รัฐบาลน้อมนำพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในการพัฒนาสมุนไพรให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ทำแผนแม่บทการพัฒนาสมุนไพรไทยฉบับแรกของประเทศพร้อมเปิดโครงการพัฒนาเมืองสมุนไพร (Herbal City) นำร่อง 4 จังหวัด เชียงราย สกลนคร ปราจีนบุรี สุราษฎร์ธานี ตั้งเป้าเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาค ASEAN และสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้น อย่างน้อย 1 เท่าตัว ภายใต้วิสัยทัศน์ “สมุนไพรไทยเพื่อความมั่นคงทางสุขภาพและความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย”
วันนี้ (26 ตุลาคม 2559) ที่โรงแรมเซนทราศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมมอบนโยบายแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ.2560 – 2564 และพิธีเปิดพัฒนาเมืองสมุนไพร (Herbal City)
พลเรือเอกณรงค์ ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลได้น้อมรำลึกถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในด้านการสาธารณสุขรวมถึงสมุนไพรไทย โดยทรงตระหนักถึงการส่งเสริมการใช้และการพัฒนาสมุนไพรให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสมุนไพรไทย ซึ่งในอดีตนั้นสมุนไพรไทยนับว่าเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตและสังคมไทย โดยภูมิปัญญาไทยเหล่านี้ได้รับการสั่งสม สืบทอด และพัฒนาต่อเนื่อง ยาวนาน เนื่องจากประเทศไทยเป็นเขตร้อนชื้น มีพันธุ์พืชไม่น้อยกว่า20,000 ชนิดซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นสมุนไพรกว่า1,800 ชนิด รวมไปถึงความพร้อมของปัจจัยขั้นพื้นฐานด้านอุตสาหกรรม และการขนส่งสินค้า มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวนมากที่ทำงานเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาสมุนไพร ซึ่งเป็นจุดแข็งและโอกาสในการแข่งขันด้านการค้าสมุนไพรในตลาดโลกได้เป็นอย่างดี
โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2558 นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาพืชสมุนไพรให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสมุนไพรไทย กระทรวงสาธารณสุขจึงร่วมกับ 8 กระทรวงหลักจัดทำแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560 – 2564 เพื่อใช้เป็นแผนการพัฒนาที่เป็นระบบอย่างยั่งยืนมีเป้าหมายให้ประเทศไทยส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรคุณภาพและผลิตภัณฑ์สมุนไพรชั้นนำของ ASEAN เพิ่มมูลค่าของวัตถุดิบสมุนไพรตลอดจนผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศขึ้นอย่างน้อย 1 เท่าตัว โดยขับเคลื่อนผ่านยุทธศาสตร์ 4 ยุทธศาสตร์ คือ
1.ส่งเสริมผลิตผลของสมุนไพรไทยที่มีศักยภาพตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ
2.พัฒนาอุตสาหกรรมและการตลาดสมุนไพรให้มีคุณภาพระดับสากล
3.ส่งเสริมการใช้สมุนไพรเพื่อการรักษาโรคและการสร้างเสริมสุขภาพ
4.สร้างความเข้มแข็งของการบริหารและนโยบายภาครัฐเพื่อการขับเคลื่อนสมุนไพรไทยอย่างยั่งยืน
โดยเฉพาะในยุทธศาสตร์ที่ 4 ได้ใช้กลไกประชารัฐ เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน โดยผ่านโครงการพัฒนาเมืองสมุนไพร ซึ่งเป็นภาพจำลอง (Model) ของแผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทยฯ ซึ่งถ่ายทอดนโยบายระดับชาติลงสู่การปฏิบัติในระดับจังหวัด และนำร่องในพื้นที่ 4 จังหวัดของประเทศ ครอบคลุม 4 ภูมิภาค ได้แก่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดสกลนคร จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดสุราษฎร์ธานี
- 861 views