อย่างที่ได้ให้ภาพไว้ใน “ทำความรู้จักแรงงานข้ามชาติในไทย พลเมืองชั้น 2 – สุขภาพชั้นล่างสุด (ตอนที่ 1)” ว่ายังมีผู้ที่ตกสำรวจจาก “หลักประกันสุขภาพ” อีกไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน ซึ่งเขาเหล่านั้นแฝงตัวอยู่ในประเทศไทยอย่างกลมกลืนเป็นเนื้อเดียว
มองในมุมแรงงานข้ามชาติ – เขาเหล่านั้นอยู่อย่างทุกข์ยาก แม้แต่สิทธิรักษาพยาบาลซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์พึงได้รับก็กลับถูกปฏิเสธ
มองในมุมความมั่นคงแห่งรัฐ – หากไม่รีบแก้ปัญหาหรือจัดวางระบบเพื่อนำคนเหล่านี้เข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพ แน่นอนว่าบุคลากรทางการแพทย์รวมทั้งประเทศไทยเอง จะต้องแบกรับทั้งภาระงาน ภาระงบประมาณ และความเสี่ยงอื่นๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะการระบาดของโรค
อย่างไรก็ดี สำหรับใน “ตอนที่ 2” นี้ จะเริ่มต้นที่ # นโยบายกระทรวงสาธารณสุขต่อการให้บริการแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล เมื่อเริ่มผ่อนผันให้มีการจ้างแรงงานข้ามชาติที่ลักลอบเข้าเมืองตั้งแต่ปี 2539 นั้น กล่าวได้ว่ากระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ไม่มีนโยบายเฉพาะในการให้บริการและรักษาพยาบาลประชากรที่ไร้สิทธิทางสุขภาพ การดำเนินการเรื่องนี้ของ สธ.ทำตามความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายจากมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติเท่านั้น งานหลักคือการตรวจร่างกายก่อนออกใบอนุญาตเพียงอย่างเดียว
พ.ศ.2541 เริ่มบังคับให้แรงงานข้ามชาติทุกคนซื้อบัตรประกันสุขภาพในราคา 500 บาท และปรับราคาขึ้นเรื่อยๆ จนเป็น 1,300 บาทในปี 2547 และเพิ่มมาเป็น 2,200 บาท และล่าสุด วันที่ 27 มิ.ย.57 ก็ปรับมาเป็น 1,600 บาท
อย่างไรก็ตาม สธ.ได้วางมาตรการสำหรับประชากรข้ามชาติใน 2 ด้าน คือ จัดระบบเฝ้าระวังโรคติดต่อในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ และจัดบริการวางแผนครอบครัว ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และส่งเสริมด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ในจังหวัดชายแดนและจังหวัดชั้นในที่มีแรงงานข้ามชาติอาศัยอยู่ชัดเจน การให้บริการต่างๆ นี้ให้รวมถึงสมาชิกในครอบครัวของแรงงานต่างด้าวด้วย โดยครอบคลุมทั้งผู้ที่มีและไม่มีใบอนุญาตทำงาน
# พนักงานสาธารณสุขต่างด้าว อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว : บุคลากรทางด้านสาธารณสุขที่ถูกมองข้าม
เกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา แม้ สธ.จะไม่มีนโยบายหรือยุทธศาสตร์เฉพาะต่อกลุ่มแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล แต่ได้พัฒนาระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับประชากรกลุ่มนี้เป็นลำดับ
หนึ่งในนวัตกรรมของการบริการคือการพัฒนาพนักงานสาธารณสุขต่างด้าว (พสต.) และอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานต่างด้าว(อสต.) ทำให้การบริการด้านสุขภาพแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคลดีขึ้นทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ เนื่องจาก พสต.และอสต.ในฐานะผู้ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ในสถานพยาบาล ได้ช่วยเผยแพร่ความรู้และเฝ้าระวังในเรื่องโรคติดต่อในชุมชนของแรงงานข้ามชาติ
ปัจจุบันสถานพยาบาลในพื้นที่ที่มีแรงงานข้ามชาติอยู่หนาแน่นจะจ้าง พสต.ด้วยเงินจากระบบประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวในแต่ละปี และอบรมส่งเสริมการทำงานของ อสต.ในชุมชนและสถานประกอบการ โดยใช้งบส่งเสริมป้องกันจากประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวเช่นกัน แต่บุคลากรในรูปแบบ พสต.และอสต.ยังเป็นเพียงทางเลือกของแต่ละสถานพยาบาลที่จะจ้างหรือพัฒนาคนเหล่านี้ในพื้นที่ โดยเจ้าหน้าที่ระดับนโยบายของกระทรวงไม่ได้คัดค้านหรือสนับสนุน
ณ วันนี้ สถานพยาบาลซึ่งเดิมใช้เงินจากงบประมาณในประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวจ้าง พสต.อาจต้องประสบปัญหาในเรื่องงบการจ้าง เพราะหลังจากนี้ไปแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่จะเข้าสู่ระบบประกันสังคม ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องการส่งเสริมให้จ้าง พสต.ทั้งยังไม่มีงบสำหรับส่งเสริมป้องกันในสถานพยาบาลที่ดูแลแรงงานข้ามชาติ ซึ่งแต่เดิมได้จากประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวนั่นเอง
# ปัญหาแรงงานข้ามชาติในระบบประกันสังคม
ดังกล่าวแล้วว่าแรงงานข้ามชาติ “กลุ่มพิสูจน์สัญชาติ” และ “กลุ่มนำเข้า” ต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคม ตัวเลขรวมเมื่อปลายปี 2555 มีอยู่ประมาณ 8 แสนคน แต่ข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติพบว่ามีแรงงานเข้าสู่ประกันสังคมน้อยกว่าครึ่ง
ดังที่กระทรวงแรงงานระบุเมื่อเดือนพ.ย.2555 ว่ามีแรงงานข้ามชาติผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วจำนวน 530,156 คน ในจำนวนนี้เข้าสู่ระบบประกันสังคมเพียง 217,972 คน หรือร้อยละ 41 เท่านั้น และแม้จะเข้าสู่ประกันสังคมแล้ว ในทางปฏิบัติก็ยังมีปัญหามากมาย
1.ปัญหาจากนายจ้าง กล่าวคือนายจ้างหลายบริษัทส่งเสริมสมทบล่าช้ากว่ากำหนด ซึ่งเมื่อครอบกำหนดการชำระแล้วต้องนำเงินสมทบมาจ่ายภายใน 15 วัน หากเลยกำหนดจะโดนปรับดอกเบี้ย นายจ้างบางคนที่จ้างแรงงานจำนวนมากจึงแก้ปัญหาด้วยการไม่ส่งเงินสมทบเลย เพราะไม่อยากเสียค่าปรับ
2.ปัญหาจากระบบการเข้าถึง เป็นข้อจำกัดในการเข้ารับการรักษาพยาบาลระหว่างรอบัตรประกันสังคม เนื่องจากต้องเข้ารับการรักษาเฉพาะโรงพยาบาลรัฐเท่านั้น จึงจะสามารถเบิกคืนเงินย้อนหลังที่จ่ายไปได้ทั้งหมด รวมทั้งความล่าช้าในการออกใบอนุญาตทำงาน ทำให้แรงงานใช้สิทธิในการเบิกจ่ายสิทธิประกันสังคมได้ล่าช้า
3.ปัญหาจากตัวแรงงานข้ามชาติ ซึ่งมักไม่ทราบสิทธิต่างๆ ที่พึงมีพึงได้ ขาดความเข้าใจในเกณฑ์ระเบียบเงื่อนไขต่างๆ ที่จำเป็น ซึ่งเป็นปัญหามากขึ้นหากแรงงานไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้
นอกจากนี้ยังพบอีกว่า ตั้งแต่แรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านเข้าสู่ระบบประกันสังคม อัตราการพบโรคทั้งวัณโรคและซิฟิลิสก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย และการที่แรงงานจะได้รับเงินตอบแทนจากการคลอดรายละ 1.3 หมื่นบาท ซึ่งคือการส่งเสริมการตั้งครรภ์และคลอดทางอ้อม พบว่ากลุ่มประกันสังคมตั้งครรภ์สูงกว่ากลุ่มประกันสุขภาพของ สธ.ถึง 4 เท่า
อย่างไรก็ดี หากเจาะลึกลงไปในรายสิทธิประโยชน์ที่แรงงานต่างด้าวจะได้รับจากประกันสังคม สำนักข่าว Health focus เคยรวบรวมไว้ว่าในสิทธิประโยชน์ทั้ง 7 กรณี ประกอบด้วย การรักษาพยาบาล คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร บำนาญชราภาพ การว่างงาน ทุพพลภาพ และเสียชีวิต นั้น ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เหมาะสมกับแรงงานต่างด้าวสักเท่าไร
เริ่มตั้งแต่ การคลอดบุตร สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ระบุไว้ว่า ผู้ประกันตนจำเป็นต้องมีทะเบียนสมรสไทย หรือหนังสือรับรองบุตร หรือใบคำสั่งศาล ซึ่งข้อเท็จจริงคือแรงงานต่างด้าวไม่มีเอกสารจากประเทศต้นทาง และส่วนใหญ่จะอยู่กินฉันท์สามีภรรยาโดยไม่จดทะเบียนสมรส นอกจากนี้ สปส. ยังให้สิทธิรับเงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ของเงินเดือน ในระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน แต่สภาพความเป็นจริงคือเมื่อแรงงานต่างด้าวมีอายุครรภ์มากเกินกว่าจะทำงานได้นายจ้างก็จะให้ลาออกทันที แรงงานก็จะไม่ได้ใช้สิทธิดังกล่าว
ต่อมาคือ การสงเคราะห์บุตร สปส. กำหนดไว้ว่า ต้องเป็นบุตรที่ชอบธรรมด้วยกฎหมาย ซึ่งข้อจำกัดจะเป็นไปในลักษณะเดียวกับการคลอดบุตร คือแรงงานไม่มีเอกสาร สปส.ยังให้สิทธิผู้ประกันตนรับเงินสงเคราะห์บุตรไปได้จนบุตรอายุ 6 ปี แต่ พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 กลับกำหนดให้แรงงานข้ามชาติอยู่ในประเทศไทยได้สูงสุดเพียง 4 ปี นั่นหมายความว่าถึงอย่างไรแล้วแรงงานต่างด้าวก็ไม่สามารถได้รับสิทธิอันพึงมีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
ขณะที่ บำนาญชราภาพ แทบไม่มีประโยชน์แก่แรงงานต่างด้าวเลยเพราะ สปส.จะจ่ายเงินก้อนนี้คืนก็ต่อเมื่อผู้ประกันตนมีอายุครบ 55 ปี ทว่ากฎหมายกำหนดให้แรงงานต่างด้าวอยู่ในประเทศได้เพียง 4 ปี แน่นอนว่า สปส.ไม่มีระบบติดตามตัวเพื่อจ่ายเงินคืน เช่นเดียวกับเงินชดเชยการว่างงาน ต้องใช้เวลาในการยื่นเรื่องและรอดำเนินการ ทว่า พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 กำหนดว่าแรงงานข้ามชาติที่สิ้นสุดการเป็นลูกจ้างจะต้องถูกส่งกลับประเทศต้นทาง หรือมิฉะนั้นต้องหานายจ้างใหม่ใน 7 - 15 วัน ส่วนกรณีทุพพลภาพและเสียชีวิต แม้จะเข้าถึงสิทธิได้โดยง่ายแต่คงไม่มีใครอยากใช้
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ทำความรู้จัก “แรงงานข้ามชาติ” ในไทย พลเมืองชั้น 2 - สุขภาพชั้นล่างสุด (ตอนที่1)
ทำความรู้จัก “แรงงานข้ามชาติ” ในไทย พลเมืองชั้น 2 – สุขภาพชั้นล่างสุด (ตอนจบ)
- 71 views