เครือข่ายหลักประกันสุขภาพและศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนภาคใต้ 7 จังหวัดแถลงจุดยืนไม่เห็นด้วยร่วมจ่าย ณ จุดบริการ แต่พร้อมร่วมจ่ายก่อนรับบริการผ่านระบบภาษี เสนอการปฏิรูปบัตรทองทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมให้ความเห็น
เมื่อวันที่ 5 ก.ย.2559 เครือข่ายหลักประกันสุขภาพประชาชนภาคใต้ เครือข่ายศูนย์ประสานงานภาคประชาชน 7 จังหวัดใต้ล่าง จึงได้ประชุมหารือสถานการณ์ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่อาจเกิดขึ้นหลังรัฐธรรมนูญใหม่และการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพ
นางสาวจุฑา สังขชาติ ผู้ประสานเครือข่ายหลักประกันสุขภาพประชาชนภาคใต้ กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลก รวมถึงนานาประเทศอย่างกว้างขวางเป็นเวลากว่า 15 ปี ก็อาจต้องทบทวนประเมินว่าควรปรับปรุงอย่างไร และไม่ควรเป็นการแก้ไขจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะข้อเสนอจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่เร่งรัดแนวทางการร่วมจ่ายตลอดมา จึงขอเสนอให้มีการรับฟังและระดมความคิดเห็นทุกภาคส่วนต่อการปฏิรูปหลักประกันสุขภาพอย่างเป็นระบบ
นางกัลยา เอี่ยวสกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายหลักประกันสุขภาพจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ภาคประชาชนก็มีความกังวลต่อคำว่า รพ.รัฐขาดทุน และได้เสนอทางออกมาตลอด ทั้งประเด็นการจัดเก็บภาษีท้องถิ่น ภาษีกิจกรรมธุรกิจอุตสาหกรรมที่ทำร้ายสุขภาพ โดยหากมีการควบรวมองค์กรท้องถิ่นและการกระจายอำนาจให้มีการบริหารจัดการกองทุนสุขภาพในพื้นที่ร่วมกับหน่วยบริการ ก็จะเป็นแนวทางปฏิรูประบบสุขภาพให้ตรงปัญหาพื้นที่มากขึ้นด้วย โดยเฉพาะปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนใต้
นายพิทักษ์ บำรุงชาติ เครือข่ายคนพิการ กล่าวว่า สถานการณ์ในระบบหลักประกันสุขภาพขณะนี้ ภาคประชาชนมีความกังวลว่าอาจเกิดการแบ่งแยกประชาชนทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพกลายเป็นระบบสงเคราะห์ โดยมีคำว่าผู้ยากไร้ในมาตรา 47 ในรัฐธรรมนูญใหม่ รวมถึงการร่วมจ่าย ณ จุดบริการ ที่จะทำให้กลับสู่ภาวะครอบครัวล้มละลายได้
ด้านนางชโลม เกตุจินดา ที่ปรึกษาเครือข่ายฯ กล่าวว่า เครือข่ายหลักประกันสุขภาพภาคใต้มีจุดยืนร่วมกันในการไม่ร่วมจ่าย ณ จุดบริการ แต่พร้อมร่วมจ่ายก่อนรับบริการผ่านระบบภาษี รวมถึงข้อห่วงใยความอิสระของเลขาธิการ สปสช.คนใหม่ที่จะต้องทำหน้าที่จัดซื้อบริการสุขภาพ ให้ได้มาตรฐาน สร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ และยืนยันว่าระบบหลักประกันสุขภาพเป็นนโยบายรัฐที่จัดเป็นสวัสดิการให้ประชาชนอย่างทั่วถึงและมั่นคง ไม่ซ้ำเติมให้กลายเป็นคนยากไร้ล้มละลาย
- 7 views