ที่ปรึกษากระทรวงมหาดไทยถอดบทเรียนกองทุนสุขภาพท้องถิ่นระดับพื้นที่ ระบุประสบความสำเร็จอย่างสูง มีนวัตกรรมของตัวเอง ใช้ภูมิปัญญาของชุมชนเอง เทศบาล-อบต. เข้าร่วมเกือบ 100%
นายนรภัทร ปลอดทอง
นายนรภัทร ปลอดทอง ที่ปรึกษากระทรวงมหาดไทย (มท.) และอดีตรองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวในเวทีอภิปรายหัวข้อ “เสริมประสาน ความร่วมมือ เพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ยั่งยืน” ซึ่งอยู่ภายใต้การประชุมวิชาการระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2559 ตอนหนึ่งว่า เมื่อประชาชนเกิดความเดือดร้อนในเรื่องต่างๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมักจะตกเป็นเป้าและถูกคาดหวังถึงบทบาทเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจว่าท้องถิ่นไม่สามารถทำได้ทุกเรื่อง โดยบทบาทและอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่นขึ้นอยู่กับกฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ 1.กฎหมายจัดตั้ง เช่น เทศบาลก็จะมี พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 ซึ่งจะเขียนไว้ชัดเจนว่าเทศบาลเมือง เทศบาลตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทำอะไรได้บ้าง
2.พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ พ.ศ.2542 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้เป็นภารกิจที่กระทรวง ทบวง กรม จะกำหนดไว้เพื่อมอบหมายให้ท้องถิ่นดำเนินการตามแผน ดังนั้นหากภารกิจใดที่ไม่มีการถ่ายโอนตามกฎหมายฉบับนี้ ท้องถิ่นก็ไม่สามารถดำเนินการใด
สำหรับปัญหาเรื่องภารกิจที่ทับซ้อนระหว่างหน่วยงาน ต้องให้สำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจเป็นผู้ชี้ขาดว่าภารกิจใดเป็นของท้องถิ่นหรือไม่ เพราะสิ่งที่ท้องถิ่นกลัวที่สุดก็คือการถูกเรียกเงินคืน จึงไม่กล้าจ่ายเงินออกไป หากยังไม่มีความชัดเจนเรื่องอำนาจหน้าที่
นายนรภัทร กล่าวว่า ภารกิจที่ท้องถิ่นทำได้ 1.ต้องมีอำนาจหน้าที่ชัดเจน 2.ต้องมีงบประมาณ โดยงบประมาณท้องถิ่นทั่วประเทศมีประมาณ 6 แสนล้านบาท สามารถแบ่งออกเป็นงบประมาณที่ท้องถิ่นจัดเก็บเอง และเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ซึ่งมีประมาณ 215,000 ล้านบาท
“เงินที่ใช้ในระบบประกันสุขภาพของท้องถิ่นนั้น อยู่ในส่วนของเงินอุดหนุนทั่วไปจากรัฐบาล” นายนรภัทร กล่าว
นายนรภัทร กล่าวอีกว่า ในส่วนของ มท.ที่เกี่ยวข้องกับกองทุนหลักประกันสุขภาพ มีอยู่ 3 ภารกิจ ได้แก่
1.การรักษาพยาบาลของข้าราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งขณะนี้มีอยู่ประมาณกว่า 4 แสนราย เดิมก่อนปี 2557 ท้องถิ่นจัดตั้งข้อบัญญัติไว้เป็นค่ารักษาของใครของมัน หากไม่พอก็ต้องไปเอาเงินจากงบกลาง หรือส่วนอื่นๆ ตามหลักเกณฑ์ที่ใช้ได้
อย่างไรก็ตาม หลังมีการลงบันทึกข้อตกลงกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในปี 2557 ทาง มท.โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ตั้งงบประมาณขึ้นมา แล้วให้ สปสช.เป็นผู้บริหารจัดการ
2.กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นระดับพื้นที่ ซึ่งตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ได้กำหนดให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการส่งเสริมสุขภาพ โดยหลักการก็คือ สปสช.จะเอาเงินไปให้ส่วนหนึ่ง แล้วจะให้ท้องถิ่นสมทบอีกส่วนหนึ่ง
ทั้งนี้ ในปี 2549 ซึ่งเป็นปีแรกของการดำเนินการ มีท้องถิ่นที่เข้าร่วม 888 แห่ง แต่ในปัจจุบันมีเทศบาลและ อบต.ที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกกองทุนฯ แล้ว 99.89% เหลืออีกประมาณ 10 แห่งเท่านั้น ซึ่งจากการสอบถามเจ้าหน้าที่พบว่าติดขัดเรื่องทัศนคติของผู้บริหารบางแห่ง รวมถึงงบประมาณที่ท้องถิ่นต้องจ่ายสมทบ
3.การฟื้นฟูสุขภาพที่จำเป็นระดับจังหวัด โดยแม่งานหลักคือ อบจ. ซึ่งปัจจุบันมี อบจ.เข้าร่วมแล้ว 41 แห่ง จากทั้งหมด 76 แห่ง คิดเป็น 53.9% ซึ่งในอนาคตบทบาทส่วนนี้จะมากขึ้น
“ในส่วนของกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นนั้น ได้รับรายงานคือขณะนี้ท้องถิ่นเริ่มคิดเอง เริ่มสร้างนวัตกรรมของตัวเอง ใช้ภูมิปัญญาของชุมชนเอง เช่น แพทย์แผนไทย การใช้สมุนไพร ฉะนั้นในเรื่องหลักประกันสุขภาพของท้องถิ่นระดับพื้นที่ ผมถือว่าประสบผลสำเร็จอย่างสูง” นายนรภัทร กล่าว
- 21 views