สธ.เร่งแก้ไขวิกฤติการณ์ปัญหาเชื้อดื้อยา บูรณาการหลายภาคส่วน สอดคล้องกับมติสมัชชาสุขภาพ จัดทำแผนยุทธศาสตร์และผลักดันเชื้อดื้อยาเป็นวาระแห่งชาติ เตรียมเสนอให้ ครม.พิจารณา ก.ค.นี้ เพื่อหยุดยั้งปัญหาเชื้อดื้อยาที่ลุกลามรุนแรงอย่างรวดเร็ว จนไม่มียารักษาได้แม้ไม่ใช่โรครุนแรง เหตุเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะเพิ่มมากขึ้น

นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และประธานคณะกรรมการประสานและบูรณาการงานด้านการดื้อยาต้านจุลชีพ เปิดเผยว่า ปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทยนับได้ว่ามีแนวโน้มทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะเพิ่มมากขึ้น ขณะที่จำนวนยาปฏิชีวนะชนิดใหม่กลับลดลง ทำให้ทางเลือกในการรักษาลดลง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาในแต่ละปีเป็นจำนวนหลายหมื่นคน สาเหตุเกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินความจำเป็น ส่งผลให้เกิดเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยา

นอกจากนี้การคมนาคมระหว่างประเทศมีความรวดเร็วขึ้น การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ รวมทั้งรูปแบบการทำการเกษตรที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้สถานการณ์เชื้อดื้อยาส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งต่อสุขภาพคน สัตว์ พืช และสิ่งแวดล้อม ดังนั้นเพื่อเป็นการจัดการกับปัญหาเชื้อดื้อยาของประเทศไทยอย่างเป็นระบบ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภาคการศึกษาและวิชาการ สมาคมวิชาชีพ และภาคประชาสังคมได้ดำเนินการร่วมกันภายใต้คณะกรรมการประสานและบูรณาการงานด้านการดื้อยาต้านจุลชีพ เพื่อจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทย โดยมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างดังกล่าว ไปเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2559 

ทั้งนี้ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์ ครอบคลุมองค์ประกอบ 6 ด้าน คือ

1.การเฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว

2.การควบคุมการกระจายยาต้านจุลชีพในภาพรวมของประเทศ             

3.การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในสถานพยาบาลและการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม                  

4.การป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยาและการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในภาคการเกษตรและสัตว์เลี้ยง

5.การสร้างความตระหนักรู้เรื่องเชื้อดื้อยาและยาต้านจุลชีพแก่ประชาชน

6.การบริหารและกลไกระดับนโยบายเพื่อขับเคลื่อนงานด้านการดื้อยาต้านจุลชีพอย่างยั่งยืน

ร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้ผ่านกระบวนการการทำงานอย่างเป็นระบบ ทั้งจากระดับบนลงล่างในส่วนของหน่วยงานกำกับดูแลและขับเคลื่อนนโยบาย และจากระดับล่างขึ้นบนในส่วนพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยผ่านมติกลไกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 โดยการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะสำเร็จได้ต้องอาศัย 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ การนำความรู้มาใช้ในการแก้ไขปัญหา การเคลื่อนไหวทางสังคม และ ด้านการเมืองหรืออำนาจรัฐ              เพื่อสนับสนุ ด้านนโยบายและทรัพยากรไปสู่การดำเนินงานให้ประสบผลสำเร็จ

“แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวคาดว่าจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีประมาณเดือนกรกฎาคมนี้ และจะมีการผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ และนำไปสู่การรวมพลังทางสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยาอย่างยั่งยืนต่อไป” นพ.วิศิษฎ์ กล่าว