รักษาการเลขาฯ สปสช. ระบุ หลักประกันสุขภาพเป็นตาข่ายรองรับไม่ให้ใครต้องล้มละลาย หนำซ้ำยังช่วยยกระดับคุณภาพคน-สังคม เชื่อองค์ประกอบของความสำเร็จอยู่ที่แม่น้ำ 3 สาย “ระบบบริการ-ท้องถิ่น-ประชาสังคม”
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รักษาการเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวในเวทีอภิปรายหัวข้อ “เสริมประสาน ความร่วมมือ เพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ยั่งยืน” ซึ่งอยู่ภายใต้การประชุมวิชาการระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2559 ตอนหนึ่งว่า การร่วมมือในการทำงานร่วมกันมีความสำคัญมาก ซึ่งตลอด 15 ปี ของการทำงานเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพ มีการรับฟังความเห็นทั้งจากภาคประชาสังคม ส่วนท้องถิ่น รวมถึงผู้ให้บริการ ซึ่งทั้งหมดมองว่าระบบหลักประกันช่วยสร้างความมั่นคง
สำหรับระบบหลักประกันจะทำหน้าที่ใน 2 ประเด็น เพื่อให้คนไทยมีความมั่นคงด้านสุขภาพ ได้แก่
1.เป็นตาข่าย รองรับความเสี่ยงทางการเงินเวลาเจ็บป่วย ป้องกันการล้มละลาย
2.ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนและสังคม ให้ก้าวขึ้นอีกระดับหนึ่งในด้านการรับบริการสุขภาพอนามัย
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ทั้ง 2 ประเด็นนี้ จะนำมาซึ่งรูปธรรมของเป้าประสงค์ของระบบหลักประกันสุขภาพ ได้แก่
1.ยกระดับคุณภาพชีวิตและยกระดับความเป็นอยู่ของสังคม ในแง่หลักประกันสุขภาพคือจะทำอย่างไรให้ประชาชนคนไทยได้รับสิทธิประโยชน์อย่างครอบคลุมทั้งประเภทของบริการและขอบเขตบริการ
2.การเข้าถึงบริการ ทั้งมิติคุณภาพและความปลอดภัย
“สิ่งสำคัญก็คือการขยายขอบเขตบริการ ซึ่งจะขยายได้ขนาดไหนก็ขึ้นอยู่กับงบประมาณแต่ละยุคแต่ละสมัย” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวอีกว่า ต้องยอมรับว่าตลอด 15 ปีที่ผ่านมา เราได้เรียนรู้ในหลายๆ อย่างในการวางบทบาทในแต่ละภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของ สปสช. หรือในส่วนของผู้ให้บริการ ส่วนของท้องถิ่นที่ยังมีบทบาททับซ้อนกันอยู่ ฉะนั้นการพูดคุยกันและแบ่งบทบาทให้มีความชัดเจนจะเป็นพลังส่วนหนึ่งในการเดินหน้านอกเหนือจากการออกแบบเรื่องงบประมาณและการมีส่วนร่วม
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า องค์ประกอบของความสำเร็จหรือสายน้ำ 3 สายที่มีความสำคัญ ซึ่งเราต้องให้เกียรติและเข้าใจ ได้แก่
1.ระบบบริการ ที่ส่งผลประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมให้กับสังคมและประชาชนโดยตรง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบทบาทของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กว่า 70% แต่ภายใต้นโยบายประชารัฐ เอกชนเองก็ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการระบบ
2.ท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นจุดพลิกผันและสร้างการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เนื่องจากส่วนท้องถิ่นจะรับทราบปัญหาในพื้นที่ เช่น ผู้สูงอายุติดเตียง ซึ่งจากนี้เราจะใช้รูปแบบให้ชุมชนหรือท้องถิ่นเป็นผู้ดูแล โดยท้องถิ่นจะมีส่วนสำคัญในการเสริมกำลังคนให้กับระบบบริการ
3.ประชาสังคม ซึ่งมีความสำคัญตั้งแต่การเรียกร้องให้เกิด พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ช่วงปี 2545 โดยเรื่องของประชาสังคมจะเป็นเรื่องของการมีส่วนร่วมของคนที่ได้รับประโยชน์และผลกระทบโดยตรงจากระบบบริการหรือระบบหลักประกัน
“ขณะนี้ทิศทางของโลกเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนได้พูดถึงการสร้างหลักประกันสุขภาพให้ประชาชน ฉะนั้นทิศทางที่จะเดินไป รวมถึงตัวชี้วัดต่างๆ ค่อนข้างมีชัดเจน แต่ก็ต้องมาหารือกันเรื่องการบริหารว่าใครมีบทบาทอย่างไร” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวและว่าสำหรับการใช้เงินในกองทุนหลักประกันสุขภาพ คิดว่าคงต้องไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ซึ่งก็ต้องให้ความสำคัญกับหลักเกณฑ์การใช้เงินเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
- 113 views