คอบช.เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค จี้ อย.เดินหน้าใช้ประกาศฉลากรูปแบบใหม่ โดยไม่ต้องมีการปรับแก้ ตามที่ “ประชารัฐกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร” เสนอ เพื่อปกป้องสิทธิพื้นฐานของผู้บริโภค ชี้ อย.กำลังทำลายการคุ้มครองผู้บริโภคหากเดินตามข้อเสนอของโครงการสานพลังประชารัฐที่ขอแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 367 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ อ้างเป็นอุปสรรคต่อการค้า และมีข้อกำหนดหลายประการไม่สามารถปฏิบัติได้ ทั้งๆ ที่ประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้รวมช่วงเวลาผ่อนผันให้ใช้ฉลากเก่ากว่า 2 ปี ซึ่งมีหลายบริษัทได้เปลี่ยนแปลงฉลากตามประกาศดังกล่าวแล้ว
เมื่อวันที่ 15 ส.ค.59 ณ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข คณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ยื่นหนังสือคัดค้าน อย. ให้หยุดการพิจารณาปรับแก้ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 367 เรื่องการแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ
โดยระบุว่า จากการที่ประชารัฐกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารขอให้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ.2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ ให้กลับมาใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 194) พ.ศ.2543 เรื่องฉลาก โดยประชารัฐกลุ่มนี้อ้างในเอกสารว่า ไม่สามารถทำตามประกาศ สธ.ที่ 367 เพราะ มีข้อจำกัดมากมาย ไม่สามารถปฏิบัติได้จริงและสับสน และไม่สามารถทำฉลากใช้ร่วมกับประเทศอื่นได้ ต้องมีสต็อกฉลากเฉพาะขายในประเทศไทยทำให้ต้นทุนสูง ซึ่งภายหลังมีการปรับข้อเสนอเป็นให้แก้ไขประกาศฯ แทน และได้มีการนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และการแสดงฉลากอาหาร ของ อย. เพื่อให้มีการพิจารณาปรับแก้ประกาศฯ ฉบับที่ 367 เรื่อง การแสดงฉลากฯ ในวันนี้ และ คอบช.ได้มีการแถลงข่าวสนับสนุนให้ อย. เดินหน้าใช้ ประกาศฯ ฉบับที่ 367 เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 59 นั้น
นายพชร แกล้วกล้า
นายพชร แกล้วกล้า นักวิชาการ คอบช. กล่าวว่า ประกาศฯ ฉบับที่ 367 มีความก้าวหน้าในการยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านฉลาก โดย มีการเพิ่มเติมการให้ข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร การแสดงรายการวัตถุเจือปนอาหารตามกลุ่มหน้าที่ซึ่งการแสดงนี้ครอบคลุมถึง วัตถุเจือปนอาหารที่ติดมากับวัตถุดิบที่ใช้การผลิตด้วย การกำหนดให้แสดงชื่อผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย รวมถึงประเทศที่ผลิต การกำหนดขนาดอักษรในการแสดงฉลากให้สอดคล้องกับขนาดพื้นที่ฉลากเพื่อให้ฉลาก สามารถอ่านได้ ซึ่งข้อปรับปรุงเหล่านี้ เป็นการปรับปรุงจากปัญหาต่าง ๆ ที่ อย.พบเจอมาในอดีต โดยได้ดำเนินการภายใต้แนวทางของมาตรฐานอาหารสากล (CODEX) ซึ่งถือเป็นการยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านฉลากอาหารของประเทศไทย
ดังนั้น หากคณะอนุฯ ของ อย.ชุดนี้ มีการพิจารณาปรับแก้ตามข้อเสนอของ ประชารัฐ ที่โดยรวม เสมือนจะให้กลับไปปฏิบัติแบบประกาศฯ ฉบับเดิม (194) นั้น จะเป็นการถอยหลังเข้าคลองอย่างรุนแรง อาจเป็นการลิดรอนสิทธิพื้นฐานของผู้บริโภคซึ่งเป็นสิทธิที่ถูกระบุไว้ทั้งใน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 (ข้อ 1 สิทธิที่จะได้รับข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ) และเป็นสิทธิผู้บริโภคสากล (ข้อ 2 สิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสาร : The Right to be Informed) ทำให้เข้าข่ายทำลายการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่ง คณะอนุฯ ชุดนี้ของ อย.ต้องระวังและต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและถี่ถ้วนว่าสมควรปรับแก้ประกาศฯ ตามที่ “ประชารัฐ” เสนอมา หรือไม่ อย่างไร ซึ่งทางฝั่งภาคประชาชนมีความเห็นว่า สมควรเดินหน้าบังคับใช้ประกาศฯ ฉบับที่ 367 นี้ โดยไม่ต้องมีการปรับแก้
นายพงษภัทร หงส์สุขสวัสดิ์
นายพงษภัทร หงส์สุขสวัสดิ์ ผู้จัดการสมาคมผู้บริโภคภาคตะวันตก เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า อย.กำลังทำให้เกิดการปฏิบัติแบบ 2 มาตรฐานขึ้น ในการพิจารณาดำเนินงานภายใต้ข้อเสนอของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่แตกต่างกัน ที่ผ่านมาเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภายใต้การดำเนินงานของ คอบช.ซึ่งเป็นภาคประชาชน เคยส่งหนังสือให้ อย.พิจารณาปรับแก้ประกาศฯ เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารดัดแปรพันธุกรรม ตั้งแต่ปลายปี 2558 บัดนี้ผ่านมาเกือบ 9 เดือน อย. ดำเนินการแค่ทำหนังสือขอข้อคิดเห็นการแสดงฉลากของอาหารดัดแปรพันธุกรรม ไปยังหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่กับประเด็นนี้ การแก้ไขการแสดงฉลากอาหารในภาชนะบรรจุ ที่ “ประชารัฐ” ซึ่งเป็นกลุ่มของภาคธุรกิจ ได้เรียกร้องให้มีการปรับแก้ กลับใช้เวลาแค่ 1 เดือนก็จัดให้มีการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ด้านฉลากเป็นการเฉพาะเพื่อให้มีการพิจารณาปรับแก้ตามข้อเรียกร้อง การกระทำเช่นนี้ นำมาซึ่งคำถามว่า อย.ดูแลใครกันแน่ระหว่างผลประโยชน์ของผู้บริโภคที่เป็นประชาชนทั่วไป กับผลประโยขน์ของภาคธุรกิจ
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ตามที่นายพงษภัทร กล่าวไปแล้ว ดูเหมือนว่า อย.จะเอาใจภาคธุรกิจจนทำให้การทำงานคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคเป็นไปอย่างล่าช้า ซึ่งสำหรับกรณีนี้กลับกลายเป็นการถอยหลังลงคลองเสียด้วยซ้ำ ฉะนั้น อย.จะต้องทบทวนบทบาทของตนเองให้ดีว่าภารกิจของตนอยู่ตรงไหนกันแน่
นางสาวสารี กล่าวต่อว่า จากข้อมูลการสำรวจฉลากของ คอบช.ระหว่างวันที่ 13 – 15 กรกฎาคม 2559 ที่ระบุว่าร้อยละ 84 มีการปรับแก้การแสดงฉลากตามประกาศฯ ฉบับที่ 367 แล้ว ชี้ให้เห็นว่า ข้ออ้างของประชารัฐที่ไม่สามารถทำตามประกาศ สธ.ที่ 367 นั้น ไม่จริง จึงขอเรียกร้องให้ อย.บังคับใช้ประกาศ ฯ 367 โดยไม่ต้องมีการปรับแก้ และให้มีกระบวนการตรวจสอบทั้งก่อนการจำหน่าย (pre-marketing) และหลังการจำหน่าย (post-marketing) อย่างต่อเนื่อง เป็นระบบ และให้มีการรายงานผลการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดฐานแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ต่อสาธารณะให้รับทราบด้วย เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีข้อมูลประกอบการเลือกสินค้าของตน
ทั้งนี้หากต้องมีการปรับแก้ประกาศ สธ.ใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับฉลากอาหาร ขอให้ดำเนินการภายใต้มาตรฐานเดียวกันเพื่อส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภคของ ประเทศไทยให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล
ดร.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ
ด้าน ดร.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตัวแทนรับมอบหนังสือจากคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาค ประชาชน (คอบช.) และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค พร้อมรับปากว่าจะนำประเด็นดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุมในเรื่องที่ยังไม่ชัดเจน และจะพิจารณาให้เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย
ทั้งนี้ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) และเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศจะตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเข้มข้น จะไม่ปล่อยให้ มีการทำลายการคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิผู้บริโภคอย่างเด็ดขาด
ข้อเท็จจริง
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ.2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2557 บังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้ใช้ฉลากเดิมที่เหลืออยู่ต่อไป แต่ไม่เกิน 2 ปี ซึ่งวันสุดท้ายของการใช้ฉลากเดิมคือวันที่ 4 ธันวาคม 2559
ขอบคุณข่าวจาก องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน
- 78 views