สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ แจง 4 ประเด็น กฎหมายนิวเคลียร์ฉบับใหม่ในส่วนเครื่องเอกซเรย์ทันตกรรม ยันจำเป็นที่คลินิกฟันที่มีเครื่องเอกซเรย์ต้องได้รับการกำกับดูแลโดยระบบการขออนุญาตเพื่อความปลอดภัยจากรังสี
นายกิตติศักดิ์ ชินอุดมทรัพย์
นายกิตติศักดิ์ ชินอุดมทรัพย์ รองเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ได้ชี้แจงกรณีข่าว ซัด พ.ร.บ.นิวเคลียร์ฉบับใหม่ไม่ฟังเสียงทันตแพทย์ ระบุ RSO ยิ่งทำให้หมอฟันงานหนักมากขึ้น” (ดูข่าว ที่นี่) ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาว่า
สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติขอชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้
ประเด็นที่ 1 การยกเว้นขอใบอนุญาตเครื่องกำเนิดรังสี หรือเครื่องเอกซเรย์สำหรับงานทันตกรรม
ข้อชี้แจง เนื่องจากเครื่องเอกซเรย์สำหรับงานทางทันตกรรม เมื่อมีการใช้งานตามปกติ นอกจากผู้ป่วยที่ได้รับรังสีตามข้อกำหนดหรือมาตรฐานทางการแพทย์โดยทันตแพทย์เป็นผู้รับผิดชอบดูแลแล้ว ยังมีผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ที่อาจได้รับรังสีได้ เช่น ทันตแพทย์ ผู้ช่วยทันตแพทย์ ญาติผู้ป่วย ผู้ที่อาศัยอยู่ใรบริเวณใกล้เคียง อันเนื่องมาจากการสะท้อนกลับของรังสี ความหนาของผนังไม่เพียงพอ นอกจากนี้ การซ่อมบำรุงโดยผู้ที่ไม่มีความรู้ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้บุคคลทั่วไปอาจได้รับรังสีโดยไม่จำเป็น หรือได้รับอันตรายจากรังสีได้
ดังนั้น ปส.จึงเห็นว่ามีความจำเป็นที่หน่วยงานที่ใช้เครื่องเอกซเรย์ ต้องได้รับการกำกับดูแล โดยระบบการขออนุญาต เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งต่อผู้ปฏิบัติงาน และประชาชนทั่วไป ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตมีไว้ครอบครองหรือใช้เครื่องกำเนิดรังสีประเภทที่ 2 (สำหรับงานทันตกรรม) เครื่องละ 1,000 บาท ใบอนุญาตมีอายุ 5 ปี
ประเด็นที่ 2 การยกเว้นการสอบใบอนุญาตเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสีสำหรับงานทันตกรรม
ข้อชี้แจง จากมติที่ประชุมระหว่าง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้บริหารสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และทันตแพทยสภา รวมทั้งผู้แทนกลุ่มทันตแพทย์ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ได้มีข้อสรุปเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยให้ ปส.หารือร่วมกับสภาวิชาชีพเพื่อวิเคราะห์หลักสูตรวิชาที่สามารถเทียบเท่าตามสมรรถนะหลักของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี ซึ่งแบ่งเป็น 2 กรณี คือ
กรณีที่ 1 หากเทียบเท่าได้ จะสามารถขอรับใบอนุญาตได้โดยไม่ต้องสอบ ซึ่งหากขาดเนื้อหาเพียงบางส่วนก็สามารถเรียนหรืออบรมเพิ่มเติมได้
กรณีที่ 2 หากวิเคราะห์แล้ว ไม่มีวิชาที่สามารถเทียบเท่าได้ จำเป็นต้องสอบเพื่อขอใบอนุญาตตามกฎหมายต่อไป
ประเด็นที่ 3 การจัดอบรมและการจัดสอบ RSO ที่มีการเรียกเก็บค่าดำเนินการในราคาที่สูง
ข้อชี้แจง ปส.ไม่มีภารกิจในการจัดอบรม หรือติวให้ความรู้เพื่อเตรียมการสอบ แต่ทำหน้าที่ในการจัดสอบ และออกใบอนุญาตเท่านั้น ส่วนค่าใช้จ่ายในการสอบเจ้าหน้าที่ RSO จะเป็นค่าสมัครสอบเจ้าหน้าที่ RSO ครั้งละ 500 บาท และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฉบับละ 300 บาท มีอายุ 3 ปี ค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บได้นำเข้ากรมบัญชีกลางเพื่อเป็นงบประมาณแผ่นดิน
ประเด็นที่ 4 เนื้อหาของข้อสอบ RSO ไม่สามารถทำให้ประชาชนปลอดภัย
ข้อชี้แจง เนื้อหาในการสอบเกี่ยวข้องกับความรู้ด้านการป้องกันอันตรายจากรังสีและความรู้ด้านกฎหมายข้อบังคับต่างๆ ที่จำเป็นในการปฏิบัติงาน ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถกำกับดูแลความปลอดภัยทางรังสีทั้งต่อผู้ปฏิบัติงาน ผู้ป่วย และประชาชน
- 29 views