รองปลัด สธ.เตรียมเสนอแนวทางจัดตั้ง NHPB หลังรับมอบ คกก.ขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 4 ศึกษาทางออกแก้ปัญหาบทบาทซ้ำซ้อน คกก.สุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เผยทางเลือก 2 รูปแบบ เดินหน้าตั้ง NHPB มี คสช.เป็นกลไกรวบรวมเสนอความเห็น และปรับโครงสร้าง คสช.เพื่อทำหน้าที่ NHPB ระบุมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เตรียมเสนอพิจารณาต้นเดือน ก.ย. นี้ ยอมรับข้อวิพากษ์ผลประโยชน์ทับซ้อน หาก สธ.เป็นหน่วยงานหลักขับเคลื่อน NHPB อนาคตต้องกระจายอำนาจ เน้นบทบาทคุมนโยบายสุขภาพ
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงข้อเสนอการจัดตั้ง “คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ” (National Health Policy Board: NHPB) ว่า เป็นเพียง 1 ในข้อเสนอเพื่อพิจารณาขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสาธารณสุขด้านการอภิบาลระบบสุขภาพ ซึ่งจัดทำโดยคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูประบบสาธารณสุขด้านการอภิบาลระบบสุขภาพ ซึ่งมี รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน และตนเป็นเลขานุการ โดยได้รับมอบจากคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 4 คณะกรรมการขับเคลื่อนปฏิรูปด้านสาธารณสุข โดยเรื่องนี้เริ่มตั้งแต่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่มองว่าในระบบสุขภาพของประเทศยังมีประเด็นปัญหาต่างๆ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข จึงควรมีกลไกกลางเพื่อมาอภิบาลระบบ ซึ่งต่อมาคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ได้นำมาเพื่อขับเคลื่อนต่อ และให้โจทย์อนุกรรมการขับเคลื่อนฯ ไปดูว่าการอภิบาลระบบทำอย่าง
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า หลังได้รับโจทย์ข้างต้นแล้ว คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ ได้นำไปศึกษาการอภิบาลระบบสุขภาพ มี 3 รูปแบบ คือ
1.คณะกรรมการประสานงานด้านนโยบายสุขภาพแห่งชาติ
2.คณะกรรมการควบร่วมมือด้านสุขภาพแห่งชาติ
3.คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ
โดยรูปแบบแรกนั้นคณะกรรมการจะมีอำนาจเพียงทำหน้าที่ประสานเท่านั้นโดยไม่มีการตัดสินใจ ส่วนรูปแบบต่อมาจะขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาระบบสุขภาพเฉพาะประเด็นสำคัญเท่านั้น และรูปแบบสุดท้ายจะเป็นคณะกรรมการที่ดูภาพรวมทุกอย่างในระบบสุขภาพ
ทั้งนี้ได้มีการจัดรับฟังความเห็น 4 ภาคในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยเสียงส่วนใหญ่ออกมาในรูปแบบที่ 2 บวกกับรูปแบบที่ 3 คือเห็นตรงกันว่าต้องมีคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่ตัดสินปัญหาเรื่องสำคัญ แต่อย่าดูทุกเรื่อง
จากผลการรับฟังความเห็นนี้ จึงได้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 4 ที่ผ่านมา ซึ่ง พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานฯ เกรงว่าจะซ้ำซ้อนกับบทบาทหน้าที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) หรือไม่ และหากซ้ำซ้อนแล้วจะทำอย่างไร จึงให้โจทย์คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ มาทำการบ้านต่อว่าจะทำอย่างไรให้บทบาทไม่ซ้ำซ้อนกับ คสช. และตั้งให้ตนเป็นประธานเพื่อศึกษาหารูปแบบและได้มีการประชุมหารือไปแล้ว โดยเชิญตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาให้ความเห็น ทั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และผู้แทนจากองค์กร ส.ต่างๆ ในระบบสุขภาพ ซึ่งมีข้อเสนอ 2 รูปแบบ คือ
1.จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ และมีอำนาจในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาที่สำคัญในระบบสุขภาพ โดยดูเฉพาะเรื่อง และให้ คสช.เป็นกลไกที่รับฟังและรวบรวมความเห็นการแก้ไขปัญหาและนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ
2.ปรับโครงสร้าง คสช.ให้เป็นคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีความยุ่งยาก เพราะต้องแก้ไข พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 เพื่อรองรับบทบาทหน้าที่ใหม่ของ คสช. และยังต้องปรับองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ ที่ยังมีความแตกต่างกันอยู่
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า จากข้อเสนอนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำข้อดีและข้อเสีย เพื่อจัดทำเป็นข้อมูลและนำกลับไปเสนอต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 4 ที่จะมีการประชุมอีกครั้งต้นเดือนกันยายนนี้ ซึ่งทั้ง 2 ข้อเสนอต่างมีข้อดีและข้อเสียต่างกัน โดยข้อเสนอแรกคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งขาติจะมี คสช.เป็นทีมงาน ช่วยดูเรื่องต่างๆ ซึ่งจะทำให้การดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ เป็นไปโดยเร็ว ขณะที่งาน คสช.เดิมก็ยังสามารถเดินได้
แต่หากเป็นข้อเสนอที่ 2 จะทำให้ประหยัดงบประมาณดำเนินการ เพราะใช้ คสช.เดิมที่มีอยู่แล้ว แต่จะมีปัญหาการปรับเปลี่ยนบทบาท จากเดิมที่ คสช.จะเป็นหน่วยงานระดมความเห็นและจัดทำข้อเสนอแนะ แต่ต้องปรับเป็นผู้ตัดสินใจ
อีกทั้งโครงสร้างที่แตกต่างแม้ว่าจะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมี รมว.สาธารณสุขเป็นรองประธานเหมือนกัน แต่ในส่วนของเลขานุการตามโครงสร้างใหม่มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขทำหน้าที่นี้ นอกจากนี้ คสช.ยังมีโครงสร้างคณะกรรมการที่มาจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งหมด รวมถึงระดับพื้นที่ ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้ที่คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติจะโครงสร้างใหญ่ขนาดนั้น
ส่วนที่มีการวิจารณ์โครงสร้างคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติที่เน้นกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งอาจทับซ้อนผลประโยชน์ในการดำเนินนโยบายต่างๆ ในฐานะเป็นเจ้าของโรงพยาบาลทั่วประเทศ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้คงต้องรับฟังความเห็นเช่นกัน และเมื่อมีความเห็นแบบนี้จะให้ใครมาบริหาร ซึ่งยอมรับว่ากระทรวงสาธารณสุขควรทำบทบาทผู้กำหนดนโยบาย และในทิศทางระยะยาวกระทรวงเองคงต้องมีการกระจายอำนาจ แต่ขณะนี้ยังเป็นไปไม่ได้ ทั้งนี้คงต้องดูว่ากระทรวงสาธารณสุขซึ่งปัจจุบันยังดูแลโรงพยาบาลหากทำหน้าที่ตรงนี้จะมีปัญหาอะไรหรือไม่ ซึ่งคงต้องมีการพูดคุยเพื่อหาจุดที่เหมาะสมที่สุดในการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ
“เรื่องนี้เราคงต้องคอยๆ พูดกัน แต่ไม่ว่าจะเสนอแนวทางไหนก็จะมีฝ่ายที่เห็นค้านอยู่แล้ว แต่เพื่อประโยชน์โดยรวมอยากให้พิจารณาถึงขอดีและข้อเสีย และเลือกแนวทางที่เป็นข้อเสียน้อยที่สุดในการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาระบบสุขภาพของประเทศ เพราะคงไม่มีแนวทางไหนดีที่สุด ยอมรับว่า หากกระทรวงสาธารณสุขเป็นเลขานุการคณะกรรมการฯ จะมีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่หากเป็น คสช.ก็จะมีปัญหาการจัดการโครงสร้างที่ยุ่งยากตรงนี้จะทำอย่างไร ซึ่งคงต้องร่วมกันพิจารณาและตัดสินใจ” รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชงตั้ง คกก.นโยบายสุขภาพชาติ แต่ที่ประชุม คกก.ปฏิรูปราชการยังห่วงซ้ำซ้อน คกก.สุขภาพชาติ
เร่งยกร่างกฎหมายตั้ง คกก.นโยบายสุขภาพชาติให้เสร็จ ต.ค.นี้
‘หมอเจตน์’ หนุนตั้ง NHPB คุมนโยบายสุขภาพภาครัฐ-เอกชน ลดความซ้ำซ้อน
“หมอมงคล” หนุนตั้ง NHPB แต่ท้วง สธ.ไม่ควรเป็นแกนนำขับเคลื่อน เหตุผลประโยชน์ทับซ้อน
- 19 views