รถเมล์สายสุขภาพ รพ.ขุนหาญ 11 ปี ช่วยคนไข้ไม่ฉุกเฉินกลุ่มส่งต่อ รพ.ศรีษะเกษ เข้าถึงการรักษาเกือบ 100% แก้ปัญหาคนไข้ไม่ไปตามนัด อุปสรรคการเดินทางและค่าใช้จ่าย ส่งผลเกิดการประสานข้อมูลและวางระบบส่งต่อระหว่าง รพ. นัดเดินทางพร้อมกันทุกวันพุธ มีคนไข้ร่วมบริการรอบละ 30 คน เฉลี่ยปีละ 1,500 ราย แถมมีแนวโน้มคนไข้ใช้บริการเพิ่ม เหตุสะดวก รวดเร็ว ได้รับตรวจแน่นอน แถมประหยัดค่าเดินทาง จ่ายเพียงรอบละ 50 บาท เผยความยั่งยืนโครงการฯ เกิดจากการมีส่วนร่วมของชาวบ้านร่วมออกค่าใช้จ่าย พร้อมชี้คนไข้ตาต้อกระจกรับการผ่าตัดกว่า 1,600 ราย เป็นผลชัดเจนจากโครงการนี้
นางเพ็ญศรี นรินทร์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ งานอุบัติเหตุฉุกเฉิน รพ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของโครงการรถเมล์สายสุขภาพว่า เริ่มจากการทบทวนจำนวนผู้ป่วยส่งต่อ พบว่ามีคนไข้กลุ่มไม่ฉุกเฉินที่ต้องส่งต่อรักษาโรคเฉพาะทางที่ รพ.ศรีสะเกษ ไม่เดินทางไปรักษาจำนวนมาก มีอัตราสูงถึงร้อยละ 13.48 จากคนไข้ไม่ฉุกเฉินที่ถูกส่งต่อทั้งหมด คนไข้กลุ่มนี้ภายหลังจะมีอาการหนักเพิ่มขึ้น เมื่อกลับมาตรวจที่ รพ.ขุนหาญอีกครั้ง สาเหตุจากความไม่สะดวกในการเดินทาง ด้วย รพ.ขุนหาญและ รพ.ศรีสะเกษมีระยะทางห่างกันถึง 60 กิโลเมตร อีกทั้งคนไข้ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและยากจน บางคนไม่มีคนดูแล และไม่กล้าไปเอง จึงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าถึงการักษา
จากสถานการณ์ข้างต้นนี้คิดว่า ทำอย่างไรจึงจะช่วยคนไข้กลุ่มนี้ให้เข้าถึงการรักษาได้ จึงมีแนวคิดว่าหากนัดคนไข้เหล่านี้ในวันเดียวกันและจัดหารถรับส่งไปยัง รพ.ศรีสะเกษได้หรือไม่ จึงเป็นที่มาของโครงการรถเมล์สายสุขภาพ โดยได้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา โดยช่วงแรกขอใช้รถของ รพ.ขุนหาญไปรับส่งก่อน แต่เนื่องจากรถ รพ.มีเพียงแค่ 3 คันเท่านั้น ซึ่งในกรณีที่มีผู้ป่วยฉุกเฉินทำให้มีปัญหา ดังนั้นจึงได้จัดทำข้อมูลความคุ้มทุนของงบประมานในการจัดรถรับส่งคนไข้เพื่อของบจาก อบต. แต่ไม่ได้รับการตอบรับ จนกระทั่งปี 2549 พญ.รัชฎาพร รุญเจริญ ผอ.รพ.ขุนหาญ ได้พูดคุยกับ นายอมรเทพ สมหมาย อดีต สส.ศรีสะเกษ ซึ่งขณะนั้นมีงบ CEO จึงได้รับตอบรับ โดยได้รับงบดำเนินการจัดรถรับส่งคนไข้ตลอดทั้งปีจำนวน 2.6 แสนบาท
ต่อมางบ CEO ได้หมดลง และยังหางบไม่ได้ ในฐานะที่เป็นคนพาคนไข้เดินทางไป รพ.ศรีสะเกษ จึงพูดคุยกับคนไข้ว่างบจัดรถรับส่งคนไข้ได้หมดลงแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ถ้าเราจะช่วยกันออกเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อจ้างรถรับส่งกันเอง ปรากฎว่าคนไข้ต่างยินดี เพียงแค่ให้มีพยาบาลซึ่งชาวบ้านเรียกติดปากว่าคุณหมอพาไปก็ยินดีร่วมจ่ายได้ นับจากวันนั้นมาจนถึงวันนี้ค่าใช้จ่ายในการจัดรถรับส่งคนไข้จาก รพ.ขุนหาญ เพื่อรับการรักษายัง รพ.ศรีสะเกษ หรือที่เรียกว่า รถเมล์สายสุขภาพ จึงมาจากการร่วมจ่ายของคนไข้เองทั้งหมด โดยคิดค่าบริการไปกลับครั้งละ 50 บาท ซึ่งค่าจ้างเหมารถรับส่งอยู่ที่วันละ 2,800 บาท แต่เมื่อผู้ประกอบการทราบว่าเป็นการจ้างเหมาเพื่อรับส่งคนไข้จึงลดราคาให้เหลือเพียงวันละ 2,500 บาทเท่านั้น
นางเพ็ญศรี กล่าวว่า ในการนำคนไข้จาก รพ.ขุนหาญ รับการรักษาส่งต่อที่ รพ.ศรีสะเกษ โดยรถเมล์สายสุขภาพ จะนัดคนไข้ทุกวันพุธเวลา 7 โมงเช้า รถออกในเวลา 8 โมงเช้า เฉลี่ยเที่ยวละประมาณ 30 คน โดยก่อนหน้านี้พยาบาลจะประสานข้อมูลส่งต่อคนไข้กับแผนกต่างๆ ของ รพ.ศรีสะเกษไว้ก่อน ทั้งข้อมูลประวัติคนไข้ บัตรคิวรับการตรวจ เป็นต้น และจะทำการยืนยันคนไข้ไปตามนัดอีกครั้งในตอนเช้า ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับคนไข้ เพื่อที่จะได้ขึ้นรถเมล์สายสุขภาพและเดินทางกลับมายัง รพ.ขุนหาญพร้อมกัน แม้ว่าช่วงแรกยอมรับว่ามีปัญหาบ้างเล็กน้อย แต่ปัจจุบันนี้ทุกอย่างเป็นไปตามระบบที่วางไว้ ซึ่งคนไข้ที่ร่วมเดินทางไปมั่นใจว่าจะได้รับการตรวจรักษาแน่นอน ส่วนกรณีที่คนไข้มาไม่ทันตามนัด รวมถึงรถไม่เพียงพอต่อการนำส่งคนไข้ จะประสานเพื่อดูว่ามีรถตู้ของ รพ.พอนำส่งหรือไม่ ซึ่งกรณีคนไข้มาไม่ทันนั้นเกิดขึ้นน้อยมาก เพราะส่วนใหญ่จะรักษาเวลาตามนัดหมาย
“ก่อนถึงวันพุธเราจะมีหนังสือประสานไปยัง รพ.ศรีสะเกษก่อน ทั้งจำนวนคนไข้ แผนกที่คนไข้ต้องรับการตรวจ ซึ่ง รพ.ศรีสะเกษดูแลให้เป็นอย่างดี มีการจัดคิว จัดแฟ้มข้อมูลคนไข้ไว้ให้ เมื่อรถเมล์สายสุขภาพไปถึงคนไข้ก็จะเข้ารับการตรวจยังแผนกต่างๆ ที่ประสานไว้ โดยในส่วนคนไข้ที่ซับซ้อนที่ต้องทำการตรวจอัลตร้าซาวด์หรือเอ็กซเรย์ รพ.ศรีสะเกษจะทำให้คราวเดียว เพื่อไม่ให้คนไข้ต้องเดินทางกลับมาอีก ทำให้เกิดความสะดวกและรวดเร็ว”
หลังดำเนินโครงการรถเมล์สายสุขภาพ นางเพ็ญศรี กล่าวว่า ทำให้คนไข้เข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น ปัจจุบันคนไข้ที่ส่งต่อไปยัง รพ.ศรีสะเกษ มีการเข้าถึงเกือบ 100% ขณะที่จำนวนคนไข้ที่ไม่ไปตรวจตามนัดลดลงจนเหลือเกือบศูนย์ ทั้งยังส่งผลให้มีคนไข้กลุ่มไม่ฉุกเฉินซึ่งเคยเดินทางไปเองขอร่วมเดินทางไปกับรถเมล์สายสุขภาพเพิ่มขึ้น จากข้อมูลการส่งต่อคนไข้ไปยัง รพ.ศรีษะเกษ แต่ละปีจะมีประมาณ 4,000-5,000 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน 2,000 ราย ที่เหลือเป็นคนไข้ไม่ฉุกเฉินประมาณ 3,000 ราย ในจำนวนนี้เป็นคนไข้ที่เดินทางไปกับรถเมล์สายสุขภาพครึ่งหนึ่ง หรือประมาณปีละ 1,500 ราย แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ล่าสุดปี 2558 มีจำนวน 1,737 ราย เมื่อรวมคนไข้สะสมตั้งแต่ปี 2549 อยู่ที่ 16,345 ราย
ทั้งนี้ผลจากการดำเนินโครงการที่เห็นชัดเจนมากคือ การเข้าถึงการรักษาของคนไข้โรคตาเพราะหมอตา รพ.ศรีสะเกษมีน้อยมาก บางคนไปรอคิวเป็น 10 ครั้งก็ยังไม่ได้รับการตรวจ ทำให้คนไข้ไม่อยากไปรักษา แต่พอมีโครงการรถเมล์สายสุขภาพที่มีระบบการนัดที่ชัดเจนรองรับผู้ป่วยที่ถูกส่งไป ทำให้คนไข้โรคตาได้คิวการตรวจรอบละ 5 คน และยังได้รับการลอกต้อกระจกเฉลี่ย 20 รายต่อเดือนจนกลับมามองเห็นได้ ซึ่งคนไข้ต่างดีใจมาก ขณะเดียวกันยังนำมาสู่การจัดโครงการผ่าตัดตาต้อกระจกที่ รพ.ขุนหาญ ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งได้เริ่มในปี 2555 โดยเชิญหมอตาจาก รพ.ศรีสะเกษมาช่วยผ่าตัดต้อกระจกให้กับคนไข้เดือนละ 1 ครั้ง ใช้หอประชุม รพ.เป็นหอผู้ป่วย ทำให้คนไข้ตาต้อกระจกจำนวนมากในพื้นที่เข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น โดยมีคนไข้ตาต้อกระจกที่ได้รับการผ่าตัดแล้วกว่า 1,600 ราย นอกจากนี้ยังมีคนไข้มะเร็งที่ได้รับการบำบัดด้วยคีโมจนครบ คนไข้บางรายหายจากมะเร็งได้
ขณะเดียวกันกลุ่มคนไข้ที่ส่งต่อและต้องนอนรักษาที่ รพ.ศรีสะเกษยังได้รับการเยี่ยมติดตาม กลุ่มคนไข้พิการและคนไข้ระบบประกันสังคมที่มีปัญหาการเดินทางก็ได้รับการดูแล รวมถึงการับผู้ป่วยที่ไม่มีญาติกลับอำเภอขุนหาญ ซึ่งเป็นผลพวงจากโครงการรถเมล์สายสุขภาพ
“รถเมล์สายสุขภาพที่สามารถดำเนินโครงการมาจนถึงวันนี้ เกิดจากการมีส่วนร่วมของชาวบ้านโดยแท้จริง ซึ่งชาวบ้านเป็นผู้ร่วมจ่ายทั้งหมด และจากการที่พยาบาลเป็นผู้นำส่งคนไข้ ทำให้มีการพูดคุยกับคนไข้จนเกิดความใกล้ชิด สามารถดึงให้มีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพ เกิดความตระหนักต่อการส่งเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันมากขึ้น นำไปสู่ความยั่งยืนของระบบสุขภาพได้” นางเพ็ญศรี กล่าวและว่า ส่วนในแง่ของค่าเดินทางสามารถประหยัดได้ปีละกว่า 1 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับการที่คนไข้เหมารถเพื่อเดินทางไป รพ.ศรีสะเกษเอง รวมถึงการเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทาง
ส่วนการต่อยอดจากโครงการนี้ นางเพ็ญศรี กล่าวว่า นอกจากเป็นแนวคิดที่นำไปสู่การวางระบบการส่งต่อคนไข้ระดับประเทศแล้ว ในส่วนของ จ.ศรีสะเกษเอง ยังอยู่ระหว่างการต่อยอดการจัดระบบการส่งต่อระดับจังหวัด เนื่องจาก รพ.ศรีสะเกษ สามารถดูแลคนไข้ซับซ้อนได้ในระดับหนึ่ง แต่ในกรณีที่เป็นโรคซับซ้อนมากต้องส่งคนไข้ไปรับการรักษาที่ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี ที่เป็น รพ.แม่ข่าย หรือในกรณีที่เป็นคนไข้มะเร็งต้องส่งไปรับการรักษายัง รพ.มะเร็งอุบลราชธานี รวมถึงคนไข้จิตเวชที่ต้องส่งไปรับการรักษาที่ รพ.พระศรีมหาโพธิ์ จ.อุบลราชธานี ซึ่งตรงนี้ทางเทศบาลและ อบต.อยากมีส่วนร่วมในการนำส่งคนไข้ให้เข้าถึงการรักษา ซึ่งอยู่ระหว่างการวางระบบและประสานยัง รพ.แม่ข่ายที่รับส่งต่อ ในการให้บริการในปี 2560 โดยใช้รูปแบบเดียวกับโครงการรถเมล์สายสุขภาพนี้
- 313 views