กระทรวงสาธารณสุข เปิดศูนย์โรคหัวใจและหลอดเลือดครบวงจรสำเร็จเพิ่มอีก 1 โรงพยาบาลในเขตภาคใต้ตอนบน ที่ รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช ลดปัญหารอคอยและการเสียชีวิต ลดอัตราการส่งต่อผู้ป่วยที่มีปีละกว่า 1,000 คน พร้อม จัดบริการเชิงรุกค้นหากลุ่มเสี่ยงโรคหัวใจถึงชุมชน เข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็ว ตรวจสวนหัวใจและขยายหลอดเลือด ผ่าตัดหัวใจแบบเปิด เปลี่ยนลิ้นหัวใจและปิดรูรั่วผนังหัวใจสำเร็จแล้ว
วันนี้ (6 ตุลาคม 2559) นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานเปิดศูนย์โรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช ว่า จากสถานการณ์ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจในเขตบริการสุขภาพที่ 11 ที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช มีผู้ป่วยโรคหัวใจเฉลี่ยปีละ 5,000-6,000 คน มีผู้ป่วยที่ต้องรอการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่มีความพร้อม ปีละกว่า 1,000 คน ทำให้อัตราการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 1 ใน 3 ของภาคใต้ตอนกลาง
กระทรวงสาธารณสุข จึงได้พัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช ให้เป็นศูนย์รักษาโรคหัวใจแบบครบวงจร ทั้งการรักษาโดยการผ่าตัดและไม่ผ่าตัด สามารถให้บริการตรวจอัลตราซาวด์หัวใจ เดินสายพาน การติดตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมงมีห้องปฏิบัติการตรวจสวนหัวใจและหลอดเลือด ห้องผ่าตัดศัลยกรรมทรวงอก หออภิบาลผู้ป่วยโรคหัวใจ และการฟื้นฟูสมรรถภาพก่อนและหลังการผ่าตัด สามารถลดอัตราการส่งต่อผู้ป่วยได้เดือนละ 100 ราย
นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช ได้รับความร่วมมือจากศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลสุราษฏร์ธานี โรงพยาบาลตรัง และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการพัฒนาศักยภาพการตรวจวินิจฉัยและการผ่าตัด เริ่มดำเนินการเดือนมิถุนายน 2559 ปัจจุบันสามารถผ่าตัดที่เป็นผลสำเร็จ ในการทำทางเบี่ยงเส้นเลือดหัวใจ 8 คน เปลี่ยนลิ้นหัวใจและปิดรูรั่วผนังหัวใจ 12 คน ซึ่งผู้ป่วยทุกรายหลังผ่าตัดไม่มีภาวะแทรกซ้อน
นพ.ทรงเกียรติ เล็กตระกูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช กล่าวเพิ่มเติมว่า การให้บริการตรวจสวนหัวใจ เปิดให้บริการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2559 และผ่านการประเมินจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นศูนย์หัวใจระดับ 1 ที่ผ่าตัดหัวใจได้ ปัจจุบันมีผู้มารับบริการ ได้แก่ การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจเพื่อการวินิจฉัย/ผ่าตัดรวม 112 คน ขยายหลอดเลือดหัวใจ 32 คน และใส่เครื่องพยุงหัวใจ
นอกจากนี้ยังพัฒนาและสนับสนุนให้โรงพยาบาลแม่ข่ายในแต่และโซน ร่วมพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งสามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ และพัฒนาเครือข่ายให้ยาวาร์ฟารินในโรงพยาบาลชุมชน ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง ปลอดภัย และรอดชีวิตได้สูงขึ้น ปัจจุบันสามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือดฉับพลันในนครศรีธรรมราช จากร้อยละ 17-20 เหลือเพียงร้อยละ 9
ทั้งนี้ ยังได้จัดบริการเชิงรุกให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) คัดกรองกลุ่มเสี่ยงโรคหัวใจ ประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น รายการวิทยุ “หมออ้วนชวนคุย” แผ่นป้ายไวนิล แผ่นพับ ให้เกิดความตระหนักและสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้องและปลอดภัย เพื่อลดอัตราความพิการและอัตราการเสียชีวิตได้ ของประชาชนจังหวัดนครศรีธรรมราช และในเขตบริการสุขภาพที่ 11 ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พังงา และกระบี่
- 600 views