“ทำอย่างไรให้พี่น้องในชุมชนได้อยู่ดี มีสุข สุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรค” จากแรงบันดาลใจของ นางชนานันท์ สังข์ทอง จึงทำให้ชนานันท์ ผันตัวเองมีทำงานจิตอาสาเป็น อสม.บ้านทุ่งหวัง มาเป็นเวลาถึง 8 ปีมาแล้ว

ชนานันท์ สังข์ทอง

ในวัย 47 ปีของชนานันท์กับการทำงานเป็น อสม.ในช่วงเวลา 8 ปี อาจจะน้อยกว่าท่านอื่นๆ ที่ได้รับรางวัล อสม.ดีเด่นระดับชาติในปีนี้ก็ตาม แต่การทำงานที่ทุ่มเทเพื่อชุมชนเป็นผลงานที่การันตีได้ว่า ชนานันท์ มีความตั้งใจที่จะพัฒนาชุมชนให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และในปี 2559 ก็ได้รับรางวัล อสม.ดีเด่นระดับชาติ ในสาขาจัดการสุขภาพชุมชน

จากจุดอ่อนของชุมชนที่มีการตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่ม เมื่อเกิดปัญหาโรคระบาดจะทำให้ระบาดได้อย่างรวดเร็วและควบคุมได้ยาก อีกทั้งยังมีปัญหาขยะที่จัดการไม่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดโรคระบาดได้ รวมทั้งการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจ

นอกจากนี้สิ่งที่เป็นอุปสรรคของการจัดการชุมชน คือ คนในชุมชนส่วนใหญ่ทำงานนอกบ้าน ไม่มีการปลูกผักกินเอง ขาดการออกกำลังกาย และคนในชุมนส่วนใหญ่ขาดการแลกเปลี่ยนความรู้

ส่วนปัญหาที่พบ คือ ปัญหาเศรษฐกิจ ได้แก่ การว่างงงาน มีหนี้สิน ปัญหาชุมชน คือ การจัดการขยะไม่ถูกต้อง และปัญหาสุขภาพ ได้แก่ การเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ยาเสพติด และความขัดแย้งในครอบครัว

ชนานันท์ เล่าว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ล้วนทำให้เกิดการมีพฤติกรรมสุขภาพไม่เหมาะสมและการจัดการตนเองที่ไม่ถูกต้อง การปรับเปลี่ยนจึงต้องเริ่มจากตนเอง พร้อมทั้งส่งเสริมทักษะ ให้ความรู้ ทัศนคติ นำมาเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาสุขภาพ

กิจกรรมเด่นที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาจึงเริ่มจากการแก้ไขปัญหาในแต่ละด้าน ปัญหาเศรษฐกิจ ได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ โดยริเริ่มให้ครัวเรือนปลูกผักปลอดสารพิษไว้บริโภค เลี้ยงสัตว์ และจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรที่เหลือจากการบริโภคในครัวเรือน ด้วยการจัดกิจกรรมโครงการ “พ่อจวก แม่ปลูก ลูกรดน้ำ” เน้นให้มีหารปลูกผักปลอดสารพิษ มีผู้เข้าร่วมโครงการ 30 ครัวเรือน กิจกรรมเลี้ยงสัตว์มีผู้เข้าร่วม 20 ครัวเรือน และการสร้างอาชีพ ด้วยการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เช่น เครื่องแกง/ขนมพื้นบ้าน กลุ่มน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น เปิดตลาดนัดสีเขียว พร้อมทั้งให้ทำบัญชีครัวเรือน ด้วยกลวิธี แบ่งจ่าย 3 ส่วน ออม 1 ส่วน หลังทำบัญชี 1 ปี จะมีการประเมินผลออกมา

ด้านปัญหาขยะ ได้ส่งเสริมให้คนในชุมชนมีการคัดแยกขยะตั้งแต่ระดับครัวเรือน วัด โรงเรียน และสถานที่ทำกิจกรรมต่างๆ ในชุมชน และริเริ่มจัดตั้งธนาคารขยะกลางขึ้น เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะที่ไม่ถูกต้อง จนทำให้เกิดโรคติดต่อในชุมชน เช่น โรคไข้เลือดออก อุจจาระร่วง การคัดแยกขยะทำให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ทุกครั้งที่มีการบริจาคขยะจะมีการบันทึกลงสมุดความดี และจะมีการมอบเกียรติบัตรให้กับครอบครัวที่ทำความดีในวันปีใหม่ของหมู่บ้าน และปัจจัยของความสำเร็จ คือ คนในชุมชนมีที่ดินเป็นของตนเอง คนในชุมชนมีความสามัคคี มี ผู้นำ/อสม.ที่เข้มแข็ง ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากทุกภาคส่วนทั้งในและนอกหมู่บ้าน

นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมอ่างทองโมเดล ที่เป็นการตกผลึกแนวคิดและกระบวนการจัดการชุมชน ที่เปิดโอกาสให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ปัญหา และร่วมแก้ไขปัญหาต่างๆ มุ่งเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทัศนคติ ทุกกลุ่มวัย เป็นการจัดระบบสุขภาพ 4 มิติ คือ สุขภาพกาย สุขภาพใจ สุขภาพสังคม และสุขภาพปัญญาได้อย่างสมดุล

การทำงานที่เป็นระบบสุขภาพจะต้องประกอบด้วย

1.ระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ

2.ระบบการจัดการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่มวัย ตามแนวทางการให้บริการสาธรณสุขมูลฐาน 12 ประเด็นของ อสม.

3.ระบบการดูแลและช่วยเหลือกัน

ทั้งนี้ชนานันท์ ยังมีความหวังว่า “อ่างทองโมเดล” จะได้ขยายไปยังหมู่บ้านข้างเคียง แต่ทั้งนี้การทำงานยังพบว่ามีอุปสรรค เช่น คณะทำงานในชุมชนยังขาดความหลากหลายของทุกช่วงวัย ขาดการบูรณาการที่เชื่อมโยงกับโลกสังคมโซเซียลในปัจจุบัน รวมทั้งคณะทำงานและ อสม.ยังมีความรู้และทักษะไม่เพียงพอในการจัดการธนาคารขยะอย่างเป็นระบบ

จากคติประจำใจที่ว่า “ขยัน รับผิดชอบ ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ มีประชาธิปไตย” ทำให้การทำงานเรื่องการจัดการชุมชนของชนานันท์ ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในชุมชน และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่คนในชุมชน เป็นอีกตัวอย่างที่ดีแก่ อสม.รุ่นต่อๆ ไป