริการมีคุณภาพมาตรฐานและขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือไม่
4.ตรวจสอบการโฆษณาของคลินิกว่าเข้าข่ายการโฆษณาชวนเชื่อ ถึงความเชี่ยวชาญ หรือความชำนาญของแพทย์ตามวุฒิบัตรที่ได้รับจากแพทยสภาหรือไม่ หากพบว่าตกเกณฑ์มาตรฐานข้อใดข้อหนึ่งจะดำเนินการลงโทษตามกฎหมายโดยทันที
นพ.ประภาส กล่าวว่า การโฆษณาของคลินิกที่ให้บริการเสริมความงาม สามารถเผยแพร่ได้ที่หน้าร้าน แต่การโฆษณาถึงความชำนาญของแพทย์ผู้ให้บริการจะต้องตรงกับวุฒิบัตรที่ได้รับจากแพทยสภา ห้ามโอ้อวดว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่ไม่มีวุฒิบัตร แต่ปัจจุบันคลินิกที่ให้บริการเสริมความงามมักจะ ใช้วิธีโฆษณาผ่านสื่อโซเชียลมีเดียที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้โดยง่าย โดยใช้ข้อความโฆษณาโอ้อวด เกินจริง ทั้งเทคนิคการรักษา ความเชี่ยวชาญของแพทย์ และผลลัพธ์การรักษาที่สนองความต้องการของผู้ใช้บริการ ทำให้ประชาชนหลงเชื่อเข้ารับบริการ โดยขาดการศึกษาข้อมูลอย่างถี่ถ้วน
จึงขอเน้นย้ำให้ประชาชนทุกคน ศึกษาข้อมูลของคลินิกเหล่านี้ก่อนรับบริการทุกครั้ง โดยเมื่อได้ข้อมูลชื่อคลินิก และแพทย์จากโซเชียลมีเดียแล้ว ให้นำมาตรวจสอบเพื่อยืนยันว่าเป็นคลินิกที่ได้มาตรฐาน ที่เว็บไซต์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (www.hss.moph.go.th) และตรวจสอบรายชื่อแพทย์ที่เว็บไซต์แพทยสภา (www.tmc.or.th) หากไม่พบ หรือพบเพียงอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ควรเข้ารับบริการโดยเด็ดขาด เพราะถือว่าคลินิกแห่งนั้นไม่ได้มาตรฐานอาจก่อให้เกิดอันตรายกับตัวผู้รับบริการได้ และให้รีบแจ้งมาที่สายด่วนคุ้มครองผู้บริโภค สบส. 02 193 7999 หรือเฟซบุ๊ค สารวัตรสถานพยาบาลออนไลน์, มือปราบสถานพยาบาลเถื่อน สบส.จะรีบดำเนินการตามกฎหมายโดยทันที
ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า เทคนิคบอดี้ไทท์ (Body Tite) เป็นวิธีการ “ดูดไขมัน” โดยใช้เครื่องมือส่งคลื่นวิทยุ ผ่านท่อขนาดเล็ก 1-3 มิลลิเมตร เข้าไปในชั้นไขมันเพื่อละลายไขมันให้เป็นน้ำและดูดออกจากร่างกาย ซึ่งก่อนการให้บริการทุกครั้งแพทย์จะต้องชี้แจงถึงผลลัพธ์ที่ได้ และความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นเพื่อให้ผู้รับบริการได้รับข้อมูลที่ถูกต้องก่อนตัดสินใจ ทั้งนี้การดูดไขมันเป็นการลดไขมันส่วนเกินเฉพาะส่วนและให้ผลชั่วคราว ไขมันมีสิทธิ์กลับมาพอกพูนได้อีก ดังนั้นวิธีการลดไขมันที่ได้ผลถูกต้องในระยะยาวนั้น ควรปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เพิ่มการรับประทานผักและผลไม้ให้ได้วันละ 400 กรัม และออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 ครั้ง เพื่อให้ได้ร่างกายที่สมส่วน และสุขภาพแข็งแรงไปในตัวด้วย
- 5 views