กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เสนอแก้ กม.บัตรทอง ยันเจตนารมณ์คุ้มครองทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย ย้ำให้อำนาจบอร์ด สปสช.ดูแนวนโยบาย จัดระบบหลักประกันสุขภาพรองรับทุกกลุ่ม ไม่ใช่นำเงินกองทุนฯ ดูแลแรงงานข้ามชาติแจงรายมาตราสู่การแก้ไขปัญหาต่อการบริหารระบบส่งผลกระทบเข้าถึงบริการประชาชน แถมหนุนตัด ม.42 ไล่เบี้ยผู้กระทำผิดหลังเยียวยา ชี้ข้อเสนอภาคีวิชาชีพภาพรวมมุ่งปกป้องวิชาชีพ พร้อมระบุ สนช.ต้องรับฟังความเห็นรอบด้าน
น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา
น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ในการประชุมหารือประเด็นการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 จัดโดยอนุกรรมการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ภายใต้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ผ่านมา กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพพร้อมด้วยเครือข่ายภาคประชาชน ได้มีข้อเสนอเพื่อแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ โดยยืนยันเจตนารมณ์กฎหมายที่ประชาชนทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย ต้องได้รับสิทธิในการรับบริการสาธารณสุข เพื่อให้เกิดการดูแลทุกคนเข้าถึงการรักษาได้ไม่ว่าจะเป็นใคร โดยไม่มีปัญหาอุปสรรคทางการเงิน ด้วยเหตุนี้จึงเสนอให้การตีความบุคคลตามมาตรา 5 ที่ให้รวมถึงคนทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนไทยผลัดถิ่น คนต่างด้าว และแรงงานข้ามชาติ เป็นต้น
ทั้งนี้เพื่อให้บอร์ด สปสช.ทำหน้าที่ดูแลแนวนโยบายเพื่อให้ทุกคนในประเทศมีหลักประกันสุขภาพได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะนำเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไปดูแลทุกคนทั้งหมด เป็นเพียงการจัดหลักประกันสุขภาพรองรับทุกคนในประเทศอย่างเหมาะสมเท่านั้น ส่วนกรณีแรงงานข้ามชาติซึ่งมีนายจ้าง ให้นำบุคคลดังกล่าวเข้าสู่ระบบประกันสังคมเพื่อคุ้มครอง แรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองไม่ถูกกฎหมาย ให้ซื้อบัตรประกันสุขภาพซึ่งดำเนินการโดยกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการจัดการดูแลด้านสุขภาพคนทุกคนในประเทศได้อย่างทั่วถึง
“ข้อเสนอนี้อยากให้บอร์ด สปสช.สามารถช่วยกันคิดเรื่องระบบได้ ไม่ใช่หมายความว่าเราจะนำเงินกองทุนบัตรทองไปดูแรงงานต่างด้าว แต่เราจะดูแลระบบอย่างไรเพื่อให้ระบบที่มีอยู่ในประเทศครอคลุมคนทั้งหมดไม่ให้ตกหล่น ซึ่งกฎหมายเขียนไว้ถึงบุคคล แต่ด้วยการตีความที่แคบ ทำให้บอร์ด สปสช.ไม่มีสิทธิไปดูแลคนอื่น แม้แต่กลุ่มคนไทยผลัดถิ่นเอง จนมีมติ ครม. ปี 2553 จัดตั้งกองทุนบุคคลที่รอพิสูจน์สัญชาติและมอบกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ดูแลที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากงบกองทุนนี้เพียงแค่กว่าพันล้านบาท ทำให้เกิดข้อจำกัดบริการ ทั้งที่ควรมีการรวมเป็นกองทุนใหญ่”
น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวว่า ส่วนข้อเสนอแก้ไขในมาตรา 3 การจัดบริการสาธารณสุขนั้น ข้อเสนอนี้จะไม่เกิดขึ้นหากการตีความบริการสาธารณสุขครอบคลุมถึงบริการสุขภาพ การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคด้วย ซึ่งในช่วงร่างกฎหมายเนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีคำว่าบริการสุขภาพ ดังนั้นเมื่อมีการตีความจำกัด จึงถึงเวลาที่ต้องทำให้เกิดความชัดเจน ไม่ตีความที่ไขว้เขวและส่งผลต่อการปฏิบัติ ทั้งนี้จากการตีความที่จำกัดเฉพาะคำว่าบริการสาธารณสุข ส่งผลให้งบเหมาจ่ายรายหัวที่ สปสช.ส่งไปยังหน่วยบริการ ทำให้ไม่สามารถไปใช้จ่ายอื่นเพื่อสนับสนุนบริการได้ ถูกจำกัดแค่ค่ายาและเวชภัณฑ์เท่านั้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการบริการประชาชน
อีกทั้งการกระจายงบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคไม่ควรจำกัดเฉพาะหน่วยบริการ แต่ควรให้มีการกระจายไปยังองค์กรอื่นๆ ได้ เพื่อสนับสนุน เนื่องจากปัจจุบันเพียงแค่งานด้านการรักษาพยาบาล หน่วยบริการมีภาระหนักอยู่แล้ว แม้แต่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ยังทำไม่ได้เต็มที่ จึงต้องมีการสนับสนุนเพิ่มเติม อีกทั้งหลักการสำคัญของการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ต้องให้ชุมชนและประชาชนมีส่วนร่วมดูแลตนเอง ดังนั้นจึงมีการเสนอปรับแก้ให้เกิดความชัดเจน รวมถึงการขยายนิยามที่ให้ครอบคลุมเรื่องสุขภาวะ ส่งแวดล้อมทางกายภาพ และสังคม เช่นเดียวกับองค์การอนามัยโลกที่ให้นิยามส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวว่า สำหรับในส่วนของวรรค 2 มาตรา 5 ที่กำหนดต้องร่วมจ่ายค่าบริการแก่หน่วยบริการแต่ละครั้งที่เข้ารับบริการนั้น ภาคประชาชนเสนอให้ตัดออกทั้งหมด เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการเก็บเงินเพื่อร่วมจ่ายที่หน่วยบริการ และมองว่างบประมาณหน่วยบริการควรเป็นเรื่องการเงินการคลังที่จะไปจัดสรรอย่างไรในระดับประเทศ ไม่ใช่ให้หน่วยบริการมาไล่เบี้ยเก็บเงินกับประชาชน ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการรักษาได้ เพราะขณะนี้เรายังไม่สามารถแก้ไขปัญหารายได้ประชาชนที่ไม่เท่าเทียมกันได้ และหากมีการร่วมจ่ายควรอยู่บนหลักการของการจัดรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า อย่างการจัดเก็บภาษี เป็นต้น
“วันนี้เรามีการจัดเก็บภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อนำมาจัดสวัสดิการให้กับทั้งคนจนและคนรวย ทั้งยังมีอัตราก้าวหน้าสูงมากถึงร้อยละ 37 กรณีผู้มีรายได้ 4 ล้านบาทต่อปี แต่เนื่องจากรัฐมีนโยบายยกเว้นการจัดเก็บภาษีหลายกรณี จึงทำให้การจัดเก็บภาษีไม่เป็นไปตามอัตราที่กำหนด นอกจากนี้ยังไม่มีการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่งอื่นๆ อย่างภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดิน ที่จะนำมาสู่การจัดรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นจึงต้องมีการจัดเก็บภาษีสุขภาพเพื่อนำมาดูแลด้านการรักษาพยาบาลให้กับประชาชนโดยเฉพาะ”
ส่วนในมาตรา 12 นั้น น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวว่า มาตรานี้ไม่ได้เสนอปรับแก้ แต่ขอให้บอร์ด สปสช.เร่งดำเนินการตามมาตรา 12 โดยให้ สปสช.ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานจ่ายเงินและเรียกเก็บเงินจากบริษัทประกันกรณีประสบภัยจากรถ เนื่องจากเป็นปัญหามาโดยตลอด เพราะเมื่อมีอุบัติเหตุเกี่ยวกับรถยนต์และมีผู้บาดเจ็บ เมื่อเข้ารับการรักษาและขอเงินชดเชยจะมีขั้นตอนยุ่งยาก เรียกเก็บเอกสารหลักฐานจำนวนมาก และบางครั้งรถที่ประสบอุบัติเหตุก็ไม่ได้ซื้อประกัน ส่งผลให้ประกันไม่คุ้มครอง ทำให้ประชาชนต้องจ่ายเงินเอง จึงมีการเสนอให้มีการเชื่อมต่อระบบโดยให้หน่วยบริการเรียกเก็บมายัง สปสช. และ สปสช.จะเรียกเก็บจากบริษัทประกันภัยเองเพื่อไม่ให้เกิดอุปสรรคต่อการเข้าถึงการรักษา
อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีโรงพยาบาลที่เดินเรื่องเบิกจ่ายแทนผู้ประกันตน แต่พบว่ามักมีการบิดเบือนการบริการที่เกินเลย เพื่อเรียกเก็บรักษาได้เต็มจำนวนเพดานเบิกจ่ายจากบริษัทประกัน ดังนั้นหากจัดทำการเบิกจ่ายโดยรวมเป็นระบบเดียว นอกจากลดความซ้ำซ้อนการเบิกจ่ายแล้ว ยังทำให้การเบิกจ่ายเป็นไปอย่างตรงไปตรงมามากขึ้น
น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวว่า ในมาตรา 18 ซึ่งขอเพิ่ม (3) โดยขอให้ระบุชัดเจนเรื่องการคุ้มครองสิทธิประชาชนให้ได้รับยา เวชภัณฑ์ และเสนอให้บอร์ดมีอำนาจจัดซื้อที่จำเป็นในระดับประเทศได้ เนื่องจากที่ผ่านมามีการตีความการทำหน้าที่ของ สปสช.ในเรื่องนี้ ซึ่งส่งผลต่อการเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นของผู้ป่วยได้ ทั้งยาต้านไวรัสเอดส์ ยามะเร็ง สายสวนหัวใจ เป็นต้น เพื่อให้มีกฎหมายรองรับการทำหน้าที่นี่ชัดเจน
ขณะที่ในมาตรา 41 นั้น เห็นตรงกับทุกฝ่าย คือควรขยายการคุ้มครองสิทธิเมื่อได้รับความเสียหายจากบริการสาธารณสุข โดยให้ครอบคลุมถึงผู้ให้บริการด้วย ส่วนมาตรา 42 กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเห็นด้วยกับข้อเสนอสภาวิชาชีพที่ให้ตัดมาตรานี้ออก เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการไล่เบี้ยผู้ให้บริการหลังเกิดความเสียหาย ซึ่งเงินจำนวนนี้เป็นเพียงการชดเชยความเสียหายเบื้องต้น ไม่ได้พิสูจน์ถูกผิด จึงไม่อยากให้ผู้ให้บริการไม่สบายใจ อีกทั้งเมื่อมองย้อนหลังกลับไป ยังไม่เคยมีการไล่เบี้ยตามมาตรา 42 แต่อย่างใด นอกจากนี้การตัดมาตรา 42 ไม่ได้ตัดสิทธิการฟ้องอาญา หรือการพิสูจน์ถูกผิด เพราะยังมีกฎหมายอื่นรองรับ
ส่วนข้อเสนอแก้ไขในมาตราอื่น น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวว่า ยังมีในมาตรา 13 ให้ตัด (5) เพราะไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารระบบและกองทุน ควรไปอยู่ในมาตรา 48 ที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการควบคุมคุณภาพบริการและมาตรฐานบริการด้านสาธารณสุข พร้อมกันนี้ให้เพิ่มผู้แทนโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลจังหวัดในฐานะผู้ให้บริการในระดับพื้นที่ซึ่งต้องใช้งบประมาณกองทุนฯ นอกจากนี้ขอให้เพิ่มในมาตรา 47 ให้สอดคล้องกับ ม.18 (9) ให้องค์กรเอกชน องค์กรสาธารณประโยชน์ที่ไม่แสวงหากำไร และมีความพร้อม เข้าร่วมดำเนินการและบริหารกองทุนในระดับท้องถิ่น ชุมชน
ต่อข้อซักถามว่า มองอย่างไรต่อข้อเสนอของทางฝ่ายภาคีสภาวิชาชีพในการแก้กฎหมายบัตรทอง น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวว่า เท่าที่ดูเป็นการมุ่งเพื่อปกป้องวิชาชีพตนเอง ตั้งแต่การกำหนดนิยามการบริการสาธารณสุข ซึ่งขอให้จำกัดเฉพาะหน่วยบริการ รวมไปถึงงานส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค พร้อมกันนี้ยังมีข้อเสนอการตั้งบอร์ดเพื่อควบคุมาการทำงานของเลขาธิการ สปสช. ทั้งที่ปัจจุบันเรามีบอร์ด สปสช.ซึ่งทำหน้าที่ดูเรื่องนโยบายและคอยกำกับอยู่แล้ว รวมทั้งมีบอร์ดควบคุมคุณภาพและมาตราฐานการบริการ หากตั้งอีกชุดหนึ่ง สำนักงานคงทำหน้าที่เพียงจัดประชุม ดังนั้นควรมีช่องว่างเพื่อให้สำนักงานได้ทำงานด้วย และที่ผ่านมาการทำหน้าที่ของเลขาธิการ สปสช.ไม่เคยใช้อำนาจจนทำให้กองทุนเกิดปัญหา จึงไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้
ขณะที่ข้อเสนอแก้ไขกฎหมายของภาคประชาชน นอกจากเป็นไปเพื่อให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าดำเนินไปตามเจตนารมณ์ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ แล้ว ยังเป็นการแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคการทำงานของ สปสช. ตามที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ตรวจสอบก่อนหน้านี้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อการเข้ารับบริการของประชาชน
น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวว่า การแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ แม้ว่ามีข้อเสนอที่แตกต่าง แต่อยากให้เปิดรับฟังความเห็นและถกเถียงหารือกันด้วยเหตุผล โดยยึดหลักการที่มุ่งสร้างระบบหลักประกันสุขภาพให้กับประชาชน อย่าตั้งป้อมมองว่าประชาชนเข้าใช้บริการที่เกินจำเป็น ฟุ่มเฟือย และพยายามจำกัดการใช้สิทธิ์ ให้ร่วมจ่าย ซึ่งจะทำให้เป็นปัญหาต่อการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของประชาชนได้ ทำลายหลักการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ขณะเดียวกันเรื่องแก้ไขกฎหมายฉบับนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จึงขอให้ สนช.ยึดตามหลักการที่กล่าวมาข้างต้น และเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยต้องมองเห็นปัญหาและความทุกข์ด้านสุขภาพของประชาชนที่ต้องได้รับการดูแล ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์และระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทยดำเนินไปทิศทางที่ถูกต้อง
- 4 views