อธิบดีกรมควบคุมโรค สั่งการยกระดับศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) โรคไข้ซิกา ยกระดับการปฎิบัติการจากระดับ 1 เป็นระดับ 2 เฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคไข้ซิกา เพื่อดำเนินมาตรการและสนับสนุนหน่วยงานในพื้นที่อย่างเต็มที่
นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค (EOC) เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2559 ซึ่งมีผู้บริหารจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ทั้ง 12 แห่งทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุมด้วย โดยได้สั่งการให้กรมควบคุมโรค และ สคร. ทุกแห่ง ยกระดับการปฎิบัติการของศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค (EOC) เพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการดำเนินมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกา พร้อมสนับสนุนหน่วยงานในพื้นที่อย่างเต็มที่ รวมทั้งสนับสนุนข้อมูลสถานการณ์โรคจากยุงลายให้กับคณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัดได้รับทราบ
จากนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขดำเนินมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกาอย่างเต็มที่และสูงสุดต่อเนื่อง เพื่อให้การดำเนินมาตรการในพื้นที่มีความเข้มข้น ประกอบกับมีรายงานผู้ป่วยทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเป็นช่วงที่มีฝนตกหนัก ค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายเพิ่มสูงในหลายพื้นที่ มีความเสี่ยงต่อการเพิ่มจำนวนของยุงลาย กรมควบคุมโรค จึงได้ยกระดับศูนย์ปฎิบัติการภาวะฉุกเฉิน(EOC) ของกรมควบคุมโรคและหน่วยงานในสังกัดทุกแห่ง (สคร. 12 แห่งทั่วประเทศ) โดยให้ยกระดับการปฎิบัติการจากระดับ 1 เป็นระดับ 2 ซึ่งจะมีการแต่งตั้งผู้บัญชาการเหตุการณ์ และปฎิบัติงานตามโครงสร้างของระบบบัญชาการเหตุการณ์ดังกล่าว ปฎิบัติการฉุกเฉินตามแผนเผชิญเหตุ (Incident Action Plan : IAP) และเพิ่มกำลังคนเข้ามาในระบบบัญชาการเหตุการณ์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของกำลังคนของแต่ละหน่วยงาน รวมถึงเพิ่มความเข้มข้นในมาตรการต่างๆ ทั้งการป้องกัน ตรวจจับเร็ว วินิจฉัยเร็ว การเฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยง การรักษา/แยกผู้ป่วย รวมถึงจัดระบบปฎิบัติการภาวะฉุกเฉินเพื่อค้นหาผู้สัมผัสให้ได้ทุกรายโดยเร็ว ซึ่งห้องปฎิบัติการ (Lab) ของประเทศไทยสามารถตรวจหาเชื้อไวรัสซิกาได้หลายแห่ง
นอกจากนี้ กรมควบคุมโรค ได้มอบ สคร.ทุกแห่งสนับสนุนหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกาอย่างเต็มที่
นพ.อำนวย กล่าวต่อว่า โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝนนี้ ที่มีฝนตกบ่อยครั้ง ทำให้เกิดน้ำขังตามภาชนะและแหล่งน้ำต่างๆ จนกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย และทำให้ยุงมีจำนวนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งช่วงหน้าฝนนี้ก็เป็นฤดูระบาดสูงสุดของโรคจากยุงลาย โดยเฉพาะ 3 โรคสำคัญ คือ ไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ซี่งวิธีที่ดีที่สุดในการลดจำนวนผู้ป่วยลง คือการลดจำนวนของยุงลายในธรรมชาติให้น้อยลง ประกอบการการป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด และดำเนินมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ได้แก่
1.เก็บบ้านให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง
2.เก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
3.เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันยุงลายไปวางไข่เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา รวมทั้งการกำจัดและควบคุมยุงตัวแก่ เช่น การพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย และการป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด เช่น ทายากันยุง นอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวด กำจัดยุงโดยใช้ไม้ช็อตไฟฟ้า จุดสมุนไพรหรือยาจุดไล่ยุง หรือใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ส่วนใหญ่อาการของโรคไม่รุนแรง และส่วนใหญ่ป่วยแล้วหายได้เอง อาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ ซึ่งจะมีปัญหาเฉพาะกับหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งมีหลักฐานทางระบาดวิทยาที่บ่งชี้ว่าอาจสัมพันธ์กับอาการศีรษะเล็กในทารกแรกเกิด อาการเหล่านี้ทุเลาลงได้เองภายในเวลา 2-7 วัน หากอาการไม่ดีขึ้นขอให้ไปพบแพทย์โดยเร็ว ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
- 102 views