รพ.กาญจนดิษฐ์ หนุนระบบบริการปฐมภูมิ ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางรักษาป้องกันโรคภัย แต่ย้ำยังมีอุปสรรคผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวไม่ครอบคลุมชุมชน
นพ.เอกชัย มุกดาพิทักษ์
นพ.เอกชัย มุกดาพิทักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวถึงระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิโดยใช้พื้นที่เป็นฐานที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ว่า ของโรงพยาบาลกาญจนดิษฐ์เริ่มภายในปี 2559 ซึ่งจะเป็นโรงพยาบาลหนึ่งเดียวใน จ.สุราษฎร์ธานีที่ได้รับเป็นตัวแทนในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพแบบปฐมภูมิขึ้นมา สำหรับ อ.กาญจนดิษฐ์ เป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมในการจัดระบบการดูแลปฐมภูมิแบบใหม่ ที่เน้นการดูแลด้วยหลักเวชศาสตร์ครอบครัว
ทั้งนี้ ระบบการทำงานหลักของเวชศาสตร์ครอบครัว คือเป็นการดูแลในทุกปัญหาสุขภาพของผู้ป่วย มีการดูแลอย่างต่อเนื่องและติดตามผลถึงในระดับชุมชน ไม่ได้ดูแลในโรงพยาบาลเหมือนที่ผ่านมาแล้ว
นพ.เอกชัย กล่าวว่า แต่ตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่าต้องมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวที่มีความเชี่ยวชาญ อยู่ในพื้นที่ตามอัตราส่วน แพทย์ 1 คน ต่อประชากร 1 หมื่นคน และหากจะให้ครอบคลุมทั้งประเทศ จะต้องมีแพทย์ในอัตราส่วน 6,500 คนต่อประชากรทั้งหมด ซึ่งใน อ.กาญจนดิษฐ์ จำเป็นต้องมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวตามเกณฑ์คือ 10 คน แต่ขณะนี้มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเพียงคนเดียว ซึ่งไม่เพียงพออย่างแน่นอน และเป็นโจทย์ใหญ่ที่กระทรวงสาธารณสุข ต้องเร่งแก้ไข
“แผนการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวของกระทรวงสาธารณสุข ตั้งเอาไว้ที่ 10 ปีจึงจะสามารถผลิตแพทย์ได้ครบตามความต้องการ แต่ที่โรงพยาบาลกาญจนดิษฐ์ ใช้วิธีการนำแพทย์ประจำไปอบรมให้ความรู้ด้านเวชศาสตร์ครอบครัวเป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งก็สามารถเริ่มได้เลย” นพ.เอกชัย กล่าว
นพ.เอกชัย กล่าวอีกว่า การผลิตแพทย์ที่ไม่ทันต่อระบบบริการสุขภาพถือเป็นอุปสรรคอีกอย่างที่แต่ละพื้นที่ต้องประสบ และต้องรอเวลานานถึง 10 ปีกว่าจะครอบคลุมทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ในระยะแรกเพื่อให้โครงการนี้ได้เดินหน้าต่อไป จำต้องใช้วิธีอบรมพัฒนาแพทย์ที่มีอยู่ เพื่อให้ทันต่อการบริการปฐมภูมิรูปแบบใหม่ที่ต้องเดินหน้า
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการอบรมแพทย์ในหลักสูตรเวชศาตร์ครอบครัวแล้ว ผลลัพธ์ก็คงไม่มีประสิทธิภาพเหมือนกับแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวที่เรียนและมีประสบการณ์ทางด้านนี้จริงๆ
ถึงกระนั้น นพ.เอกชัย กล่าวถึงผลประโยชน์ของระบบบริการสุขภาพรูปแบบดังกล่าวว่ามีประโยชน์อย่างมาก ว่า ปัจจุบันโรคภัยต่างๆ มีเยอะ และแต่ละคนก็ประสบปัญหาด้านสุขภาพหลายอย่าง อีกทั้งระบบการรักษาก็มีการแตกแขนงวิธีการออกไปมากมาย ซึ่งถ้าหากมีผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคความดัน และโรคกระเพาะอยู่ในคนๆ เดียวกัน เมื่อไปพบแพทย์ก็ต้องเจอแพทย์หลายคน ทำให้เกิดความซับซ้อนของการเข้าถึงบริการสุขภาพ ซึ่งชาวบ้านหรือประชาชนทั่วไปในชุมชนเมื่อไปพบแพทย์ก็ต้องรอเป็นเวลานาน และเกิดปัญหาที่ไปพบแพทย์ไม่ตรงกับโรค
"แต่ทั้งนี้ ระบบดังกล่าวจะสร้างแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวที่คอยดูแลคนในชุมชนตามชนบท เพื่อมอบความรู้ในการป้องกันโรคภัยที่มักเกิดขึ้นบ่อยในแต่ละชุมชนนั้นๆ รวมถึงเมื่อมีคนในชุมชนป่วย ก็จะสามารถให้คำปรึกษาในการรักษา การไปพบแพทย์ด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง ทำให้ผู้ป่วยลดความกังวล และเป็นการรักษาจากฐานรากซึ่งคือประชาชนในชุมชนอย่างแท้จริง” นพ.เอกชัย กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ โรงพยาบาลกาญจนดิษฐ์เริ่มระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิโดยใช้พื้นที่เป็นฐานที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางภายในปี 2559 ซึ่งจะเป็นโรงพยาบาลหนึ่งเดียวใน จ.สุราษฎร์ธานีที่ได้รับเป็นตัวแทนในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพแบบปฐมภูมิ
- 317 views