สปสช.เตรียมประกาศเกณฑ์บริหารกองทุน ปี 60 หลังบอร์ดให้ความเห็นชอบ ยกเลิกกันงบผู้ป่วยนอกส่วนหนึ่ง แต่โอนงบทั้งหมดให้ รพ. ส่วนงบผู้ป่วยในจ่ายระดับเขตรายเดือนตามข้อมูลที่ รพ.ส่งเบิก กันงบกรณีเฉพาะไม่เกิน 12% ของงบเหมาจ่ายรายหัว โอนการดูแลเด็กแรกเกิด กลับไปอยู่ในงบเหมาจ่ายตามปกติ และกันเงินไว้ปรับเกลี่ยให้ รพ.สธ. เพื่อหนุนการดำเนินงานหน่วยบริการ ลดปัญหาอุปสรรคการโอนและเบิกจ่ายงบประมาณ แก้ปัญหา รพ.ขาดสภาพคล่อง
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า หลังจากคระกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้ให้ความเห็นชอบประกาศ “หลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2560” หลังจากนี้จะมีการนำเสนอต่อ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ด สปสช.เพื่อลงนามประกาศและให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไป
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า บอร์ด สปสช.มีจุดเน้นการจัดสรรงบปี 2560 เพื่อให้หน่วยบริการมีความคล่องตัวในการให้บริการมากขึ้น ลดวิกฤติการเงิน ลดภาระ ความยุ่งยากในการทำงาน ตลอดจนลดอุปสรรคที่จะทำให้เกิดปัญหาลง และเพิ่มกลไกให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนหน่วยบริการให้การรักษาและดูแลประชาชนอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน ประเด็นที่มีการปรับเปลี่ยนมีดังนี้
งบผู้ป่วยนอก เดิมมีการกันงบส่วนหนึ่งเพื่อจัดสรรให้กับหน่วยบริการตามการให้บริการ เป็นการสนับสนุนการจัดทำระบบข้อมูล แต่เพื่อให้งบส่งไปยังหน่วยบริการเพิ่มขึ้นและรวดเร็วขึ้น ในปีนี้จะโอนงบผู้ป่วยนอกทั้งหมดให้กับหน่วยบริการ และจะมีการปรับปรุงตัวชี้วัดอื่นเพื่อประเมินการบริการแทน พร้อมกันนี้ได้ปรับให้ใช้ข้อมูลประชากร ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2559 เป็นตัวแทนการจ่ายทั้งปี ซึ่งจะทำให้จำนวนงบประมาณที่หน่วยบริการได้รับมีความชัดเจนและได้รับงบประมาณอย่างรวดเร็วขึ้น
งบผู้ป่วยในทั่วไป ปรับการบริหารโดยจ่ายงบระดับเขตรายเดือนตามข้อมูลที่หน่วยบริการส่งมาแต่ละเดือน ซึ่งหน่วยบริการจะได้รับเงินตามที่เบิกจ่ายในเดือนนั้นไม่ต้องรอเหมือนในอดีต โดยจะมีการส่งข้อมูลกลับให้หน่วยบริการในแต่ละเขตได้รับทราบบริการที่เกิดขึ้นในเขตเพื่อให้หน่วยบริการประเมินคุณภาพของตนเอง
งบบริการกรณีเฉพาะ โดยปี 2560 ได้จำกัดวงเงินที่ชัดเจนไม่เกินร้อยละ 12 ของงบเหมาจ่ายรายหัว เพื่อลดความกังวลของหน่วยบริการว่าจะมีการกันเงินที่ส่วนกลางมากไป โดยปีนี้ยังได้ลดการจัดสรรกองทุนเฉพาะในการดูแลเด็กแรกเกิด ให้กลับไปอยู่ในงบเหมาจ่ายตามปกติ
ขณะที่การบริการผ่าตัดตาต้อกระจกพร้อมเลนส์แก้วตาเทียมให้กำหนดเป้าหมายบริการระดับเขต และเน้นการควบคุมคุณภาพโดยเฉพาะผู้ป่วยที่ตาบอดจากต้อกระจก ขณะที่การบริการรักษาโรคหลอดเลือดโคโรนารีผ่านสายสวน และการบริการผ่าตัดข้อเข่าเทียม จะเน้นการมีส่วนร่วมของหน่วยบริการทุกสังกัดในการจัดระบบลงทะเบียนรอการผ่าตัด โดยจ่ายให้หน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนที่ได้คุณภาพที่เป็นหน่วยบริการรับส่งต่อ
งบบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค หน่วยบริการสังกัด สป.สธ. ให้ใช้ประชากร ณ วันที่ 1 ก.ค. 2559 เป็นตัวแทนการจ่ายงบทั้งปี เช่นเดียวกับงบผู้ป่วยนอกเพื่อให้งบประมาณถึงหน่วยบริการรวดเร็วขึ้น
งบบริการการแพทย์แผนไทย มีการปรับเพิ่มตามนโยบายนายกรัฐมนตรีที่ให้สนับสนุนการแพทย์แผนไทย โดยได้ปรับเพิ่มจาก 10.77 บาท เป็น 11.61 บาทต่อผู้มีสิทธิ
งบบริหารจัดการค่าบริการผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ของหน่วยบริการสังกัด สป.สธ. ให้มีการกันงบไว้ไม่เกิน 1,900 ล้านบาท เพื่อการปรับเกลี่ยงบระดับประเทศ เขต และจังหวัด นอกจากนี้ยังกันงบไว้ไม่เกิน 7,700 ล้านบาท สำหรับการปรับเกลี่ยเพิ่มงบเหมาจ่ายให้กับโรงพยาบาลที่มีปัญหาขาดทุนมาโดยตลอด โรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร เสี่ยงภัย พื้นที่เป็นเกาะ และประชากรน้อย ซึ่งมีประมาณ 200 แห่ง เพื่อแก้ไขปัญหางบไม่เพียงพอ
งบการจ่ายตามเกณฑ์คุณภาพผลงานบริการ มีตัวชี้วัดกลางจำนวนไม่เกิน 10 ตัว และระดับเขตสามารถเพิ่มเติมได้ไม่เกิน 5 ตัว
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ส่วนงบการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ที่ส่วนกลาง ซึ่ง คตร.ได้เคยมีคำสั่งไม่ให้ สปสช.ดำเนินการ แต่ให้ดำเนินการขออนุมัติเป็นครั้งไป และภายหลังได้มอบให้ รมว.สาธารณสุขเป็นผู้อนุมัติ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมรายการยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นต้องจัดซื้อส่วนกลางเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในการดูแลประชาชน โดยดำเนินการผ่านองค์การเภสัชกรรม อาทิ ยาต้านไวรัสเอดส์ ยากำพร้า ยาต้านพิษ ยาบัญชี จ.2 น้ำยาล้างไต ถุงยางอนามัย และข้อเข่าเทียม เป็นต้น
นอกจากนี้ในส่วนการจัดสรรงบตามคำสั่ง ม.44 ทั้งค่าบริการทางการแพทย์ที่เบิกจ่ายในลักษณะงบลงทุน และเงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ให้บริการ ซึ่งได้มีการกันเงินจำนวน 0.10 บาทต่อผู้มีสิทธิ ให้เป็นไปตามที่ รมว.สาธารณสุขประกาศโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลังซึ่งจะทำให้ขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานดีขึ้น
“การจัดทำประกาศหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2560 นี้ สปสช.จัดสรรตามข้อเสนอ, คณะกรรมการร่วม สธ.-สปสช. 7x7, คณะกรรมการแก้ปัญหา รพ.ขาดทุน, ประกาศ ม.44, ข้อเสนอจากเวทีรับฟังความเห็นทั่วประเทศ และ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานหน่วยบริการ แก้ไขปัญหาอุปสรรคการโอนและเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะโรงพยาบาลสังกัด สป.สธ.ที่มีปัญหาสภาพคล่อง ทั้งยังส่งผลต่อการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการดูแลประชาชนให้เข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึงและครอบคลุม” รองเลขาธิการ สปสช.กล่าว
- 9 views