ปธ.กมธ.สาธารณสุข สนช. ยืนยัน ร่าง รธน.เนื้อหาไม่ล้มบัตรทอง แถมช่วยหนุนระบบสู่ความยั่งยืน แนะวิจารณ์ต้องมองภาพรวมทั้งฉบับ โยง กม.ที่เกี่ยวข้อง อย่าหยิบตีความแค่บางประโยค พร้อมระบุสิทธิบริการสาธารณสุขประชาชนยังคงอยู่ ไม่ต่างจากเดิม มอง กรธ.ระบุ “ผู้ยากไร้” เหตุหวั่นคนยากจนเข้าไม่ถึงบริการ หากอนาคตจำเป็นต้องร่วมจ่าย ส่วนการโยงประเด็นล้มบัตรทอง แค่หาประเด็นโดนใจ ปชช. ร่วมลงมติไม่รับร่าง รธน.
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวถึงเนื้อหาสิทธิด้านสุขภาพในร่างรัฐธรรมนูญที่เตรียมจะเปิดลงประชามติในวันที่ 7 ส.ค. 59 นี้ ว่า ภาพรวมของเนื้อหาด้านสุขภาพไม่มีอะไรใหม่และมีเนื้อหาคล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญปี 2540 และ2550 เพียงแต่มีการปรับถ้อยคำเท่านั้น เนื่องจากระบบสุขภาพของประเทศมีการดำเนินมาก่อนหน้านี้แล้ว อย่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งต้องบอกว่าเดินมาไกลมาก ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะเขียนเนื้อหาให้ไกลไปกว่าที่เป็นอยู่
ส่วนในมาตรา 47 ซึ่งถูกตีความว่าเป็นการจำกัดสิทธิระบบบริการสุขภาพประชาชน โดยมีการระบุคำว่าผู้ยากไร้ในวรรค 2 ประเด็นนี้เรื่องสิทธิรักษาพยาบาล ผู้ร่างได้เขียนไว้แล้วในวรรคแรก มาตรา 47 เพียงแต่ในวรรคที่ 2 ที่มีการเขียนคำว่าผู้ยากไร้ ได้ถูกนำไปตีความและบิดเบือนว่าเป็นการล้มระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งยืนยันว่าไม่ใช่ เพราะมาตรา 47 วรรค 2 นั้น ผู้ร่างได้พ่วงกับมาตรา 258 อนุ ข.(4) ที่กำหนดให้ต้องมีการปรับระบบสุขภาพ ทั้งเรื่องระบบสุขภาพยังอยู่ในการปฏิรูปประเทศหมวด 16 ดังนั้นการพิจารณากฎหมายจะนำเพียงมาตราเดียวมาตีความคงไม่ได้ แต่ต้องพิจารณาภาพรวมมาตราอื่นๆ ร่วมด้วย รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยประชาชนยังคงได้สิทธิจากการบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดการเข้าถึง และได้รับบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและมาตรฐานะ สะดวกทัดทียมเช่นเดิม
“เจตนารมณ์ของ กรธ.ที่ได้ระบุคำว่าผู้ยากไร้นั้น ผมคงพูดแทนไม่ได้ แต่ในฐานะประชาชนที่ได้อ่านและแปลความกฎหมาย มองว่าเป็นการเขียนเพื่อรองรับอนาคตไว้เท่านั้น ทั้งนี้การล้มระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคงเป็นไปไม่ได้ คงไม่มีใครกล้าล้มและประชาชนคงไม่ยอม เพียงแต่การทำให้ระบบมีความยั่งยืนได้นั้น ต้องทำให้การบริการภายใต้ระบบนี้มีคุณภาพ นั่นหมายถึงต้องมีเงินเพิ่มเข้าไปในระบบ โดยในเรื่องนี้ต่อไปในรัฐบาลหน้า หากมีนโยบายร่วมจ่าย แม้ว่าทุกคนจะเห็นตรงกันว่าต้องเป็นการร่วมจ่ายก่อนป่วย แต่หากงบประมาณไม่เพียงพอ การร่วมจ่ายหลังป่วยก็อาจเป็นสิ่งจำเป็น เมื่อถึงวันนั้นประชาชนผู้ยากไร้ต้องไม่เดือนร้อน”
ส่วนที่มีการตัดคำว่า “เสมอภาค” ออกไป เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับเดิมนั้น นพ.เจตน์ กล่าวว่า ในประเด็นนี้คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญได้ระบุว่า สิทธิอะไรที่ไม่ได้ระบุในร่างรัฐธรรมนูญ เป็นสิทธิที่ประชาชนมีอยู่ในตนเองอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่ต้องระบุถึง นั่นหมายความว่าการไม่ได้เขียนไม่ได้หมายความว่าไม่มี อย่างกรณีคำว่าเสมอภาค ส่วนสิทธิที่มีการระบุในร่างรัฐธรรมนูญก็เพื่อให้สิทธิดังกล่าวเด่นชัดขึ้นเท่านั้น อย่างสิทธิการรับบริการสาธารณสุขที่อยู่ในมาตรา 47 นี้
นอกจากนี้ในเรื่องสิทธิยังถูกกำหนดไว้ในหน้าที่ของรัฐที่ต้องจัดทำให้กับประชาชนด้วย ซึ่งประชาชนไม่ต้องไปร้องขอ อีกทั้งในมาตรา 55 ยังพ่วงด้วยคำว่าประสิทธิภาพ คุณภาพและมาตรฐานตามของเสนอของคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั่นหมายถึงรัฐต้องจัดบริการสาธารณสุขให้กับประชาชนภายใต้ 3 คำนี้ ซึ่งจะทำให้บริการสาธารณสุขมีคุณภาพและมาตราฐานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้หากรัฐไม่จัดทำตามนี้ ในที่นี้คือโรงพยาบาลรัฐ ประชาชนย่อมมีสิทธิไปฟ้องร้องได้
นอกจากนี้ยังมีแผนการปฎิรูปประเทศซึ่งมีเรื่องการปฏิรูประบบสาธารณสุขของประเทศรวมอยู่ด้วย รวมถึงร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ ที่อยู่ระหว่างการจัดทำขณะนี้ ซึ่งในมาตรา 65 มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณสุขโดยตรง โดยการจัดทำให้ได้มีการเน้นการมีส่วนร่วม การรับฟังเสียงประชาชนทุกภาคส่วน โดยโยงเข้ากับมาตรา 275 ในร่างรัฐธรรมนูญ จะเห็นได้ว่าระบบสุขภาพมีอยู่ในหลายส่วนและซับซ้อน ซึ่งทั้งหมดล้วนมีจุดหมายเพื่อให้ระบบหลักประกันสุขภาพประเทศมีความยั่งยืน ดังนั้นการมองหรือวิจารณ์ โดยเฉพาะร่างรัฐธรรมนูญจะหยิบเพียงข้อความเดียวและนำไปตีความขยายไม่ได้ แต่ต้องมองภาพรวมทั้งหมด
ต่อกรณีที่ผ่านมีการเชื่อมโยงประเด็นสิทธิด้านสุขภาพเพื่อนำไปสู่การไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น นพ.เจตน์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของฝ่ายต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญ โดยพยายามหาจุดโดนใจประชาชนมาบิดเบือนและโจมตีให้ไม่มีการรับร่าง ทั้งในเรื่องการศึกษา สาธารณสุข และศาสนา ซึ่งประเด็นอื่นตนเองอาจแสดงความเห็นได้ไม่ชัดเจน แต่เรื่องสิทธิด้านสุขภาพนั้น ยืนยันได้ว่าเท่าที่ดูเจตนารมณ์ไม่ได้เป็นการล้มบัตรทอง ทั้งนี้เรื่องนี้ประชาชนอาจไม่ต้องฟังตามที่ตนแสดงความเห็น แต่อยากให้ประชาชนอ่านและพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจเพื่อลงประชามติว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่
“วันนี้ระบบสุขภาพของประเทศไทยเราเดินมาไกลมาก โดยเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้ทุกประเทศต้องมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้อย่างทั่วถึงในปี 2573 แต่ประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพตั้งแต่ 14 ปีที่แล้ว หรือก่อนที่องค์การสหประชาชาติกำหนดเป้าหมาย 28 ปี จึงเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าไม่มีใครล้มระบบหลักประกันสุขภาพได้ เพียงแต่ทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืน หากปล่อยและคงระบบไว้แบบนี้จะส่งผลต่อประสิทธิภาพ คุณภาพและมาตรฐานบริการที่ลดลง ซึ่งท้ายสุดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะล้มลงด้วยโครงสร้างที่ดำเนินอยู่แบบนี้ จึงจำเป็นต้องมีการปรับระบบเพื่อให้ก้าวต่อไปได้”
ต่อข้อซักถามว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านการลงประชามติจะส่งผลอย่างไรต่อระบบสุขภาพของประเทศ นพ.เจตน์ กล่าวว่า แม้ว่าไม่ผ่านเรายังมี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติอยู่ ซึ่งคงไม่มีปัญหา เพียงแต่วันนี้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เดินมาไกลจำเป็นต้องมีการปรับปรุง ซึ่งแม้แต่ นพ.สงวน นิติยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะผู้ที่เริ่มผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังเคยพูดไว้ว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ได้สมบูรณ์ จำเป็นต้องมีการปรับปรุงตามระยะเวลาเพื่อเกิดความเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป เพียงแต่ต้องยึดประโยชน์ประชาชนสูงสุด ไม่ใช่ประโยชน์ของผู้เสนอแก้ไขกฎหมาย แต่หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ คงต้องยึดรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายหลัก โดยกฎหมายอะไรที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญต้องมีการปรับเพื่อให้สอดคล้อง แต่ในส่วนของกฎหมายด้านสุขภาพมีความก้าวหน้าอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่ต้องแก้ไข แต่ทำอย่างไรให้เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพ คุณภาพและมาตรฐานที่ดีให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่องเท่านั้น