อนุกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูประบบสาธารณสุขด้านการคลัง ค้านข้อเสนอ สนช.รื้อกฎหมายบัตรทอง แยกเงินเดือนบุคลากรสุขภาพ ระบุไม่ช่วยแก้ปัญหา มีแต่ข้อเสีย ซ้ำเติมโรงพยาบาล
นพ.ฑินกร โนรี สำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ (สวค.) เปิดเผยในเวทีอภิปรายหัวข้อ “ก้าวต่อไปด้านกำลังคน ในมิติการเงินการคลัง : การจัดการเงินเดือนบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขและประเด็นการเตรียมความพร้อมบุคลากร เพื่อรองรับการพัฒนาคุณภาพในอนาคต” ซึ่งอยู่ภายใต้การประชุมวิชาการระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2559 ตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้จัดทำข้อเสนอให้มีการยกเลิกมาตรา 46 วงเล็บ 2 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่ระบุว่า หน่วยบริการมีสิทธิรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขจากกองทุน (มาตรา 46) โดยค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขนั้นให้ครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการในส่วนเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากร (วงเล็บ 2) เพื่อให้แยกเงินเดือนบุคลากรด้านสาธารณสุขออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทนในระบบหลักประกันสุขภาพ (UCS) ของหน่วยบริการสังกัดสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปี 2559 พบว่าในส่วนของเงินเดือนและค่าจ้างข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ อยู่ที่ 67,401 ล้านบาท ในจำนวนนี้ประมาณการว่าจะมาจากระบบUCS 38,398 ล้านบาท หรือ 57% ขณะที่ลูกจ้างชั่วคราว บุคลากรที่จ้างด้วยเงินบำรุง อยู่ที่ 15,200 ล้านบาท ในจำนวนนี้มาจาก UCS 11,552 ล้านบาท หรือ 76%
ในส่วนของค่าตอบแทน แบ่งเป็น ค่าตอบแทนเงินเพิ่มเต็มขั้น ค่าเช่าบ้าน เงินสมทบประกันสังคม อยู่ที่ 75 ล้านบาท ในจำนวนนี้ประมาณการว่าจะมาจาก UCS 57 ล้านบาท หรือ 76% และค่าตอบแทนทุกประเภทที่จ่ายด้วยเงินบำรุง 26,995 ล้านบาท ในจำนวนนี้มาจาก UCS 10,600 ล้านบาท หรือ 39%
“รวมเงินเดือนและค่าจ้าง และค่าตอบแทน ปี 2559 ทั้งสิ้น 109,617 ล้านบาท ในจำนวนนี้ประมาณการกันว่าจะมาจากงบ สปสช. 60,607 ล้านบาท หรือประมาณ 55.3%” นพ.ฑินกร กล่าว
นพ.ฑินกร กล่าวอีกว่า หากจะแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ด้วยการตัดมาตรา46 วงเล็บ 2 ออกเลย ก็เท่ากับจะตัดเงินในส่วนที่ สปสช.จ่ายให้กับบุคลากรถึง 55.3% หรือ 60,607 ล้านบาท อย่างไรก็ตามคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูประบบสาธารณสุขด้านการคลังสุขภาพและระบบหลักประกันสุขภาพได้หารือกัน และสามารถแยกการดำเนินการออกเป็น 4 ทางเลือก ประกอบด้วย
1.ตัดทั้งหมดตามที่ สนช.เสนอ คือตัดเงินเดือนและค่าจ้าง และค่าตอบแทน
2.ตัดเฉพาะเงินเดือนและค่าจ้าง แต่ไม่ตัดค่าตอบแทน
3.ไม่ตัดเงินเดือนและค่าจ้าง แต่ตัดค่าตอบแทน
โดยทั้ง 3 ทางเลือกนี้ มีข้อดีคือหากตัดทั้งหมดจะไม่ผูกติดกับระบบประกันสุขภาพ แต่ก็ข้อด้อยคือไม่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ (คนไม่พอ เงินไม่พอ) และยิ่งจะทำให้เกิดปัญหามากขึ้น นอกจากนี้จะทำให้สถานพยาบาลมีความลำบากด้านการเงินมากขึ้น หากมีเงินไม่เพียงพออาจต้องลดจำนวนบุคลากรหรือเลิกจ้าง ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการบริการสุขภาพ
“ในกรณีที่ตัดทั้งหมดหรือยกเลิกมาตรา 46 (2) ตามข้อเสนอของ สนช.นั้น ไม่ใช่จะกระทบเพียงหน่วยบริการสังกัด สธ.เท่านั้น แต่ยังจะกระทบต่อหน่วยบริการเอกชน 241 แห่ง ที่ให้บริการผู้ป่วยบัตรทองด้วย เมื่อภาคเอกชนไม่ได้รับค่าจ้างบุคลากรก็อาจทำให้ตัดสินใจออกจากระบบได้ในอนาคต” นพ.ฑินกร กล่าว
สำหรับทางเลือกที่ 4 ไม่ตัดอะไรเลย คือไม่ตัดทั้งเงินเดือนและค่าจ้าง และไม่ตัดค่าตอบแทน คณะอนุกรรมการฯ เห็นว่าสามารถคงเดิมได้แต่จำเป็นต้องพัฒนาขึ้น โดยหากเลือกทางเลือกนี้ สปสช.จะต้องจัดทำงบประมาณขาขึ้นให้สะท้อนต้นทุนจริง ขณะที่การจัดสรรงบประมาณขาลงต้องปรับให้ชัดเจนขึ้น
“ไม่ว่ารัฐบาลจะเลือกทางเลือกใดก็ตาม ข้อเสนอที่ต้องทำก็คือ สธ.จำเป็นต้องปรับประสิทธิภาพการบริหารจัดการกำลังคนด้านสุขภาพ โดยต้องมีนโยบายการบังคับใช้กรอบอัตรากำลังคนอย่างมีประสิทธิภาพ ในภาพรวมต้องมีการเพิ่มจำนวนบุคลากรให้ได้ตามกรอบขั้นสูงปี 2562” นพ.ฑินกร กล่าว
นพ.ฑินกร กล่าวอีกว่า ในโรงพยาบาลที่ขาดก็ต้องเพิ่มบุคลากรให้ได้ตามกรอบ ส่วนโรงพยาบาลที่เกินต้องปรับลดให้เท่ากรอบด้วยมาตรการต่างๆ อาทิ ระงับการเพิ่มบุคลากรใหม่ ลดจำนวนลงด้วยการปรับเกลี่ยภายในจังหวัดหรือเขต นอกจากนี้ต้องมีการกำหนดเป้าหมายของการกระจายกำลังคน ทั้งระดับจังหวัดและเขตตามข้อเท็จจริง
- 6 views