กรมควบคุมโรค เตือนโรคพิษสุนัขบ้าพบได้ทั้งปี พร้อมแนะประชาชนป้องกันโรคด้วยคาถา 5 ย. “อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแย่ง อย่าหยิบ อย่ายุ่ง กับสุนัขที่ไม่มีเจ้าของ หรือไม่ทราบประวัติ” จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า
นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้าสามารถพบได้ตลอดทั้งปี ซึ่งโรคนี้ยังไม่มีทางรักษาให้หายได้ ผู้ป่วยจะเสียชีวิตทุกรายหากติดเชื้อและมีการแสดงอาการแล้ว ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่าในปี 2559 นี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 3 กรกฎาคม 2559 มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 6 ราย จากจังหวัดฉะเชิงเทรา 2 ราย และจังหวัดตาก ระยอง สมุทรปราการ สงขลา จังหวัดละ 1 ราย
นพ.อำนวย กล่าวต่อว่า การติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการถูกสุนัขหรือแมวกัด-ข่วน แล้วไม่ได้รับการดูแลรักษาหรือเข้ารับฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างถูกต้อง ดังนั้นหากถูกสุนัขหรือแมวที่สงสัยว่าเป็นโรคกัด ข่วน เลีย น้ำลายกระเด็นเข้าทางตา ปาก หรือทางผิวหนังที่มีบาดแผล ควรรีบปฐมพยาบาล ล้างแผลทันทีด้วยน้ำและฟอกด้วยสบู่หลายๆ ครั้ง แล้วเช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโพวีโดนไอโอดีน ถ้าไม่มีให้ใช้แอลกอฮอล์ 70% หรือทิงเจอร์ไอโอดีน จากนั้นไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่องตามเวลาและครบชุด
อาการของโรคพิษสุนัขบ้า เริ่มจาก 2-3 วันแรก ผู้ป่วยจะเบื่ออาหาร เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว มีไข้ อ่อนเพลีย ชา เจ็บเสียว หรือปวดบริเวณรอยแผลที่ถูกกัด คันอย่างรุนแรงที่แผลและลำตัว ต่อมาจะมีอาการกระสับกระส่าย กลัวแสง กลัวลม ไม่ชอบเสียงดัง เพ้อเจ้อ กลืนลำบาก โดยเฉพาะของเหลว กลัวน้ำ และกล้ามเนื้อขากระตุก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หรืออาจชัก เกร็ง อัมพาต หมดสติ และตายในที่สุด
สำหรับการป้องกันโรค ขอแนะนำให้เจ้าของพาสุนัขของตนเองไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เมื่อสุนัขมีอายุ 2-3 เดือนขึ้นไป และฉีดวัคซีนเป็นประจำทุกปี รวมถึงหากพบเห็นสัตว์ที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคพิษสุนัขบ้า คือมีอาการหางตก เดินโซเซ น้ำลายย้อย ลิ้นห้อย ตาขวาง ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือผู้นำชุมชน และช่วยกันจับอย่างระมัดระวังอย่าให้ถูกกัดหรือข่วน จากนั้นกักสัตว์ไว้ดูอาการ 10 วัน หากสัตว์ตายให้นำหัวสัตว์หรือตัวสัตว์ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์ ต่อไป
นอกจากนี้ การขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง ไม่ปล่อยทิ้งเป็นสุนัขจรจัด ก็เป็นอีกวิธีที่ประชาชนสามารถช่วยรัฐในการแก้ปัญหาได้ และการมีความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงความรุนแรงของโรคพิษสุนัขบ้า รู้จักวิธีป้องกันไม่ให้สุนัขกัดหรือทำร้าย ด้วย คาถา 5 ย. “อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแย่ง อย่าหยิบ อย่ายุ่ง กับสุนัขที่ไม่มีเจ้าของ หรือไม่ทราบประวัติ” จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า
นพ.อำนวย กล่าวว่า ในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้สำเร็จได้นั้น ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกัน ทั้งหน่วยงานด้านสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชน เพื่อสร้างระบบการติดตามผู้ถูกสุนัขกัดให้มารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกคน ไม่ให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ โดยมี อสม.ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นติดตามผู้ถูกสุนัขกัดทุกคนให้ไปพบแพทย์ เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าก่อน ไม่ให้ตัดสินใจด้วยตนเองว่าสุนัขนั้นไม่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า
หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรคโทร 1422
- 60 views