แกนนำชมรม จพ.เภสัชกรรม ปัตตานี โอดค่าตอบแทน สธ.ฉบับ 10 พื้นที่เสี่ยงภัยชายแดนใต้ไม่รวมสหวิชาชีพ ระบุจำกัดเฉพาะ 4 วิชาชีพ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลเหมือนเดิม ทั้งที่ทำงานพื้นที่เสี่ยงภัยเหมือนกัน วอนขอความเป็นธรรม พร้อมขอ สธ.แก้ปัญหาการเลื่อนย้ายตำแหน่งจาก จพ.สธ. เป็น นวก.สธ. และขอเดินหน้ากำหนดกรอบตำแหน่ง นวก.สธ.ด้านเภสัชกรรม เพื่อให้มีความก้าวหน้าในสายวิชาชีพได้
นายรุสลัน สือแม เจ้าพนักงาน (จพ.) เภสัชกรรมชำนาญงาน โรงพยาบาลแม่ลาน จังหวัดปัตตานี ในฐานะแกนนำชมรมเจ้าพนักงานเภสัชกรรมปัตตานี เปิดเผยว่า ค่าตอบแทนบุคลากรวิชาชีพในกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 10 ที่ สธ 0201042/ ว 404 ลงวันที่ 14 พ.ค.59 เท่าที่ดูรายละเอียดในส่วนของค่าตอบแทนเจ้าพนักงานเภสัชกรรมและสหวิชาชีพอื่นๆในจังหวัดชายแดนใต้ยังคงเหลื่อมล้ำเหมือนเดิม โดยกระทรวงสาธารณสุขยังคงกำหนดการจ่ายค่าตอบแทนให้เฉพาะ 4 วิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกรรม และพยาบาล เท่านั้น และมีความเหลื่อมล้ำสูงมาก ขณะนี้ทราบว่ามีการตั้งคณะทำงาน ฉ.10 โดยมีตัวแทนของ รพ.สต.เข้าร่วมเป็นคณะทำงาน และเกรงว่าจะมีหลักเกณฑ์ที่ออกมาเพิ่มเติมในระดับปฐมภูมิเท่านั้น ทำให้ไม่ครอบคลุมทุกวิชาชีพ
ที่ผ่านมาได้พยายามเรียกร้องขอความเป็นธรรม เช่นวันที่ 9 สิงหาคม ได้ยื่นหนังสือที่ ศอ.บต ร่วมกับชมรม ผอ.รพ.สต.ชายแดนใต้ โดยขอให้มีการจ่ายค่าตอบแทนให้กับทุกวิชาชีพที่ทำงานในพื้นที่ชายแดนใต้เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ เนื่องจากเป็นการตอบแทนการทำงานให้กับบุคลากรในประเด็นของพื้นที่เสี่ยงภัย ไม่ว่าวิชาชีพใดต่างมีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน แต่กลับไม่ได้รับการตอบรับจากผู้บริหารในส่วนของสหวิชาชีพ ที่นอกเหนือจากปฐมภูมิ เช่น จพ.เภสัช จพ.ทันตสาธารณสุข จพ.วิทยาศาสตร์การแพทย์ นักเทคนิคการแพทย์ แพทย์แผนไทย รังสีการแพทย์ กายภาพบำบัด เวชสถิติ ฯลฯ จึงอยากให้พิจารณาความเป็นธรรมในเรื่องนี้ พร้อมกันนี้ขอให้มีตัวแทนของสหวิชาชีพเข้าไปร่วมพิจารณาหลักเกณฑ์เพิ่มเติมด้วย
นายรุสลัน กล่าวว่า นอกจากประเด็นค่าตอบแทนพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ว ยังมีประเด็นที่สอง คือ ตามหนังสือที่สธ 0201042/ ว261 ซึ่งเป็นหนังสือคำสั่งในการมอบหมายให้เจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติหน้าที่ซึ่งมีวุฒิสาธารณสุขต่ำกว่าปริญญาตรี กระทรวงสาธารณสุข ให้สามารถปฏิบัติงานในตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข (นวก.สธ.) ได้แต่ที่ผ่านมาในส่วน จพ.เภสัชกรรม และ จพ.ทันตสาธารณสุข ฯลฯ ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากผู้บริหารอ้างว่ารอมติระดับจังหวัด ทั้งๆ ที่สามารถดำเนินการตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขได้ ซึ่งการมอบหมายดังกล่าว จะส่งผลต่อการรับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นในอัตราปริญญาตรีเท่านั้น เนื่องจากเจ้าพนักงานสาธารณสุขไม่สามารถก้าวหน้าได้แม้ได้เรียนต่อและจบระดับปริญญาตรีแล้วก็ตาม มีเพียงสายงานนักวิชาการสาธารณสุขเท่านั้นที่สาย จพ.เภสัชกรรม และ จพ.ทันตสาธารณสุข สามารถเติบโตและก้าวหน้าได้ โดยภาระการทำงานในปัจจุบันเกินกรอบภาระหน้าที่ของเจ้าพนักงานเภสัชกรรมอยู่แล้ว หากสามารถมอบหมายให้ปฏิบัติงานหน้าที่ตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข (นวก.สธ.) ได้ โดยยังทำภาระงานในฝ่ายเภสัชกรรมเช่นเดิม (เพื่อไม่ให้เสียอัตรากำลัง) แต่เพิ่มงานในส่วนวิชาการ การวิเคราะห์ การวิจัย และงานแผน ที่เป็นไปตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง นวก.สธ.ให้มากขึ้น
ดังนั้นจึงอยากขอความเป็นธรรมตรงนี้ โดยขอให้ผู้บริหารคำสั่งในการมอบหมายให้เจ้าพนักงานสาย จพ.เภสัชกรรม จพ.ทันตสาธารณสุข และอื่นๆ ที่มีวุฒิปริญญาตรี ให้สามารถปฏิบัติงานหน้าที่ตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข (นวก.สธ.) ได้ ตามหนังสือของกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้ได้
ประเด็นสุดท้าย คือขอให้เจ้าพนักงาน สายเจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข และเจ้าพนักงานเภสัชกรรมมีความก้าวหน้าและเติบโตในสายงานที่ตนเองทำอยู่ได้ ไม่จำกัดแค่นักวิชาการสาธารณสุขเท่านั้น แต่อยากให้มีการกำหนดตำแหน่งเฉพาะ เช่น นักวิชาการสาธารณสุข (ด้านทันตสาธารณสุข) นักวิชาการสาธารณสุข (ด้านเภสัชกรรม) โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามให้มีการจัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่งดังกล่าวรองรับไว้ด้วย ซึ่งจะสอดคล้องกับโครงสร้าง รพ.สต.ใหม่ ที่มีกรอบของนักวิชาการสาธารณสุข (ด้านทันตสาธารณสุข) นักวิชาการสาธารณสุข (ด้านเภสัชกรรม) ไว้แล้ว จึงขอให้กระทรวงเร่งรัดและบรรจุแผนเหล่านี้ในการดำเนินงานไว้ด้วย รวมทั้งขยายตำแหน่ง และเปิดกรอบตำแหน่งนี้ในโรงพยาบาลชุมชนด้วย เพื่อให้งานมีประสิทธิภาพ มีระบบบริการที่ดี เจ้าหน้าที่มีขวัญกลังใจ และมีความสุขตาม motto กระทรวงต่อไป
- 37 views