เครือข่ายภาคประชาสังคมด้านเอดส์ร่วมแถลงข่าวความสำเร็จที่ยังไม่สำเร็จ จากกรณีที่ได้รับการยกย่องให้เป็นต้นแบบการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสในทารกแรกเกิด เป็นประเทศที่ 2 ของโลก ชี้ปัญหายังต้องแก้ต่ออีกมาก ทั้งผู้หญิงและแรงงานข้ามชาต
เว็บไซต์ประชาไทรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.59 เวลา 09.00 น. ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายภาคประชาสังคมด้านเอดส์ อันประกอบด้วยตัวแทนจากเครือข่ายผู้หญิงที่อยู่ร่วมกับเอชไอวี เครือข่ายผู้หญิงในระบบประกันสุขภาพมาตรฐานเดียว เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย จัดแถลงข่าวหัวข้อ “ความสำเร็จที่ยังไม่สำเร็จกรณีการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอซไอวีและซิฟิลิสในทารกแรกเกิด”
สืบเนื่องจากประเทศไทยได้ผ่านการรับรองเรื่องการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสในทารกแรกเกิดจากองค์การอนามัยโลก โดยได้รับยกย่องว่าเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และเป็นประเทศที่ 2 ของโลกที่ประสบความสำเร็จดังกล่าว โดยมีผู้แทนจากประเทศไทยเข้ารับใบประกาศรับรองในการการประชุมระดับสูงของการประชุมทั่วไปของสหประชาชาติเพื่อยุติปัญหาเอดส์ (United General Assembly High Level Meeting on Ending AIDS) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-11 มิถุนายน 2559 นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา
ความสำเร็จดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้
ประเทศไทยมีการป้องกันการส่งผ่านเชื้อเอชไอวียังเด็กแรกเกิด โดยปรับลดโอกาสที่เด็กจะได้รับเชื้อจากมารดาที่มีเชื้อเอชไอวีลงไปจนเหลือน้อยกว่า 2% ดังข้อมูลการรายงานของประเทศที่ได้ชี้แจงในที่ประชุม ณ นครนิวยอร์กไว้ดังนี้
1. เด็กแรกเกิดที่มีเชื้อเอชไอวีลดลง จากจำนวน 2,000 คน ในที่ 2543 เหลือเพียง 85 คน ในปี 2558
2. หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่มีเชื้อเอชไอวีรายใหม่ลดลงจาก 15,000 คน ในปี 2543 เหลือเพียง 1,900 คน ในปี 2557
3. หญิงที่มีเชื้อเอชไอวีเข้าถึงและได้รับยาต้านไวรัสเพื่อการรักษา 98 เปอร์เซ็นต์ แต่ในขณะเดียวกันประเทศไทยยังไม่สามารถปรับลดอัตราการการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสไปสู่ทารกแรกเกิดให้เป็นศูนย์ เป็นเพราะยังมีอุปสรรคหลายประการ
อุปสรรคหลักๆ มีดังนี้
1. ขาดความเข้าใจและมีทัศนคติด้านลบต่อผู้หญิงที่มีเชื้อเอชไอวี ที่ส่งผลต่อการเลือกปฏิบัติในการบริการด้านสุขภาพ การศึกษา และการมีงานทำ ส่งผลให้เด็กที่เกิดมาจากครอบครัวที่มีเอชไอวีถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่มีงานทำ ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ต่ำลง
2. ขาดทางเลือกที่เพียงพอในการบริการให้กับผู้หญิง เพื่อให้ผู้หญิงได้มีทางเลือกในการป้องกันการติดเชื้อฯ การเข้าถึงและได้รับการบริการด้านการตั้งครรภ์และบริการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและเชื้อซิฟิลิสไปสู่ทารกแรกเกิด และทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์ที่ส่งผลให้ผู้หญิงจำนวนหนึ่งที่คิดว่าตนเองอยู่ในความเสี่ยง รวมถึงการเข้าไม่ถึงและไม่ได้รับบริการป้องกัน การดูแลรักษาตนเองและตัวอ่อนในครรภ์
3. ขาดการประสานงานและความร่วมมือที่ดีระหว่างหน่วยบริการสุขภาพ ระหว่างคลินิกรักษาด้วยยาต้านไวรัส คลินิกแม่และเด็กที่ส่งผลให้ผู้หญิงที่มีเอชไอวีจำนวนหนึ่งหลุดออกไปจากระบบการรักษาด้วยยาต้านไวรัส
4. ขาดการดำเนินการอย่างจริงจังในทางปฏิบัติ เพื่อให้ผู้หญิงที่เป็นแรงงานข้ามชาติและผู้หญิงที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ได้เข้าถึงสิทธิในระบบประกันสุขภาพ
ประเทศนี้ไม่ให้ความสำคัญกับการป้องกันตัวเองของผู้หญิง
สุไลพร ชลวิไล กรรมการเครือข่ายผู้หญิงที่อยู่ร่วมกับเอชไอวีกล่าวถึงปัญหาในสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในปัจจุบันว่า ประเทศไทยมีนโยบายที่ดีมีตัวชี้วัดที่ดีเกี่ยวกับกรณีการป้องกันผู้ติดเชื้อ แต่ยังไม่มีการนำไปปฏิบัติที่ครบถ้วนสมบูรณ์ ปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนการใช้ถ้อยคำจากการหยุดถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกไปเป็น “การยุติการถ่ายทอดเชื้อเมื่อแรกเกิด” เพื่อลดความเข้าใจผิดที่ว่าการส่งต่อเชื้อนั้นเป็นปัญหาของผู้หญิงเพียงอย่างเดียว
กรณีที่ประเทศไทยได้รับรางวัลดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่ดี เพียงแต่การแก้ปัญหาการติดเชื้อนั้นจะต้องทำไปทั้งระบบ ซึ่งตอนนี้เรามุ่งเน้นไปเพียงแค่การป้องกันที่ตัวเด็กโดยหลงลืมการดูแลเหล่าผู้หญิงที่ติดเชื้อ ตามหลักการขององค์การอนามัยโลกโครงการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจะเริ่มที่การป้องกันผู้หญิงโดยประกอบไปด้วย 4 องค์ประกอบคือ
1. ป้องกันกลุ่มผู้หญิงไม่มีการติดเชื้อ
2. หากเป็นกลุ่มผู้ติดเชื้อต้องทำให้มีการตั้งครรภ์โดยพร้อม
3. ถ้าเป็นกลุ่มผู้ติดเชื้อต้องมีการรับยาไม่ให้ส่งต่อไปยังเด็กที่เกิดใหม่
4. หลังการคลอดต้องมีการดูแลทั้งแม่และเด็กรวมถึงครอบครัวผู้ติดเชื้อ
นี่คือองค์ประกอบที่สำคัญของการทำงานด้านการถ่ายทอดเอชไอวีเมื่อแรกเกิด จากรางวัลที่ได้รับแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยทำได้ดีในเรื่องของเด็กซึ่งนั่นเป็นเพียงข้อที่ 3 แต่ที่สำคัญคือต้องทำเรื่องของผู้หญิงด้วย ต้องมีการป้องกันมากขึ้นในเรื่องเอชไอวีในผู้หญิง ไม่ใช่มุ่งเน้นไปแต่กลุ่มความเสี่ยงเนื่องจากเห็นว่าอัตราการติดเชื้อในกลุ่มผู้หญิงนั้นคงที่ เพราะหากเราสามารถควบคุมการติดเชื้อได้ดีจริงๆ ทำไมอัตราการติดเชื้อของกลุ่มผู้หญิงนั้นยังคงที่แต่ไม่ลดลง เพียงแค่ไม่เพิ่มขึ้นนั้นยังไม่เพียงพอ
อีกปัญหาหนึ่งกลุ่มผู้หญิงผู้ติดเชื้อไม่ได้รับความสำคัญ จึงทำให้ไม่มีการจัดการงบประมาณเข้ามาดูแล และกลุ่มผู้หญิงก็ไม่ได้มีส่วนร่วมในการส่งเสียงเพื่อกำหนดนโยบายใดๆ นโยบายที่ดีในไทยเมื่อถึงขั้นตอนปฏิบัติจริงๆ กลับมีปัญหาอยู่มาก
เรามีนโยบายทั้งเรื่องผู้หญิง เรื่องเอชไอวี แต่เมื่อรัฐไม่ได้มองเรื่องประเด็นความเสมอภาคทางเพศ ในขั้นตอนปฏิบัติจึงกลายเป็นการทำงานที่มุ่งไปเรื่องสุขภาพ เรื่องจำนวนและตัวเลขเพียงอย่างเดียว อีกทั้งภาครัฐยังขาดการทำงานร่วมกันในประเด็นของผู้หญิง เรื่ออนามัยเจริญพันธุ์ เอชไอวี และเรื่องแม่และเด็ก
นโยบายยุติการถ่ายทอดเชื้อเมื่อแรกเกิดเป็นงานของกรมอนามัย จัดทำโดยสำนักอนามัยแม่และเด็ก ขณะที่งานป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีทำโดยกรมควบคุมโรค แต่เรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิงหรือสิทธิของผู้หญิงทำโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งนั่นหมายความว่ากลุ่มที่ทำเรื่องสิทธิผู้หญิงไม่มีความรู้เรื่องเอชไอวี กลุ่มที่ทำงานแม่และเด็กไม่มีความรู้เรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ หากการทำงานยังไม่เป็นไปด้วยกัน การประสานติดต่อมันก็ยากลำบากขึ้นเนื่องจากประเด็นเหล่านี้มีความเกี่ยวโยงกัน
ผู้หญิงออกจากระบบการรักษา เพราะไม่รู้จะอยู่กับครอบครัวอย่างไร
รัชนี พุทธาจู เครือข่ายผู้หญิงที่อยู่ร่วมกับเอชไอวี กล่าวถึงปัญหาที่กลุ่มผู้หญิงติดเชื้อจะต้องพบว่า ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการบริการด้านสุขภาพ เพราะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นผู้ติดเชื้อ เช่น ข้อจำกัดในการขอเข้ารับข้อมูลด้านสุขภาพ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องตั้งแต่วิธีคิด ความเชื่อเรื่องเพศ เดิมทีผู้หญิงต้องอยู่ในกรอบความคิดเก่าในเรื่องการตีตราตัวเองก็แย่แล้ว เพราะเราถูกบอกถูกสอนว่า ผู้หญิงไม่ควรพูดถึงเรื่องเพศ ยิ่งเป็นผู้หญิงที่ต้องอยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวียิ่งทำให้เกิดความวิตกกังวลในการเข้าสู่ระบบการรักษามากขึ้นไปอีก
อีกประเด็นหนึ่งคือ ประเทศไทยนั้นมีนโยบายที่ค่อนข้างดีในเรื่องการบริการด้านสุขภาพก็จริง แต่ในภาคปฏิบัตินั้นผู้หญิงที่ติดเชื้อไปฝากครรภ์มีอุปสรรคหลายอย่าง ยังมีการตีตราจากเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการในสถานพยาบาล ความเข้าใจผิดต่อหญิงติดเชื้อ หรือความพร้อมของสถานพยาบาลในการรับรองผู้ติดเชื้อ ยังมีกรณีที่ผู้ติดเชื้อเข้าไปฝากครรภ์และโดนเจ้าหน้าที่ในสถานพยาบาลต่อว่าว่า เมื่อรู้ว่าติดเชื้อแล้วทำไมถึงยังปล่อยให้มีการตั้งครรภ์ การกระทำเช่นนี้เป็นการแสดงออกให้เห็นว่าสังคมไทยยังมีการผลักภาระในเรื่องของการติดเชื้อเอชไอวีในครอบครัวให้เป็นของผู้หญิง โดยที่หลงลืมไปว่าการติดเชื้อนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพียงฝ่ายเดียว ผู้หญิงบางคนไม่เคยทราบมาก่อนว่าตนเป็นผู้ติดเชื้อจนกระทั่งถึงวันที่ต้องไปฝากครรภ์ ระบบการฝากครรภ์ของประเทศไทยก็ไม่ได้บังคับให้ผู้ชายต้องเข้าไปตรวจเลือดด้วย การต้องรับรู้สถานการณ์เหล่านั้นจึงตกอยู่ที่ผู้หญิงเพียงคนเดียว
บางคนไม่กล้าแม้จะกลับไปบอกสามีตัวเองให้มาตรวจเลือด เพราะกลัวที่จะบอกว่าตัวเองเป็นผู้ติดเชื้อ สถานบริการด้านสุขภาพยังไม่มีขั้นตอนการเตรียมการเพื่อให้ผู้ติดเชื้อหญิงรับมือกับสภาพทางสังคม ผู้หญิงที่ติดเชื้อบางคนสามาถป้องกันไม่ให้มีการถ่ายทอดสู่ทารกได้สำเร็จ แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้รับยาเพื่อตัวเอง เนื่องจากไม่รู้ว่าจะกลับไปสื่อสารกับครอบครัวอย่างไร
เอชไอวีไม่ใช่เรื่องของโรคและการรักษา เป็นเรื่องของสังคม
อนันต์ เมืองมูลไชย ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย ได้กล่าวถึงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อว่า ปัจจุบันปัญหาหลักๆ ของเรื่องเอชไอวีนั้นเป็นเรื่องของสังคม การเรียน การมีรายได้ วันนี้เด็กแรกเกิดถึงแม้จะติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อแต่เมื่อเขาเริ่มต้องเข้าสังคมโรงเรียน หรือการทำงานก็จะต้องพบกับการคัดกรอง เช่น การบังคับให้ตรวจเลือดก่อนเข้าเรียน ซึ่งนั่นทำให้เด็กเหล่านี้ถูกตีตราหรือถูกกีดกัน ขณะนี้เราจัดการการส่งต่อเชื้อพ่อแม่สู่ลูกได้ประมาณหนึ่ง แต่เมื่อเด็กเหล่านี้โตไป อะไรคือมาตรการรองรับคุณภาพชีวิตของพวกเขาเหล่านั้น เมื่อสังคมยังมีการกีดกันกลุ่มผู้ติดเชื้อ หรือแม้แต่กลุ่มที่มีพ่อแม่เป็นผู้ติดเชื้อ
ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการป้องกันการส่งต่อเชื้อ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคตให้แก่กลุ่มคนเหล่านี้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวไม่ใช่ความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุข แต่เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงศึกษาธิการในเรื่องการศึกษา การสร้างความเข้าใจแก่บุคลากรในสถานศึกษา กระทรวงมหาดไทยซึ่งมีหน่วยงานภายใต้สังกัดอันใกล้ชิดกับประชาชน เรื่องเอชไอวีจึงมีมิติทางสังคมซึ่งมีความท้าทายเป็นอย่างมาก เนื่องจากต้องได้รับการเอาใจใส่และการร่วมมือการอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคนโยบายและปฏิบัติอีกด้วย
ทั้งนี้เครือข่ายฯ ได้แสดงความยินดีต่อความสำเร็จในการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอซไอวีและซิฟิลิสในทารกแรกเกิด แต่เพื่อย้ำเตือนถึงอุปสรรคสำคัญเพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าไปสู่ความสำเร็จที่เพิ่มขึ้น เครือข่ายประชาสังคมด้านเอดส์จึงได้ยื่นข้อเสนอทางนโยบายดังนี้
1. กระทรวงสาธารณสุขต้องมีการส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องชัดเจน ตามหลักความรู้และวิชาการเรื่องการรับและการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี โดยปราศจากทัศนคติที่เป็นลบ หรืออคติเพื่อให้เห็นร่วมว่าผู้หญิงที่มีเชื้อเอชไอวีมีสิทธิตั้งครรภ์ได้ เด็กที่เกิดและเติบโตจากแม่ที่มีเชื้อเอชไอวีเติบโตได้ เรียนหนังสือ มีงานทำ และมีครอบครัวได้ และควรมีมาตรการที่ทำให้เด็กๆ ที่เกิดมาจากครอบครัวหรือพ่อแม่ที่มีเชื้อเอชไอวีได้รับโอกาสและทางเลือกในการเรียนและทำงานโดยไม่เกิดการรังเกียจกีดกัน และเลือกปฏิบัติ เพื่อการเติบโตโดยมีชีวิตที่มีคุณภาพ
2. ต้องมีการเสริมสร้างระบบบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐาน มีความเข้มแข็งในการจัดบริการ มีการสื่อสารให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนรอบด้าน มีการเคารพสิทธิการตัดสินใจของผู้หญิง มีบริการทางเลือกให้กับผู้หญิงทั้งในการป้องกัน การตั้งครรภ์ต่อและการยุติการตั้งครรภ์ เพื่อช่วยให้ผู้หญิงได้มีทางเลือกในการเข้ารับบริการอย่างต่อเนื่อง มีการตัดสินใจและร่วมกันวางแผนในการป้องกันตนเองจากความรุนแรงทางเพศและการได้รับเชื้อเอชไอวี
3. ต้องมีมาตรการกำหนดให้มีการประสานงานและจัดบริการร่วมกันระหว่างหน่วยบริการของรัฐ เช่น คลินิกการรักษาด้วยยาต้านไวรัส และคลีนิกแม่และเด็ก และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการบริการกลุ่ม/องค์กรภาคประชาชน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ปรับทัศนคติเชิงบวก และให้ความสำคัญความละเอียดอ่อนในการให้บริการเพิ่มมากขึ้น
4. ต้องมีกระบวนการสร้างหลักประกันการเข้าถึงบริการสุขภาพของหญิงแรงงานข้ามชาติและผู้หญิงชาติพันธุ์ที่รอพิสูจน์สถานะบุคคล เพื่อให้ผู้หญิงได้เข้าถึงสิทธิและได้รับบริการป้องกันการติดเชื้อในทารกแรกเกิด และการดูแลรักษาสุขภาพด้วยยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่อง
- 5 views