อธิบดีกรมการแพทย์ เผย ปวดหลังเป็นอาการแสดงจากโรคหลายๆ ชนิด ประมาณร้อยละ 80 ของประชากรจะปวดหลังอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ซึ่งอาจเป็นได้ตั้งแต่โรคที่ไม่อันตรายจนถึงโรคที่รุนแรงมาก แนะออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ทานยาแก้ปวดเท่าที่จำเป็นเพราะอาจทำให้เกิดโรคกระเพาะ หลีกเลี่ยงการยกของหนักเกินกำลัง หากมีอาการผิดปกติควรปรึกษาแพทย์
นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปวดหลังเป็นอาการที่พบบ่อยส่วนใหญ่มักเกิดจากการทำงานและหายได้เองเมื่อหยุดพัก บีบนวดหรือปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน การปวดหลังเกิดจากหลายอย่างและมีอาการแสดงแตกต่างกัน ดังนี้
กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นอักเสบ จากการใช้กล้ามเนื้อส่วนนั้นนานซ้ำๆ เช่น นั่งในท่าเดิมนาน ก้มเงยบ่อยๆ ทำงานหรือเล่นกีฬาที่ต้องเอี่ยวตัวซ้ำๆ อาการปวดจะเกิดขึ้นขณะที่มีการเคลื่อนไหวใช้กล้ามเนื้อมัดนั้น และจะดีขึ้นเมื่อได้พัก ข้อต่ออักเสบ จากการใช้ข้อต่อซ้ำๆ เช่น ก้มเงย บิดตัวไปมา อาการปวดจะเกิดหลังจากได้พักแล้วเริ่มเคลื่อนไหวข้อต่อนั้น พอเคลื่อนไหวสักครู่จะปวดน้อยลง
หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท จากการแบกหรือยกของหนักผิดท่า อาการปวดหลังจะเกิดขึ้นทันทีขณะที่ก้มยกของ ต่อมาจะเริ่มปวดร้าวไปที่ขา ปวดมากขึ้นเมื่อเดินและดีขึ้นเมื่อได้นอนพัก ถ้าเส้นประสาทถูกกดทับหรืออักเสบนานๆ อาจทำให้กล้ามเนื้อขาอ่อนแรงหรือชากระดูกสันหลังเสื่อม เมื่ออายุมากขึ้นข้อต่อกระดูกเสื่อม หมอนรองกระดูกเสื่อมทรุดลงทำให้กระดูกผิดรูปหรือเคลื่อนตัวทำงานผิดปกติ อาจจะกดเส้นประสาททำให้ปวดหลังร้าวไปขาได้ มักมีอาการปวดมากขึ้นถ้าต้องเดินไกลๆ เวลาเดินก้มตัวเล็กน้อยอาจช่วยให้ปวดน้อยลง
เนื้องอกที่กระดูกสันหลัง เนื้องอกอาจกินกระดูกสันหลังทำให้ปวดกระดูก หรืออาจกดทับเส้นประสาททำให้ปวดร้าวไปที่ขา ขาชา หรืออ่อนแรง มักมีอาการขณะนอน เมื่อยืนและเดินจะดีขึ้น ติดเชื้อที่กระดูกสันหลัง จะทำให้มีอาการปวดหลังและอาจปวดร้าวไปที่ขาหรือขาอ่อนแรง กระดูกสันหลังอาจโก่งงอ ถ้าเคาะกระดูกจะรู้สึกเจ็บ
การปวดหลังส่วนใหญ่มักเกิดจากกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ข้ออักเสบ ข้อต่อ หมอนรองกระดูก ตัวกระดูก หรือเส้นประสาทมีความผิดปกติ แต่ถ้าปวดหลังร่วมกับอาการชาบริเวณเท้า นิ้วเท้าอ่อนแรงกระดกไม่ขึ้น มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดหลังมานาน น้ำหนักลด อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปัสสาวะขุ่นหรือมีเม็ดกรวด เม็ดทรายออกมาทางปัสสาวะ ปัสสาวะมีสีคล้ายน้ำล้างเนื้อ ปวดหลังแล้วมีอาการผิดรูปร่าง กระดูกสันหลังโก่งงอ อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนอันตราย ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาที่ถูกต้องต่อไป
อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเสริมว่า หากนั่งทำงานวันละ 8 ชั่วโมงติดต่อกันหรือเดินทั้งวันแล้วเกิดอาการปวดหลังคงไม่ใช่เรื่องแปลก ควรหาโอกาสปรับเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ ทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อบำรุงกระดูกสันหลังให้แข็งแรง ออกกำลังกายยืดเส้นยืดสายให้ถูกวิธี สำหรับผู้สูงอายุควรออกกำลังกายช้าๆ โดยไม่กระทบกระเทือนข้อต่อต่างๆ เช่น กายบริหาร รำมวยจีน ว่ายน้ำหลีกเลี่ยงการก้มยกของหนัก การเคลื่อนย้ายของควรใช้วิธีการดันดีกว่าดึง จะช่วยป้องกันและบรรเทาจากอาการปวดหลังได้
- 790 views