รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เผยมีผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงไม่ยอมกินยารักษาต่อเนื่องเพราะเข้าใจผิดคิดว่ากินยาทุกวันจะทำให้ไตวายเร็ว ตับแข็ง ชี้ผลดีการกินยารักษา 2 โรคนี้ต่อเนื่อง จะป้องกันการเกิดโรคไต โรคหัวใจได้ พร้อมทั้งเร่งสร้างความเข้าใจประชาชนเรื่องการทำงานหนักออกแรงว่าไม่ใช่การออกกำลังกาย ผลต่อสุขภาพต่างกัน หลังออกกำลังกายจะได้สารแห่งความสุขอารมณ์ดี ส่วนการทำงานออกแรงหนักจะได้ความเมื่อยล้า
นพ.ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากการตรวจเยี่ยมติดตามผลการดำเนินงานบูรณาการดูแลสุขภาพ 5 กลุ่มวัยในตำบลจัดการสุขภาพของ อสม.ในพื้นที่ 4 ภาค ได้รับรายงานจาก อสม.ซึ่งมีความใกล้ชิดกับประชาชน 2 เรื่องสำคัญที่ต้องเร่งสร้างความเข้าใจประชาชน
เรื่องแรกเกี่ยวกับพฤติกรรมการกินยาของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังที่พบมากที่สุดทั้งในเขตเมืองและชนบท โดยมีผู้ป่วยบางคนไม่กล้ากินยารักษาที่แพทย์สั่ง เพราะยามีหลายเม็ดต้องกินทุกวัน กลัวว่าหากกินไปนานๆ แล้วจะเป็นโรคไตวายเร็ว กลัวตับแข็ง อย่างเช่น บางพื้นที่ในจังหวัดนราธิวาส มีผู้ป่วยไม่ยอมกินยาต่อเนื่องในสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 70 บางคนหยุดยาเองเพราะเห็นว่าอาการปกติดีจะกินเมื่อเริ่มมีอาการผิดปกติเช่น รู้สึกมึนศีรษะ เป็นต้น พบมากในกลุ่มอายุ 40-60 ปี โดยมีเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นที่กินยาปฏิบัติตามการรักษาของแพทย์ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป
นพ.ประภาส กล่าวว่า จากรายงานข้อมูลของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ล่าสุดในปี 2559 ผู้ป่วยโรคเบาหวานขึ้นทะเบียนรักษาในสถานพยาบาลที่อยู่ในเขตสุขภาพทั้ง 12 เขตทั่วประเทศ ไม่รวม กทม. ทั้งหมดกว่า 2.5 ล้านคน และผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ขึ้นทะเบียนรักษาจำนวนกว่า 5 ล้านกว่าคน ทั้ง 2 โรคนี้ผู้ป่วยปฏิบัติตัวควบคุมอาการได้ดีประมาณร้อยละ 27 เท่านั้น
“จึงขอย้ำเตือนและสร้างความเข้าใจว่าทั้ง 2 โรคนี้ เป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด แต่สามารถควบคุมอาการให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ โดยผู้ป่วยต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด 3 เรื่องหลัก ได้แก่ การกินยาต่อเนื่องตามการรักษาของแพทย์ ออกกำลังกาย และควบคุมอาหาร ผลของการกินยาต่อเนื่อง จะป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนที่สำคัญโรคไตวาย โรคหัวใจได้ และในทางตรงกันข้าม หากไม่กินยา ผู้ป่วยจะไม่สามารถควบคุมอาการได้ และจะเกิดโรคแทรกซ้อนที่กล่าวมาได้เร็วขึ้น ส่งผลให้การดูแลยุ่งยากขึ้น” นพ.ประภาส กล่าว
นพ.ประภาส กล่าวต่อว่า เรื่องที่ 2 คือเรื่องการออกกำลังกาย ยังมีประชาชนทั้งที่ป่วยและไม่ป่วย โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานประเภทต้องใช้แรงงานหนัก ทำงานในสวนไร่นา เช่น เกษตรกร เข้าใจผิดว่าการทำงานหนัก เป็นการออกกำลังกายเพียงพอแล้ว ไม่ต้องหาเวลาออกเพิ่มเติมอีก ซึ่งข้อมูลที่ถูกต้องตามหลักวิชาการนั้น ขอเรียนว่า การทำงานหนักไม่จัดว่าเป็นการออกกำลังกาย เนื่องจากในขณะที่ทำงาน เป็นช่วงที่สมองทำงานหนักมีความเครียดไปด้วย มีผลต่อการหลั่งฮอร์โมนแห่งความเครียดออกมา เรียกว่า คอร์ติซอล (Cortisol) ไม่ส่งผลดีต่อร่างกาย ร่างกายมีความเหนื่อยล้าแทน
สำหรับการออกกำลังกายนั้น เป็นการทำกิจกรรมหลังจากเลิกทำงาน เลิกเรียน สมองจะอยู่ในช่วงพักผ่อน การออกกำลังกาย จะกระตุ้นให้สมองหลั่งฮอร์โมนที่มีชื่อว่าเอ็นโดรฟิน (Endorphine) ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความสุข ส่งผลดีทำให้รู้สึกสดชื่น มีอารมณ์ดี และนอนหลับสนิท ดังนั้นจึงพบว่าการออกกำลังกายจะช่วยให้มีอารมณ์ดี ลดความเครียดได้ จึงได้ให้ อสม.ทั่วประเทศเร่งให้ความรู้ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนทั้ง 2 เรื่องที่กล่าวมาโดยเร็ว และกระตุ้นให้ประชาชนตั้งแต่อายุ 7 ขวบขึ้นไปออกกำลังกายต่อเนื่อง อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละไม่ต่ำกว่า 30 นาที เพื่อทำให้สุขภาพแข็งแรง มีภูมิต้านทานโรคไม่ป่วยง่าย
- 2929 views