จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมานับตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัยจนเข้าสู่สมัยรัตนโกสินทร์ การแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทยมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนมาช้านาน สมุนไพรถือเป็นหัวใจสำคัญของการแพทย์แผนไทยเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตยาแผนไทยเพื่อใช้ในการส่งเสริม ป้องกัน รักษาและฟื้นฟูสุขภาพบุคคลด้วยการแพทย์แผนไทย ทั้งยังใช้บริโภคเป็นอาหารเพื่อการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันการเกิดโรคภัยไข้เจ็บเบื้องต้นได้ รวมถึงเป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องสำอางประทินผิวและความงามสำหรับสถานประกอบการด้านความงาม เช่น ธุรกิจสปา เป็นต้น สมุนไพรยังนับว่ามีบทบาททางเศรษฐกิจในประเทศค่อนข้างสูง ตลาดและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพรก็มีมูลค่ามหาศาล 

อย่างไรก็ตาม จากรายงานการวิจัยของแผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.)พบว่าการเพาะปลูกพืชสมุนไพรในประเทศมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย กล่าวคือ ในปี 2553 จากเดิมประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกสมุนไพร  47,890 ไร่ คิดเป็นพื้นที่ 0.03% ของพื้นที่การเกษตรทั้งประเทศ มีจำนวนครัวเรือนที่เพาะปลูกพืชสมุนไพร 11,192 ครัวเรือน หรือ 0.19% ของจำนวนครัวเรือนเกษตรกร 5.87 ล้านครัวเรือนของทั้งประเทศ มาในปี 2555 มีพื้นที่เพาะปลูกสมุนไพร 45,340 ไร่ (ลดลง 5.3% จากปี 2553) และพบว่ามีพื้นที่เพาะปลูกสมุนไพรในปี 2556 จำนวน 42,553 ไร่ และปี 2557 จำนวน 34,963 ไร่ คิดเป็นพื้นที่เพาะปลูกลดลงจากปี 2557 จำนวน 18%

แต่เมื่อดูในภาพกว้างของพื้นที่เพาะปลูกทั้งประเทศแล้วแทบจะไม่มีความเปลี่ยนแปลงเลยคือมีสัดส่วนของพื้นที่เพาะปลูกเพียง 0.04% ของพื้นที่ทางการเกษตรทั้งประเทศเท่านั้น ในขณะที่จำนวนครัวเรือนที่เพาะปลูกพืชสมุนไพรมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นจาก 11,192 ครัวเรือนในปี 2553 เป็น 11,673 ครัวเรือนในปี 2555 (เพิ่มขึ้น 4.29%)

และยังพบว่าการเพาะปลูกพืชสมุนไพรส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบของเกษตรกรรายย่อย นอกนั้นยังมีการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนผลิตพืชสมุนไพร จำนวน 315 กลุ่ม และวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์แปรรูปสมุนไพรเพื่อเพิ่มมูลค่าอีกจำนวน 1,929 กลุ่ม สำหรับชนิดของพืชสมุนไพรที่มีการเพาะปลูกมากในประเทศไทย ได้แก่ กระวาน กฤษณา ขมิ้นชัน ตะไคร้หอม บัวบก พริกไทย พลู ไพลและว่านหางจระเข้ โดยมีแหล่งเพาะปลูกระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่พื้นที่หลักส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคตะวันออก ภาคตะวันตกและภาคใต้

สมุนไพรที่มีการเพาะปลูกสูงสุด 3 อันดับแรก คือ พริกไทย กฤษณา และขมิ้นชัน ขณะที่สมุนไพรที่มีพื้นที่เพาะปลูกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ว่านหางจระเข้ พริกไทย ขมิ้นชัน กฤษณา และบัวบก

ในส่วนของราคาพืชสมุนไพรบางรายการพบว่า มีมูลค่าสูงกว่าพืชการเกษตรหลัก อาทิเช่น ข้าว และพืชสมุนไพรที่มีโอกาสพัฒนาได้สำหรับเกษตรกรเนื่องจากมีราคาสูงสุด (บาทต่อกิโลกรัม) ที่เกษตรกรจำหน่ายได้ ได้แก่ ว่านหางจระเข้ พริกไทย ขมิ้นชัน กฤษณาและบัวบก

ผลผลิตสมุนไพรสามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เกษตรกรได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งด้านการผลิตเป็นสินค้าเพื่อบำรุงสุขภาพ การผลิตเพื่อเป็นยารักษาโรค หรือแม้แต่ในรูปแบบเครื่องประทินผิวและความงาม รวมถึงผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในสถานประกอบการ เช่น ธุรกิจสปา เป็นต้น

ซึ่งผู้ประกอบกิจการมีตั้งแต่ระดับเกษตรกรรายย่อย กลุ่มเกษตรกรไปจนถึงระดับบริษัทผลิตยา หรือสถานพยาบาล จากการศึกษาพบว่ารูปแบบห่วงโซ่อุปทานสมุนไพรไทยสามารถจำแนกออกได้หลากหลาย ได้แก่

รูปแบบแรก ผู้ส่งวัตถุดิบสมุนไพรอาจเป็นเกษตรกรซึ่งเพาะปลูกสมุนไพรรวมถึงกลุ่มเกษตรกรที่ทำเกษตรพันธสัญญาด้วย หลังจากเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วมีผู้รวบรวม (ยี่ปั๊ว) เข้ามารวบรวมผลผลิตทั้งหมดเพื่อจัดส่งให้กับห่วงโซ่อื่นๆ ต่อ เช่น ส่งต่อไปร้านยาหรือสถานผลิตยาต่างๆ หรืออาจนำส่งร้านขายยาแผนไทยให้แก่ผู้ค้าส่งหรือค้าปลีกต่อไป ซึ่งเมื่อสมุนไพรเดินทางมาถึงกระบวนการผลิตเป็นยาแล้วจะเป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการรักษาและจ่ายยาต่อไป เช่น แพทย์แผนปัจจุบันหรือแพทย์แผนไทยตรวจรักษาและจัดยาแก่ลูกค้าหรือผู้ป่วยต่อไปในฐานะห่วงโซ่สุดท้าย

รูปแบบที่สอง มีเกษตรกรจำนวนหนึ่งเพาะปลูกสมุนไพรเพื่อสนับสนุนแก่กิจการของหน่วยงานสถานพยาบาลอื่นๆที่ใช้สมุนไพรเป็นยาในการรักษาโรค หรือใช้สมุนไพรเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเสริมสุขภาพ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรบ้านดงบัง ตำบลดงขี้เหล็ก จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตสมุนไพรด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ส่งยังโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเพื่อผลิตเป็นยาสมุนไพรสำหรับรักษาอาการเจ็บป่วย หรือกรณีศูนย์สมุนไพร อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง ภายใต้การสนับสนุนโรงพยาบาลวังจันทร์ หรือกรณีของศูนย์แพทย์แผนไทยพนา ภายใต้โรงพยาบาลพนา จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นต้น

รูปแบบที่สาม การนำส่งพืชสมุนไพรโดยตรงจากไร่สู่ร้านยาไทยต่างๆ ในเมืองซึ่งรูปแบบการผลิตยาของร้านยาแผนไทยมีหลายรูปแบบตั้งแต่การจำหน่ายพืชสมุนไพรอบแห้ง สมุนไพรในลักษณะเป็นผง สมุนไพรในลักษณะการอัดเม็ด หรือแม้แต่การบรรจุสมุนไพรลงแคปซูล แต่รูปแบบนี้ยังเป็นประเด็นถกเถียงในแง่ประสิทธิภาพในการรักษาของสมุนไพรที่ร้านยานำมาบรรจุด้วยตัวเอง เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงว่าคุณภาพของสมุนไพรหรือสารสำคัญในการรักษาอาจมีฤทธิ์ด้อยกว่าการบรรจุและการควบคุมคุณภาพด้วยเครื่องมือเครื่องจักรที่มีมาตรฐาน เช่น สถานพยาบาล

อย่างไรก็ตาม การผลิตสมุนไพรในประเทศไทยยังพบว่าขาดแคลนสมุนไพรที่ใช้ในการผลิตยาอยู่มาก ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากพื้นที่เพาะปลูกที่มีอยู่น้อยและการให้ความสนใจของเกษตรกรต่อพืชสมุนไพร ซึ่งสมุนไพรบางรายการที่สำคัญ ประเทศไทยจำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ขมิ้นชัน แม้จะเคยติด 1 ใน 5 สมุนไพรที่ประเทศไทยผลิตเป็นอันดับต้นๆ แต่ในปี 2548 เป็นต้นมากลับต้องนำเข้าขมิ้นชันจากต่างประเทศมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากประเทศพม่าและอินเดีย

ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบข้างต้น ทางออกของกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตยาสมุนไพรส่วนหนึ่งจึงอาศัยการทำเกษตรพันธสัญญากับเกษตรกรในการเพาะปลูกเพื่อเป็นการรับประกันจำนวนวัตถุดิบสมุนไพรให้เพียงพอต่อความต้องการ เช่น โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นต้น ในขณะที่บริษัทเอกชนบางรายเลือกที่จะเพาะปลูกสมุนไพรในพื้นที่ของตนเองเพื่อป้อนแก่โรงงานผลิตยา และในกรณีที่วัตถุดิบไม่เพียงพอก็จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศในที่สุด

เก็บความจาก

มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด,ณัฏฐาภรณ์ เลียมจรีสกุล. สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย ในชีวิตคนไทย.เชียงใหม่: แผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.), 2557,หน้า 31-49.