เครือข่ายฟ.ฟัน จี้ประกันสังคมเร่งแก้ปัญหาขั้นตอนเบิกจ่ายทำฟัน หวั่นขยายวงเงิน 900 บาท และทำฟันไม่ต้องสำรองจ่าย ไม่ได้ประโยชน์จริง เหตุมีขั้นตอนเบิกจ่ายและข้อจำกัดยุ่งยาก สร้างปัญหาซ้ำให้ผู้ประกันตน ชี้ในอนาคตการให้บริการ การเบิกจ่ายควรเท่าเทียมกับบัตรทอง

ทพญ.มาลี วันทนาศิริ ทันตแพทย์โรงพยาบาลลำลูกกา จ.ปทุมธานี ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่าย ฟ.ฟันสร้างสุขที่ร่วมผลักดันให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพิ่มสิทธิทันตกรรมจากที่เบิกได้ 600 บาทเป็น 900 บาทต่อปีจนเป็นผลสำเร็จ กล่าวว่า แม้ สปส.จะขยายวงเงินการเบิกจ่ายค่าทำฟัน แต่อาจมีปัญหาเรื่องการจัดระบบการให้บริการซึ่งสุดท้ายอาจทำให้ผู้ประกันตนเข้าถึงสิทธิ์นี้ไม่เต็มที่ และต้องร่วมจ่ายสมทบเอง

เธอขยายความว่า ขณะนี้ สปส.กำลังทำโครงการนำร่องทำฟัน โดยไม่ต้องสำรองจ่ายมีทั้งหมด 30 หน่วยบริการทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด และคาดว่า ภายใน 3-4 เดือน อาจจะขยายไปทั้งประเทศ อย่างไรก็ตาม ระบบที่ไม่ต้องสำรองจ่ายที่ทำอยู่ขณะนี้ มีปัญหาที่ทำให้การเข้าถึงบริการลำบากขึ้น

ประเด็นแรก มีการกำหนดราคากลาง และเงื่อนไขของการเบิกจ่ายการทำฟันรายการต่าง ๆ ซึ่งพบว่า มีข้อจำกัดเยอะมาก เช่น อุดฟันกำหนดแค่ 2 ด้าน ถ้าอุดฟันแล้วพบว่าต้องทำถึง 4 ด้าน แต่ผู้ประกันตนจะเบิกได้ในราคาแค่ 2 ด้าน ส่วนที่เหลือเขาจะต้องจ่ายเพิ่มเอง ดังนั้น เงื่อนไขเหล่านี้อาจทำให้การเข้าถึงบริการจะลำบากขึ้น

ประเด็นสอง กรณีที่ไม่ต้องสำรองจ่าย สปส.จะให้หน่วยบริการสมัครเข้าร่วมทำข้อตกลงกับ สปส. เมื่อทำแล้ว เวลาที่ผู้ประกันตัวมาเข้ารับบริการทำฟัน อันดับแรกจะต้องโทรไปที่ 1506 คอลเซ็นเตอร์ สปส.กลางเพื่อตรวจสอบว่า ผู้ประกันตนที่มาใช้สิทธิ์ เบิกจ่ายค่าทันตกรรมไปแล้วเท่าไร และเหลือเท่าไร ตรงนี้ไม่มั่นใจว่า จะมีคู่สายมากพอให้ผู้ประกันซึ่งขณะนี้มีอย่างน้อย 30 พื้นที่ที่เปิดใช้บริการได้โทรไปสอบถามหรือไม่ ถ้าไม่พอ ตัวคลินิกที่อยู่ในโครงการนำร่องก็จะเสียเวลา ผู้ประกันตนก็จะต้องนั่งรอที่คลินิกเพื่อให้มีการตรวจสอบเรื่องสิทธิ์ต่าง ๆ ให้เรียบร้อยก่อนว่า เหลืออยู่กี่บาทถึงจะทำฟันได้

ปัญหาอีกประการในเชิงปฏิบัติการ เวลาใช้บริการทำฟันจริง ๆ อาจพบว่า จะต้องรักษาฟันมากกว่าที่คาดไว้ เช่น ทันตแพทย์ดูคนไข้ด้วยสายตาภายนอกอาจเห็นว่า ต้องอุดฟัน 1 ด้าน แต่เมื่อตรวจฟันจริงมีฟันผุมากกว่านั้น  2-3 ด้าน แต่ทันตแพทย์เคลียร์สิทธิ์กับผู้ประกันตนเป็นแค่ 1 ด้านไปแล้ว ถ้าเป็น 4 ด้าน ทันตแพทย์บอกกับผู้ประกันตนคนไข้ว่า เบิกได้แค่ 2 ด้าน อีก 2 ด้านต้องสมทบจ่ายเงิน ถ้าผู้ประกันตนบอกว่ายังไม่พร้อม และขอไม่อุด หากเป็นอย่างนี้ทางคลินิกต้องโทรกลับไปยกเลิกสิทธิ์ภายใน 20.30 น.ของทุกวัน  เกินกว่านั้นไม่ได้เพราะสิทธิ์จะติดตัวผู้ประกันตนไปแล้ว  

“มันมีข้อจำกัดในการบริหารจัดการมาก การขยายวงเงิน 600 เป็น 900 แม้จะดีขึ้น ผู้ประกันตนอาจมีความสุขเพิ่มขึ้นหน่อย แต่ด้วยบริหารจัดการน่าจะเป็นข้อจำกัดอยู่ สปส.ต้องทำให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างราบรื่น และเข้าถึงบริการได้จริง” ทพญ.มาลี กล่าว

ทพญ.มาลี กล่าวว่า การใช้ระบบที่ไม่ต้องสำรองจ่าย แล้วใช้ราคากลางมาเป็นตัวกำกับอย่างนี้ จะทำให้สิทธิ์บางอย่างของผู้ประกันตนลดลงไปด้วย มันอาจเป็นความยากของ สปส. เพราะถ้าทำ 2 ระบบในเวลาเดียวกัน มันอาจทำให้ระบบหนึ่งต้องด้อยไป

ผู้ประสานงานเครือข่าย ฟ.ฟันสร้างสุข กล่าวว่า สิ่งที่อยากเรียกร้องคือ ระบบประกันสังคม ควรเท่าเทียมกับบัตรทอง ทั้งนี้ จุดแตกต่างระหว่างบัตรทอง กับ ประกันสังคมเรื่องการรักษาฟัน มีอยู่ 2 จุด กรณีบัตรทองหรือข้าราชการรักษาตามโรคที่เป็นจริง เช่น ถ้าเรามีหินปูน ก็ต้องขูด มีฟันต้องถอนก็ต้องถอนหรือ ต้องอุดฟัน 10 ซี่ ก็ต้องอุด 10 ซี่ แต่ประกันสังคมที่ผ่านมาให้เพดานค่ารักษาที่ 600 บาท จะมีกี่ซี่ก็เบิกได้แค่ 600 บาท ที่เหลือต้องจ่ายเองหรือไม่ก็รอใช้สิทธิ์ปีหน้าแทน

อย่างไรก็ตามที่เป็นจุดแข็งของประกันสังคม คือ สามารถใช้สิทธิ์ที่คลินิกเอกชนหรือ โรงพยาบาลเอกชนที่ไหนก็ได้ ไม่จำกัด ส่วนของข้าราชการกับบัตรทองต้องเข้าหน่วยงานบริการของรัฐ  ถึงจะใช้สิทธิ์นั้นได้เต็มที่ ถ้าเขาไปทำคลินิก เขาจะต้องจ่ายเอง 100%

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชี้ประกันสังคมเพิ่มวงเงินค่าทำฟัน 900 บ.ไม่ดีจริง สร้างภาระผู้ประกันตน