"เท้าที่เป็นแผลเน่าของผู้ป่วยเบาหวาน เมื่อมาหาหมอทีไรจะส่งกลิ่นเหม็นไปหมด อีกทั้งเท้าคนมองว่าเป็นของต่ำ คนที่ทำได้ใจจะต้องสูงพอ"
จากคำกล่าวของพยาบาลต่าย หรือ นางสาววิวัชรา ชมภูนุช พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอีกคนหนึ่งที่ผลักดันให้เกิดการดูแลรักษาแผลที่เกิดจากโรคเบาหวานให้กับผู้ป่วยได้ และช่วยไม่ให้ผู้ป่วยถูกตัดอวัยวะได้ กลายเป็นคนพิการ ที่ผู้ป่วยหลายๆ คนบอกว่า เธอ คือ ”นางฟ้าของผู้ป่วยเบาหวาน”
วิวัชรา ชมภูนุช
วิวัชรา กล่าวว่า เดิมเป็นพยาบาลทำงานในห้องฉุกเฉิน งานในแต่ละวันคือ การทำแผล เย็บแผล ช่วยชีวิตผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉิน ทำงานอยู่ตรงนั้นมานานเกิดความเบื่อหน่าย อยากจะทำงานให้อะไรก็ได้ ที่ให้ความรู้สึกที่แตกต่างกว่าการทำงานในห้องฉุกเฉิน อีกทั้งในโรงพยาบาลยังพบว่ามีผู้ป่วยเบาหวานที่มีปัญหาเท้าเบาหวานส่วนมากพอเกิดแผลเน่าจะถูกตัดทิ้งทำให้เรารู้สึกว่า งานนี้เป็นงานที่น่าสนใจว่าจะทำได้อย่างไรที่จะรักษาแผลของผู้ป่วยเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยถูกตัดขาหรือเท้า
“แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าเราไม่มีความรู้เรื่องการดูแลรักษาแผลผู้ป่วยเบาหวาน ว่าต้องทำอย่างไรที่จะทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องสูญเสียอวัยวะ บวกกับเวลาที่จะทำอะไรแล้วจะต้องทำงานอย่างมีเป้าหมาย อย่างเช่นในการตรวจผู้ป่วยเบาหวาน ก็ตั้งเป้าว่าจะต้องสามารถตรวจแผลผู้ป่วยเบาหวานให้ได้ถึง 50% ของจำนวนผู้ป่วยในแต่ละวัน ดังนั้นจึงคิดว่า ถ้าเราจะช่วยเหลือผู้ป่วย เราจะต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม”
ซึ่งที่ผ่านมา รพ.สันป่าตองได้เห็นถึงความสำคัญของผู้ป่วยเบาหวานจึงได้มีการเปิดคลินิกผู้ป่วยเบาหวานขึ้นมา และได้ส่งพยาบาลวิชาชีพ 2 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือนางสาววิวัชรา ไปฝึกอบรมการดูแลเท้าที่ รพ.ตากสิน กทม., รพ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี และสถาบันราชประชาสมาสัย รวมทั้งอมรบเพิ่มเติมที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ รพ.เทพธารินทร์ จ.เชียงใหม่
วิวัชรา กล่าวว่า การทำงานดูแลแผลเรื้อรังของผู้ป่วยเบาหวานเริ่มเป็นรูปธรรมในปี 57 และพบว่า ระบบการบริหารบางส่วนยังเป็นปัญหา แต่เมื่อจะช่วยเหลือผู้ป่วยแล้ว ก็เดินหน้าโดยเน้นที่ผู้ป่วยเป็นหลัก
“ที่ทำทั้งหมดนั้น เราคิดแค่ว่า เท้าที่เป็นแผลเน่าของผู้ป่วยเบาหวาน เมื่อมาหาหมอทีไรจะส่งกลิ่นเหม็นไปหมด อีกทั้งเท้าคนมองว่าเป็นของต่ำ ดังนั้นคนที่ทำได้ใจจะต้องสูงพอ”
ที่ผ่านมาในอดีต ผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นแผลที่เท้าส่วนมากมักจะโดนตัดขา แต่หากเมื่อมาที่คลินิกเบาหวาน ฃที่ รพ.สันป่าตองแล้วส่วนมากจะไม่ต้องถูกตัดขา ซึ่งการรักษาแผลเบาหวานนั้น อธิบายง่ายๆ คือการรักษาทำความสะอาดแผลที่เท้าอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ และต้องมีการขูดเนื้อที่ตายออกให้หมด เพื่อให้ร่างกายสร้างเนื้อขึ้นมาใหม่ บวกกับการควบคุมน้ำตาลของผู้ป่วย จะทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องถูกตัดขาได้
“ทุกวันนี้พี่ทำงานตลอด 7 วัน ถามว่าเหนื่อยไหม ตอบเลยว่าไม่เหนื่อย ทุกครั้งที่ได้ช่วยเหลือผู้ป่วยเบาหวานไม่ให้ถูกตัดอวัยวะแล้วจะมีความสุข ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นไม่ต้องกลายเป็นคนพิการ พี่คิดว่าผู้ป่วยเหล่านั้นคือญาติพ่อแม่พี่น้องของเราเอง และที่คลินิกยังมีบริการตัดรองเท้าให้ผู้ป่วยเบาหวานอีกด้วย ในราคาคู่ละ 300 บาท แต่หากผู้ป่วยไม่มีเงินทางคลินิกก็ให้ฟรีไปเลย ส่วนวันว่างหลังเลิกงานหรือวันหยุดก็จะออกเยี่ยมบ้านผู้ป่วย เพื่อติดตามดูว่า แผลผู้ป่วยเป็นอย่างไร ผู้ป่วยควบคุมน้ำตาลได้หรือไม่ บางครั้งต้องนำรูปที่น่ากลัวๆ ที่เกี่ยวกับโรคเบาหวานไปให้ผู้ป่วยดู เพื่อให้เกิดความกลัวและหันมาใส่ใจกับสุขภาพของตนเอง”
วิวัชรา ยังได้ใช้แอพลิเคชั่น ไลน์ช่วยในการทำงาน โดยตั้งกลุ่มไลน์ขึ้นมา เพื่อเชื่อมโยงทั้งแพทย์ พยาบาล และผู้ป่วยมาอยู่ในที่เดียวกัน หากผู้ป่วยมีปัญหาสามารถไลน์ถามพยาบาลได้ หากพยาบาลมีปัญหาเรื่องของผู้ป่วยก็สามารถปรึกษาหรือถ่ายภาพแผลของผู้ป่วยให้แพทย์ดู และชี้แนะแนวทางการดูแลรักษาเบื้องต้นให้กับพยาบาลได้เช่นกัน
“เป็นงานที่ทำแล้วมีความสุขได้บุญ การทำงานแบบนี้ถือเป็นการสะสมบุญได้อีกทางหนึ่ง” วิวัชรา กล่าว
- 209 views