อดีต กก.ทันตแพทยสภา ชี้ “หมอไพศาล” ลงนามร่วมแถลงการณ์ภาคีสภาวิชาชีพ แก้ กม.บัตรทอง ทำโดยพลการ อาจถือเป็นโมฆะ ไม่ผ่านมติ คกก.ทันตแพทยสภา หวั่นทำสังคมเข้าใจทันตแพทยสภาเห็นชอบข้อเสนอแก้ แนะทันตแพทยสภาส่งหนังสือแจงภาคีสภาวิชาชีพ ยันไม่ใช่มติทันตแพทยสภา พร้อมห่วงการแก้ไข กม.บัตรทอง มุ่งดึงอำนาจบริหารกลับ ไม่ได้ยึดประโยชน์ประชาชน แถมโยงสรรหาเลขาธิการ สปสช.สกัด “หมอประทีป” เหตุหวั่นทำแก้ กม.บัตรทอง ดึงอำนาจบริหารคืนสะดุด
ทพ.ศุภผล เอี่ยมเมธาวี
ทพ.ศุภผล เอี่ยมเมธาวี อดีตกรรมการทันตแพทยสภา กล่าวถึงกรณีที่ ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา ได้ลงนามแถลงการณ์ร่วมกับภาคีสภาวิชาชีพ เพื่อเสนอแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ว่า จากที่เห็นแถลงการณ์ฉบับดังกล่าว มองว่าแกนนำหลักของการนำเสนอคือ แพทยสภาและสภาการพยาบาล ส่วนสภาวิชาชีพที่เหลือนั้นไม่แน่ใจว่าจะเห็นชอบเป็นมติหรือไม่ หรือมีการชักชวนให้ลงนามร่วมแถลงการณ์อย่างไร แต่ในส่วนทันตแพทยสภา ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพทันตกรรรม หากนายกทันตแพทยสภาจะลงนามในนามองค์กรเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จะทำได้กรณี 1.เป็นตัวแทนของทันตแพทยสภา และ 2.ทำหน้าที่แทนทันตแพทยสภา โดยนายกทันตแพทยสภาไม่มีสิทธิลงนามเองในนามสภาที่เป็นองค์กรนิติกรรม แต่ต้องได้รับมอบหมายหรือมีมติจากคณะกรรมการทันตแพทยสภาก่อน
ทั้งนี้การลงนามของ ทพ.ไพศาล กรณีแถลงการณ์ร่วมกับภาคีสภาวิชาชีพ มองว่าเป็นไปในนามทันตแพทยสภา โดยสาธารณะจะมองว่าเป็นการลงนามที่เป็นมติคณะกรรมการทันตแพทยสภา 40 คน ซึ่งจากการสอบถามไปยังกรรมการทันตแพทยสภา ทราบว่าเรื่องที่ ทพ.ไพศาลไปลงนามเพื่อเสนอแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ครั้งนี้ ยังไม่มีการนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาคณะกรรมการทันตแพทยสภาแต่อย่างใด และกรรมการทันตแพทยสภายังไม่เคยมีมติเรื่องนี้ รวมถึงรับรองรายงานการประชุมที่เป็นเอกสารทางกฎหมาย ดังนั้นสิ่งที่ ทพ.ไพศาลทำไป จึงถือเป็นการทำโดยพลการและอาจเป็นโมฆะได้ โดยสมาชิกทันตแพทยสภากว่าหมื่นคนทั่วประเทศมีสิทธิทักท้วงการลงนามนี้ รวมถึงขอให้คณะกรรมการทันตแพทยสภาทั้งหมดตอบคำถามในเรื่องนี้ได้
“การลงนามของนายกทันตแพทยสภาครั้งนี้ เชื่อว่ามีสมาชิกไม่เห็นด้วย แม้แต่กรรมการทันตแพทยสภาในชุดปัจจุบันเองคงพูดไม่ออก เพราะเป็นการลงนามในนามองค์กรโดยไม่มีมติที่ประชุมทันตแพทยสภารับรอง ถือเป็นเรื่องใหญ่แม้ว่าทันตแพทยสภาจะเป็นองค์กรขนาดเล็กก็ตาม” อดีตกรรมการทันตแพทยสภา กล่าวและว่า ทั้งนี้แถลงการณ์ร่วมฉบับนี้ แม้ว่าภาคีสภาวิชาชีพจะนำการลงนามของนายกทันตแพทยสภาไปอ้างอิงได้ แต่ทันตแพทยสภามีสิทธิทักท้วง โดยนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการทันตแพทยสภาเพื่อเป็นมติ และส่งหนังสือไปยังสภาวิชาชีพต่างๆ ยืนยันการลงนามของ ทพ.ไพศาล เป็นการลงนามบุคคล ไม่ใช่มติทันตแพทยสภาแต่อย่างใด
ทพ.ศุภผล กล่าวต่อว่า ผลกระทบที่นายกทันตแพทยสภาร่วมลงนามภาคีสภาวิชาชีพนี้ สังคมจะเข้าใจว่าทันตแพทยสภาเห็นด้วยกับเนื้อหาแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ตามแถลงการณ์ ซึ่งบางประเด็นเป็นเรื่องใหญ่และส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยรวม อย่างเช่น ข้อเสนอแยกเงินเดือนกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งจะเพิ่มอำนาจการบริหารบุคลากรให้กับ สธ. ขณะเดียวกันเป็นการลดอำนาจบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และอาจจะนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายอื่นตามมา จนในที่สุดจะทำให้ระบบสาธารณสุขประเทศสู่ยุคการบริหารโดย สธ.เหมือนในอดีต กลายเป็นกระทรวงเกรดเอที่มีงบบริหารนับแสนล้านบาทอีกครั้ง
ทพ.ศุภผล กล่าวต่อว่า นอกจากประเด็นแยกเงินเดือนแล้ว กรณีเสนอแก้ไขกฎหมายโดยตั้งคณะกรรมการ 1 ชุดจาก บอร์ด สปสช.ควบคุมการทำงานของเลขาธิการ สปสช. ส่วนตัวมองเป็นเรื่องตลก เพราะในการสรรหาเลขาธิการ สปสช. นอกจากมีการตั้งคณะกรรมการสรรหาแล้ว ในการทำงานของเลขาธิการฯ ยังมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อควบคุมอีก ซึ่งไม่เข้าใจเจตนาข้อเสนอนี้ แต่จากประสบการณ์ที่ร่วมเป็นกรรมการบอร์ดควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สปสช. เห็นความพยายามของคนกลุ่มใหญ่ที่ต้องคุมการบริหาร สปสช. ซึ่งคงไม่สามารถทำได้เบ็ดเสร็จ จึงมีข้อเสนอนี้ขึ้นมาแทน ซึ่งไม่รู้ว่าอำนาจคณะกรรมการชุดนี้มีขอบเขตแค่ไหน บล๊อกการบริหารเลขาธิการ สปสช. ได้หรือไม่ หรือมีอำนาจถึงขั้นถอดถอนเลขาธิการ สปสช.ได้ ดังนั้นข้อเสนอนี้จึงสะท้อนถึงความพยายามกลุ่มผลประโยชน์ที่ใช้การเมืองควบคุม สปสช.เพื่อดูแลผลประโยชน์ตนเอง แทนที่จะดูแลผลประโยชน์ของประชาชนร่วม 50 ล้านคน ให้สมกับเป็นระบบที่องค์การอนามัยโลก รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศให้นานาประเทศถือเป็นตัวอย่าง
ทพ.ศุภผล กล่าวว่า จากการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ยอมรับว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ มีหลายมาตราที่ต้องปรับแก้ เรื่องนี้เคยพูดคุยกับ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ อดีตเลขาธิการ สปสช.คนแรก ซึ่งท่านได้ระบุว่ากฎหมายฉบับนี้ต้องมีการแก้ไขไปเรื่อยๆ ให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง อย่างเช่น การร่วมจ่ายเพื่อให้ระบบยั่งยืน แต่วิธีการจะทำอย่างไร เป็นการจัดเก็บภาษีได้หรือไม่ ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นจุดเริ่มต้นของนโยบายรัฐสวัสดิการเช่นเดียวกับประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวีย
นอกจากนี้ทำอย่างไรให้การคัดเลือกบอร์ด สปสช. ได้บุคคลมีความรู้ความสามารถ และมีจิตใจเที่ยงธรรม มองประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก ซึ่งที่ผ่านมากรรมการที่ผ่านการคัดเลือกส่วนใหญ่ เข้ามาเพื่อทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์กลุ่มตนเอง ไม่แต่เฉพาะฝ่ายสภาวิชาชีพ แม้แต่ฝ่ายภาคประชาชนก็มีแนวโน้มเดียวกัน
ทพ.ศุภผล กล่าวทิ้งท้ายว่า นอกจากนี้ขอตั้งข้อสังเกตการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งโยงไปถึงปัญหาการสรรหาเลขาธิการ สปสช. โดยบอร์ด สปสช.มีมติไม่รับรอง นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ อดีตรองเลขาธิการ สปสช. ทั้งยังมีปัญหาบัตรลงคะแนนเสีย เนื่องจากเกรงว่าหาก นพ.ประทีป ดำรงตำแหน่งนี้จะทำให้การแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ เพื่อดึงอำนาจบริหารจัดการและงบประมาณกลับไปอยู่ในมือของตนเองเบ็ดเสร็จต้องสะดุดลง เชื่อว่าทั้งหมดเป็นกระบวนการเดียวกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ได้มีรายข่าวจากที่ประชุมภาคีสภาวิชาชีพระบุว่า ในการประชุมภาคีสภาวิชาชีพ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายกสภาเภสัชกรรมไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง โดยส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุม และได้ลงนามแถลงการณ์ร่วมข้อเสนอแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ในภายหลัง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 3 views