กรมควบคุมโรค เดินหน้าพัฒนารูปแบบการลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ใน 3 โครงการ 45 หน่วยงาน 15 จังหวัดนำร่อง เตรียมขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆ
เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2559 นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานมอบใบประกาศเกียรติคุณให้แก่หน่วยงานจังหวัดนำร่องที่ร่วมดำเนินงานใน 3 โครงการสำคัญที่เกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ภายในงาน NCD Forum 2016 หัวข้อ “ร่วมกันดูแลไต เชื่อมโยงไทยดูแลโรคเรื้อรัง” ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร
นพ.อำนวย กล่าวว่า สถานการณ์โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จากข้อมูลล่าสุดพบว่าโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก ถึงร้อยละ 63 และทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนในประเทศไทยพบกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตถึงร้อยละ 73 ของการเสียชีวิตของประชากรไทยทั้งหมด ไทยมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังร้อยละ 17.6 ของประชากร หรือประมาณ 8 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย 2 แสนคน และมีค่าใช่จ่ายโดยเฉลี่ยในการบำบัดทดแทนไตประมาณ 240,000 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งรัฐต้องใช้งบประมาณในการล้างไตสูงกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี
สำหรับสถานการณ์โรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นๆ ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจ พบว่าอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปี พ.ศ. 2558 พบอัตราการเสียชีวิตเท่ากับ 28.92 ต่อประชากรแสนคน หรือเท่ากับ 18,922 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 2 คน
ส่วนโรคหัวใจขาดเลือด ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2550–2556 และลดลงในปี พ.ศ. 2557 ซึ่งมีผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจขาดเลือดสูงถึง 264,820 คน
และอีกโรคที่สำคัญ คือ โรคหลอดเลือดสมอง โดยพบว่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2545-2557 โรคหลอดเลือดสมองมีอัตราเสียชีวิตสูงที่สุด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2557 มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมองถึง 25,114 คน คิดโดยเฉลี่ยคือในทุกๆ 1 ชั่วโมง จะมีคนเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมองประมาณ 3 คน
นพ.อำนวย กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์และความรุนแรงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังดังกล่าว ทำให้เกิดความสูญเสียด้านทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นวัยทำงาน และเกิดความสูญเสียด้านเศรษฐกิจของประเทศ กรมควบคุมโรคจึงได้ดำเนินพัฒนารูปแบบแนวทางดำเนินงานเพื่อลดโรคไตเรื้อรัง (CKD) นำร่องใน 15 จังหวัดที่มีอัตราภาวะแทรกซ้อนทางไตสะสมในผู้ป่วยเบาหวานสูง 15 จังหวัดแรก ได้แก่ แพร่ เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุดรธานี สกลนคร บึงกาฬ มุกดาหาร ยโสธร ตราด อ่างทอง สมุทรสงคราม กระบี่ ภูเก็ต พัทลุง และตรัง
โครงการพัฒนารูปแบบเพื่อลดโรคหัวใจและหลอดเลือด (CVD) และโครงการองค์กรหัวใจดี นำร่องใน 15 จังหวัดที่มีอัตราตายด้วยโรคหัวใจขาดเลือดสูง 15 จังหวัดแรก ได้แก่ อ่างทอง สระบุรี พระนครศรีอยุธยา นครนายก ลพบุรี นครสวรรค์ สิงห์บุรี ราชบุรี จันทบุรี แพร่ กำแพงเพชร อุทัยธานี พังงา น่าน และชุมพร
ซึ่งการดำเนินงานในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก สำนักงานป้องกันควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาล เทศบาลเมือง เทศบาลนคร เทศบาลตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล รวม 45 หน่วยงาน มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานลดโรคไตเรื้อรัง ลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และพัฒนาศักยภาพบุคลกรสาธารณสุขให้เกิดองค์ความรู้ รวมถึงสนับสนุนเครื่องมือในการดำเนินงานดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล
- 129 views