กรมควบคุมโรคเผยผลสำรวจการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเยาวชนกลุ่มอายุ 15 – 19 ปี ในช่วงเวลา 13 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นร้อยละ 64.5 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 4.96 ต่อปี เร่งเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ เป็นแผนยุทธศาสตร์ 10 ปี เพื่อเป็นกรอบทิศทางการดำเนินงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศ มีเป้าหมายควบคุมและลดปริมาณการบริโภค ป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ลดความเสี่ยงของการบริโภค รวมถึงจำกัดและลดความรุนแรงของปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบันการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ขยายเข้าสู่กลุ่มเด็กและเยาวชนมากขึ้น จากปัจจัยต่างๆ เช่น ความอยากรู้อยากลอง กลุ่มเพื่อน การเข้าถึง สื่อโฆษณา เป็นต้น จากข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงปี พ.ศ. 2544 – 2557 พบว่า ภาพรวมของนักดื่มอายุ 15 ปีขึ้นไป ค่อนข้างคงที่ โดยมีทิศทางลดลงเล็กน้อย โดยในปี พ.ศ.2557 มีความชุกอยู่ที่ร้อยละ 32.3 ซึ่งลดลงร้อยละ 1.22 หรือลดลงเฉลี่ยร้อยละ 0.09 ต่อปี
อย่างไรก็ตาม การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเยาวชนกลุ่มอายุ 15 – 19 ปี ในช่วงเวลา 13 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นร้อยละ 64.5 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 4.96 ต่อปี นอกจากนี้ การสำรวจยังพบอีกว่าคนไทยใช้เวลาเฉลี่ยเพียง 4.5 นาที ในการเดินทางไปร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
นพ.อำนวย กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์ข้างต้น กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ เป็นแผนยุทธศาสตร์ 10 ปี (พ.ศ. 2554 - 2563) เพื่อเป็นกรอบทิศทางการดำเนินงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายในการควบคุมและลดปริมาณการบริโภค ป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ลดความเสี่ยงของการบริโภค รวมถึงจำกัดและลดความรุนแรงของปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เครื่องมือที่ใช้ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกประการหนึ่งคือ พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อกำหนดมาตรการต่างๆ ในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งการบำบัด รักษา หรือฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อช่วยลดปัญหาและผลกระทบทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ ช่วยสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนโดยให้ตระหนักถึงพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตลอดจนช่วยป้องกันเด็กและเยาวชนไม้ให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย
สาระสำคัญของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 อยู่ที่หมวด 4 เรื่อง การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีการกำหนดมาตรการต่าง ๆ ดังนี้
1.มาตรการควบคุมบรรจุภัณฑ์ ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือนสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
2.มาตรการควบคุมสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
3.มาตรการควบคุมวันและเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
4.มาตรการควบคุมอายุของผู้ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
5.มาตรการควบคุมลักษณะและวิธีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
6.มาตรการควบคุมสถานที่บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
7.มาตรการควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ทั้งนี้ หลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ ได้มีการออกอนุบัญญัติเพิ่มเติมเป็นจำนวนมาก เพื่อให้มาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีประสิทธิภาพและทันสมัยมากยิ่งขึ้น เช่น การกำหนดสถานที่ห้ามขายหรือห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มเติม (สถานีขนส่ง ท่าเรือโดยสารสาธารณะ สถานีรถไฟ รอบสถานศึกษา) การกำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มเติม (วันออกพรรษา) เป็นต้น
นพ.อำนวย กล่าวว่า นอกจากการใช้กฎหมายในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้ว สังคมไทยยังถือปฏิบัติละเว้นการดื่มสุราหรือของมึนเมาในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาอีกด้วย ดังนั้นคณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้วันเข้าพรรษาของทุกปี เป็นวันงดดื่มสุราแห่งชาติ ซึ่งในปีนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้คำขวัญ เนื่องในวันงดดื่มสุราแห่งชาติ ประจำปี 2559 “ครอบครัว เยาวชน คนรุ่นใหม่ ห่างไกลสุรา พาชาติเจริญ”
กิจกรรมวันงดดื่มสุราแห่งชาติ จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ สร้างกระแส รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ เรื่องโทษ พิษภัย ผลกระทบจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป รวมทั้งให้สังคมได้ตระหนักถึงอันตรายของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กระตุ้นให้ประชาชนลด ละ เลิก การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และประชาสัมพันธ์กฎหมายที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการปฏิญาณตนงดดื่มสุราในช่วงเข้าพรรษา ทำความดีถวายในหลวง
ในโอกาสนี้ ขอประชาสัมพันธ์การจัดกิจกรรมวันงดดื่มสุราแห่งชาติ ประจำปี 2559 ซึ่งในปีนี้จะจัดขึ้นในวันที่ 15 กรกฎาคม 2559 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต ถนนรัตนาธิเบศร์ อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี โดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จไปทรงเปิดงานฯ และประทานโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ บุคคล/องค์กร ที่ดำเนินการดีเด่นด้านป้องกันควบคุม การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภายในงานยังมีการแสดง ของเยาวชนเครือข่าย รวมถึงการเสวนาของผู้บริหาร ในหัวข้อ “ครอบครัว เยาวชน คนรุ่นใหม่ ห่างไกลสุรา” หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โทร 02 590 3342 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
- 112 views