ปัญหา “แรงงานข้ามชาติ” กลายมาเป็นประเด็นร้อนตลอดช่วงที่ผ่านมา ตัวเลขล่าสุดพบว่ามีแรงงานต่างด้าวเดินทางกลับภูมิลำเนาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 แสนชีวิต และแม้ว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะชัดเจนในมาตรการว่า “ไม่จับ-ไม่กวาดล้าง-ไม่ปราบปราม” แต่ทว่ากลับไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับแรงงานกลุ่มนี้ได้
นอกจากความทุกข์ระทมจากความไม่แน่นอนและความกลัวที่กัดกร่อนจิตใจของเขาแล้ว สำนักข่าว Health focus ได้โฟกัสไปยังระบบบริการสุขภาพที่แรงงานต่างด้าวเหล่านี้ได้รับ เขาเหล่านั้นอยู่ในประเทศไทยในฐานะพลเมืองชั้น 2 แต่เรื่องการเข้าถึงบริการสุขภาพนั้น อาจเรียกว่าอยู่ในขั้นสุดท้ายก็คงไม่กล่าวเกินจริง
บทสรุป “สุขภาพคนไทย” ปี 2556 ฉบับครบรอบ 1 ทศวรรษ ซึ่งสังเคราะห์ข้อมูลโดย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล (วปส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ฉายภาพ สถานการณ์ “แรงงานข้ามชาติกับระบบบริการสุขภาพของประเทศไทย” ไว้อย่างน่าศึกษา
# แรงงานข้ามชาติไร้ทักษะจากประเทศเพื่อนบ้านมีกี่กลุ่มกันแน่ ?
ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติมีสิทธิอยู่อาศัยและขออนุญาตทำงานในประเทศไทยได้ พร้อมกันนี้ยังได้ผ่อนผันให้ “ผู้ติดตาม” มีสิทธิอยู่ได้ชั่วคราวเช่นกัน นั่นทำให้ปัจจุบันสามารถแบ่งแรงงานข้ามชาติระดับล่างออกเป็น 4 กลุ่ม
ประกอบด้วย 1.แรงงานข้ามชาติที่จดทะเบียน มักเรียกว่า “กลุ่มผ่อนผัน” หมายถึงแรงงานที่จดทะเบียนเพื่อได้สิทธิอาศัยอยู่ชั่วคราว (ทร.38/1) และได้รับหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข 00 โดยแรงงานกลุ่มนี้ต้องผ่านการตรวจสุขภาพก่อนแล้วจึงจะขออนุญาตทำงานจากกระทรวงแรงงานได้ โดยหลักฐานจากหน่วยงานของรัฐ 3 ฉบับ คือใบอนุญาตให้พำนักอาศัยชั่วคราว (ทร.38/1) บัตรประกันสุขภาพ (ราคา 2,200 บาท) และใบอนุญาตทำงาน
2.แรงงานข้ามชาติที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ มักเรียกสั้นๆ ว่า “กลุ่มพิสูจน์สัญชาติ” ตั้งแต่ พ.ศ.2547 รัฐบาลได้วางมาตรการปรับสถานะของแรงงานที่เข้าเมืองผิดกฎหมายที่จดทะเบียน (กลุ่มผ่อนผัน) ผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ เพื่อให้มีสถานะเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย และเข้าสู่ระบบประกันสังคม แต่กลุ่มที่ทำงานในกิจการที่ได้รับการยกเว้นจากประกันสังคมจะต้องใช้ระบบประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวที่ต้องซื้อจากกระทรวงสาธารณสุขเป็นรายปีแทน
3.แรงงานข้ามชาติที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เรียกว่า “กลุ่มนำเข้า” เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-พม่า ไทย-กัมพูชา และไทย-ลาว ใน พ.ศ.2545-2546 ตามลำดับ มีการจัดทำกรอบการจ้างงานสำหรับแรงงานข้ามชาติไร้ฝีมือที่จะนำเข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย ภายใต้บันทึกข้อตกลงนี้แรงงานจะได้รับสวัสดิการสังคม สิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาลและสิทธิประโยชน์อื่นๆ เช่นเดียวกับแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติผ่านการพิสูจน์สัญชาติ
4.แรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้จดทะเบียน หมายถึงแรงงานที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต เรียกว่า “กลุ่มใต้ดิน” หรือแรงงานเถื่อน โดยมีการประมาณการว่ามีอยู่ในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน
# “คนต่างด้าว” ที่อยู่ในประเทศไทยแต่ไม่ถูกคุ้มครองในระบบบริการสุขภาพ
เมื่อพูดถึง “คนต่างด้าว” ที่อยู่ในประเทศไทยและไม่อยู่ในระบบการคุ้มครองด้านสุขภาพ เรามักจะคิดถึง “กลุ่มใต้ดิน” เพียงอย่างเดียว ทั้งที่กลุ่มใต้ดินเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น หากแต่กฎหมายสัญชาติของไทยให้ความหมาย “คนต่างด้าว” ว่าคือคนที่ไม่มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเป็นคนที่อยู่เมืองไทยมาตั้งแต่เกิด ไม่เคยเดินทางออกไปนอกประเทศเลย หรือคนต่างชาติที่อยู่ประเทศไทยมาอย่างยาวนาน
ดังนั้น ยังมีกลุ่มคนอีกหลายกลุ่มที่ไม่ถูกคุ้มครองในระบบสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น ชนกลุ่มน้อย ชาวเขา คนไร้รัฐ คนไร้รากเหง้า และคนไร้สถานะทางทะเบียน ซึ่งอาจเรียกรวมกันว่า “ผู้มีปัญหาสถานะบุคคล” โดยปัจจุบันแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม
1.คนต่างด้าวที่ยังไม่มีสัญชาติไทยแต่อยู่อาศัยในประเทศไทยมานาน และได้รับการสำรวจตามนโยบายของรัฐบาลแล้ว ประกอบด้วยกลุ่มชนกลุ่มน้อยตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ได้รับเลขประจำตัว 13 หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข 7 ส่วนใหญ่คนกลุ่มนี้เพิ่งได้รับหลักประกันสุขภาพตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2553 ที่ประกาศนโยบายคืนสิทธิด้านการรักษาพยาบาลให้แก่ผู้ที่ยังมีปัญหาเรื่องสถานะ จำนวน 457,409 คน กระจายอยู่ในพื้นที่บริการของโรงพยาบาลชายแดน 172 แห่ง ใน 15 จังหวัดทั่วประเทศ นับตั้งแต่เดือน เม.ย.พ.ศ.2553 เป็นต้นมา โดยตั้งกองทุนขึ้นมาเป็นการเฉพาะ มีสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดูแล
อย่างไรก็ตาม กองทุนดังกล่าวนี้ไม่ครอบคลุมคนไร้รัฐ คนไร้สัญชาติที่ไม่เข้าข่ายตามมติคณะรัฐมนตรี แม้จะถูกนับจดในทะเบียนบุคคลก็ตาม
2.กลุ่มไม่มีสถานะทางทะเบียน ที่ได้รับการสำรวจตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล พ.ศ.2548 (เลขประจำตัว 13 หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข 0) แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มย่อย คือ (ก) กลุ่มที่ตกหล่นจากการสำรวจและจัดทำทะเบียนชนกลุ่มน้อยเดิม (ข)กลุ่มนักเรียนนักศึกษาต่างด้วยในสถานศึกษา (ค) กลุ่มคนไร้รากเหง้า (ง) กลุ่มผู้ทำคุณประโยชน์ให้ประเทศ โดยมีเพียงกลุ่ม (ข) (ค) และ (ง)เท่านั้นที่ได้รับหลักประกันสุขภาพตามมติคณะรัฐมนตรีเรื่องการให้สิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน ส่วนกลุ่ม (ก) ยังไม่ได้รับหลักประกันสุขภาพใดๆ
3.บุตรและผู้ติดตามอายุไม่เกิน 15 ปี ของแรงงานข้ามชาติที่จดทะเบียนหรือพิสูจน์สัญชาติแล้ว เด็กๆ ที่ติดตามพ่อแม่เข้ามาหรือเกิดในประเทศไทยนั้น ได้รับการผ่อนผันให้อยู่อาศัยเป็นการชั่วคราวตามพ่อแม่ แต่ไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆ ยกเว้นเป็นผู้ติดตามที่ขึ้นทะเบียนตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 เม.ย.2554 เท่านั้น ที่มีมาตรการให้ซื้อประกันสุขภาพ
# แรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคลกับระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย
เห็นได้ว่ายังมี “คนต่างด้าว” อีกหลายกลุ่มที่ไม่มีระบบประกันสุขภาพใดๆ โดย นพ.ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์ นักวิจัยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ได้ประเมินจำนวนบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิทางสุขภาพว่ามีประมาณ 2 ล้านคน (ชนกลุ่มน้อย ชาวเขา คนไร้รัฐ ผู้อพยพลี้ภัยตามค่ายอพยพชายแดนไทย-พม่า แรงงานใต้ดิน กลุ่มคนที่มีสถานะทางทะเบียน) ซึ่งในจำนวนนี้คาดว่ามีเด็กรวมอยู่ด้วยมากกว่า 1 แสนคน ทั้งนี้เนื่องจากเฉพาะกรุงเทพมหานครเพียงแห่งเดียว ในปี 2555 มีรายงานคาดประมาณจำนวนลูกหลานต่างด้าวอายุต่ำกว่า 15 ปี มีสูงถึง 3 หมื่นคน
งานวิจัยหลายชิ้นยืนยันสอดคล้องกันว่า หากแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคลเจ็บป่วยไม่มากมักซื้อยากินเอง ยกเว้นเมื่อเจ็บป่วยหนักหรือประสบอุบัติเหตุร้ายแรงจึงจะมาใช้บริการจากสถานพยาบาลของรัฐ โดยจ่ายค่ารักษาเอง แต่ในกรณีที่ไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอาจไม่เต็มใจนักในการให้บริการ เพราะรู้สึกว่าตัวเองมีภาระเพิ่มขึ้น และมีอุปสรรคเรื่องการสื่อสารเพราะภาษาที่แตกต่างด้วย
ที่ผ่านมาประเทศไทยวางแผนบริหารจัดการทรัพยากรด้านสุขภาพโดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ โดยคำนวณจากฐานความต้องการของประชากรที่เป็นพลเมืองไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น การมีแรงงานข้ามชาติรวมถึงผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิเข้ามาจึงทำให้ภาระงานของบุคลากรในระบบสุขภาพไทยเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
มุมหนึ่งก็เข้าใจผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข อีกมุมหนึ่งก็อดเป็นห่วง “แรงงานข้ามชาติ” เหล่านี้ไม่ได้ เพราะเขาทั้งหมดเป็น “มนุษย์” โดยสมบูรณ์ และมนุษย์ทุกชีวิตต้องมีสิทธิดำรงชีวิตอยู่อย่างเท่าเทียมกัน
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ทำความรู้จัก “แรงงานข้ามชาติ” ในไทย พลเมืองชั้น 2 – สุขภาพชั้นล่างสุด (ตอนที่2)
ทำความรู้จัก “แรงงานข้ามชาติ” ในไทย พลเมืองชั้น 2 – สุขภาพชั้นล่างสุด (ตอนจบ)
- 5049 views