สธ.บรรจุวัดความดันโลหิตด้วยตนเองที่บ้านเป็น Service Plan ให้มีปฏิบัติใน รพ.ทั่วประเทศ หลังพบผู้ป่วยวัดความดันที่ รพ.ก่อนพบแพทย์มีค่าสูงกว่าความเป็นจริงถึง 30% เหตุ เหนื่อย เครียด ส่งผลแพทย์ให้ยาเกินจำเป็น ชี้การวัดความดันเองที่บ้านจะช่วยเตือนคุมระดับความดันโลหิต ปี 59 จับมือ คณะแพทย์ฯ จุฬาฯ ทำวิจัยใน 84 รพ. ระดมทุนซื้อเครื่องวัดความดันโลหิตให้ รพ.เพื่อให้ผู้ป่วยไปวัดเองที่บ้าน 7 วันก่อนพบแพทย์ พร้อมวัดซ้ำที่ รพ.เพื่อเก็บข้อมูล
วันนี้ (10 สิงหาคม 2559) นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มอบนโยบายการดูแลรักษาโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน ตามโครงการ “เฉลิมพระเกียรติแปดสิบสี่พรรษา มหาราชินี ชุบชีวีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง” แก่แพทย์ พยาบาลจากโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศกว่า 300 คน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 12 สิงหาคม 2559
นพ.โสภณ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้บรรจุให้การวัดความดันโลหิตด้วยตนเองที่บ้าน เป็นกิจกรรมในแผนพัฒนาระบบบริการ (Service plan) ให้มีการปฏิบัติในโรงพยาบาลทั่วประเทศ เนื่องจากพบว่าเมื่อผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง มาวัดระดับความดันโลหิตที่โรงพยาบาลก่อนพบแพทย์ จะมีค่าสูงกว่าความเป็นจริงถึงร้อยละ 30 สาเหตุจากความเหนื่อย ความเครียด หรือเกิดปฏิกิริยาต่างๆ ส่งผลให้แพทย์ผู้ทำการรักษาให้ยาเกินความจำเป็น ซึ่งการวัดความดันโลหิตเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการรักษาและควบคุมการเกิดโรค ภาวะแทรกซ้อน เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหลอดเลือดหัวใจ การตายจากความดันโลหิตสูง เนื่องจากโรคนี้มักจะไม่มีอาการอะไรบ่งบอก หรือที่เรียกว่า “ฆาตกรเงียบ” และการวัดความดันโลหิตเองที่บ้าน จะช่วยเตือนให้ควบคุมระดับความดันโลหิต ซึ่งเป็นวิธีการแก้ปัญหาโรคความดันโลหิตสูงที่ทั่วโลกใช้
ในปี 2559 กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสาขาวิชาอายุรศาสตร์หัวใจและหลอดเลือด และสาขาวิชาต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำโครงการวิจัยขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม โดยสร้างทีมงาน “วัดความดันโลหิตที่บ้าน” และสร้าง “ห้องสอนแสดงเบาหวาน” ประจำโรงพยาบาล 84 แห่งทั่วประเทศ มีการดำเนินการดังนี้
1.จัดคอนเสิร์ตการกุศล ระดมทุนจัดซื้อเครื่องวัดความดันโลหิตด้วยตนเองที่บ้าน ให้กับสถานพยาบาล 84 แห่งทั่วประเทศ
2.อบรมแพทย์ 1 คน พยาบาล 2 คน (Case manager) จากโรงพยาบาล 77 จังหวัด และโรงพยาบาล 7 แห่งที่มีศูนย์แพทย์ศึกษาในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสร้างทัศนคติ ให้ความรู้ ทักษะการวัดความดันโลหิตด้วยตนเอง การจัดตั้งและบริหารจัดการคลินิกวัดความดันโลหิตที่บ้าน ความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน เทคนิคการตรวจระดับน้ำตาลปลายนิ้ว การจัดตั้งและบริหารจัดการห้องสอนแสดงเบาหวานในโรงพยาบาล
3.โรงพยาบาลที่ร่วมโครงการ มอบเครื่องวัดความดันโลหิตให้ผู้ป่วยไปวัดเองที่บ้าน 7 วันก่อนมาพบแพทย์ นำค่าความดันที่วัดได้มาให้แพทย์ที่รักษา พร้อมวัดซ้ำที่โรงพยาบาล เก็บข้อมูลทั้งบ้านและโรงพยาบาล ส่งผ่านระบบออนไลน์ไปยังหน่วยวิจัยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ใช้เวลาดำเนินการ 2 ปี
ทั้งนี้ การสำรวจภาวะสุขภาพประชาชนไทยครั้งที่ 5 ปี 2557 พบคนไทยมีอัตราการป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงมากที่สุด พบมากถึง 14 ล้านคน ซึ่งภาวะความดันโลหิตสูงทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ เลือดออกในสมอง สมองขาดเลือด หัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลว น้ำคั่งในปอด ไตวาย เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ นอกจากนี้ ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ ค่าใช้จ่ายจากการมีผู้ดูแล ขาดงาน สูญเสียผลผลิต ความพิการ เกษียณอายุก่อนวัย เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ข้อมูลจากกรมการแพทย์ปี 2557 การรักษาผู้ป่วยโรคนี้หากเป็นผู้ป่วยนอกมีค่าใช้จ่าย 831 บาท/คน/ปี ผู้ป่วยใน 4,586 บาท/คน/ปี ถ้ามีผู้ป่วย 10 ล้านคน ต้องเสียค่าใช้จ่าย 79,263 ล้านบาท/ปี
- 79 views