อนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปการสาธารณสุข สปท.เร่งยกร่างกฎหมายตั้งคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติให้เสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้ คาดปีหน้าเกิดแน่

รศ.พญ.พรพันธุ์ บุณยรัตนพันธุ์

รศ.พญ.พรพันธุ์ บุณยรัตนพันธุ์ อนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปการสาธารณสุข สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และอดีตประธานกรรมาธิการสาธารณสุข สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กฎหมายจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ มีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก โดย พล.อ.อ.ธีระภาพ เสนะวงษ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปการสาธารณสุข ได้เร่งยกร่างกฎหมายให้เสร็จก่อนตุลาคมนี้ จากนั้นเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป คาดว่าในปี 2560 น่าจะเห็นคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติเกิดขึ้น

รศ.พญ.พรพันธุ์ กล่าวอีกว่า การจัดตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมามีองค์กรด้านสุขภาพมากมาย เช่น กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตลอดจนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ฯลฯ อีกทั้งยังมีเงินที่จ่ายในระบบสุขภาพจาก 3 กองทุน ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีความสับสนวุ่นวาย และที่ผ่านมาเกิดความเห็นแย้งระหว่างกันมาโดยตลอด ทำให้ผู้ให้บริการไม่มีความสุข ผู้รับบริการก็ไม่มีความสุข เกิดความไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรในระบบสุขภาพ

การจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ จึงเป็นการรวมหน่วยงานที่มีส่วนได้เสียทั้งหมดมารวมกันเพื่อพูดคุยและวางนโยบายร่วมกัน เช่น เรื่องหลักประกันสุขภาพจะเดินอย่างไรต่อไป  3 กองทุนสุขภาพจะทำอย่างไรให้มีบริการที่ไม่เหลื่อมล้ำ มีคุณภาพและประชาชนเข้าถึง เรื่องการเงินการคลังจะทำให้มั่นคงเพียงพอและยั่งยืนอย่างไรในอนาคต ทำอย่างไรถึงจะเติมเงินเข้าสู่ระบบสุขภาพให้เพียงพอโดยที่ประชาชนไม่เดือดร้อนและมีคุณภาพบริการที่ดี

รศ.พญ.พรพันธุ์ กล่าวอีกว่า กระทรวงสาธารณสุขเห็นด้วยกับเรื่องคณะกรรมการนโยบายสุขภาพว่าควรเป็นคณะกรรมการระดับนโยบาย ทุกฝ่ายก็เห็นพ้องร่วมกันหมด พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรีก็เห็นด้วย ทางสนช.ก็เห็นด้วย เชื่อว่าเมื่อไหร่ที่มีคณะกรรมการชุดนี้เกิดขึ้น ความกระจัดกระจายของหน่วยงานต่าง ๆ ในระบบสาธารณสุขจะได้ถูกนำมารวมในเวทีเดียวกัน

“คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติจะไม่มีสำนักงานของตัวเอง ไม่ได้เพิ่มอะไรขึ้นมาเลย เพียงแต่จับคนที่เกี่ยวข้องมานั่งคุยกันให้รู้เรื่อง ให้มองเห็นปัญหาและทางออกร่วมกัน แต่จะมีสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ” รศ.พญ.พรพันธุ์ กล่าว

ขณะเดียวกัน เมื่อมีการก่อตั้งคณะกรรมการชุดนี้แล้ว ทางอนุกรรมการฯ ก็ได้เตรียมข้อเสนอการปฏิรูประบบสุขภาพให้เป็นทางเลือกในการพิจารณาด้วย เช่น เสนอให้ออก พ.ร.ฎ.จัดตั้งสำนักงานมาตรฐานสารสนเทศเพื่อสุขภาพ เพื่อเป็นเคลียริ่งเฮ้าส์ด้านสุขภาพในระดับชาติ ข้อมูลการเจ็บป่วย ค่าใช้จ่าย การเบิกจ่ายทุกอย่างจะผ่านหน่วยงานนี้หน่วยงานเดียว ข้อมูลก็จะครอบคลุมสามารถใช้ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายต่าง ๆ ได้

นอกจากนี้ ในอนาคตยังจะมีข้อเสนอให้กระทรวงสาธารณสุข ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแล ไม่ใช่เป็นผู้ให้บริการแบบในปัจจุบันนี้ ซึ่งจะสอดคล้องกับการกระจายอำนาจไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยให้หน่วยบริการทั้งหมดเป็นของ อปท. แล้วรวมกันบริหารในลักษณะเขตสุขภาพ

“ตรงนี้เป็นข้อเสนอที่จะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายสุขภาพพิจารณา เพราะหน่วยบริการในขณะนี้มีทั้งของมหาวิทยาลัย ของทหาร ของตำรวจ ของเทศบาล และของ สธ. แต่ไม่เชื่อมโยงซึ่งกันและกัน มันตลก ระบบเขตสุขภาพก็จะเป็นบอร์ดในระดับพื้นที่ แก้ไขปัญหาสุขภาพในพื้นที่ แชร์ทรัพยากรร่วมกัน แต่ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหารจัดการในแต่ละองค์กร ซึ่งแนวคิดนี้ทาง สธ. ก็ยินดีถ้ามีท้องถิ่นมีศักยภาพ ซึ่งทางกระทรวงจะได้พัฒนาตัวเองในด้านการดูแลมาตรฐานและคุณภาพต่อไป” รศ.พญ.พรพันธุ์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชงตั้ง คกก.นโยบายสุขภาพชาติ แต่ที่ประชุม คกก.ปฏิรูปราชการยังห่วงซ้ำซ้อน คกก.สุขภาพชาติ

เปิด 2 ทางเลือกคุมนโยบายสุขภาพชาติ ‘ตั้งซุปเปอร์บอร์ดชุดใหม่ vs ปรับโครงสร้าง คกก.สุขภาพ’

‘หมอเจตน์’ หนุนตั้ง NHPB คุมนโยบายสุขภาพภาครัฐ-เอกชน ลดความซ้ำซ้อน

“หมอมงคล” หนุนตั้ง NHPB แต่ท้วง สธ.ไม่ควรเป็นแกนนำขับเคลื่อน เหตุผลประโยชน์ทับซ้อน