คณะกรรมการสุขภาพคนพิการขับเคลื่อนการเข้าถึงบริการทางสุขภาพของคนพิการ เสนอเพิ่มสิทธิประโยชน์และลดความเหลื่อมล้ำในกองทุนหลักประกันสุขภาพและกองทุนประกันสังคม พร้อมหารือบริษัทประกันหลังพบการปฏิเสธรับทำประกันสุขภาพ
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการสุขภาพคนพิการได้ประชุมติดตามความก้าวหน้าการจัดทำแผนพัฒนาการดูแลสุขภาพคนพิการ และการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสุขภาพ
นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานกรรมการสุขภาพคนพิการ เปิดเผยว่า สิทธิในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพและรักษาพยาบาลของคนพิการ ถือว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาสุขภาวะสังคมไทย ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพคนพิการ จึงมีมติให้เร่งรัดแนวทางการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ในการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนพิการใน 2 กองทุนหลัก ได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และกองทุนประกันสังคม ซึ่งพบว่ายังมีความไม่เท่าเทียมกันและไม่ครอบคลุมการดูแลคนพิการอย่างเพียงพอ
นพ.สุวิทย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้ บริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์แก่คนพิการ มีจำนวนทั้งสิ้น 26 รายการ แต่ขณะนี้ทาง สปสช.ประกาศรับรองเพียง 9 รายการเท่านั้น ซึ่งยังไม่ครอบคลุม อีกทั้งยังเกิดกรณีคนพิการที่ได้รับบรรจุเข้าทำงานในบริษัทเอกชนหรือสถานประกอบการต่างๆ ต้องยกเลิกสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปใช้สิทธิกองทุนประกันสังคมแทน ซึ่งได้รับประโยชน์คุ้มครองน้อยกว่า ดังนั้น คณะกรรมการฯ เห็นควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมว่า ถ้ากองทุนหลักทั้ง 2 แห่งจะขยายสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมและใกล้เคียงกัน จะดำเนินการได้หรือไม่ ถ้าดำเนินการได้แต่ละกองทุนต้องดำเนินการอย่างไร เพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้มากที่สุด
นอกจากนั้น คณะกรรมการฯ ยังเห็นชอบให้มีการรวบรวมรายละเอียด กรณีคนพิการถูกปฏิเสธการทำประกันสุขภาพ โดยบริษัทประกันชีวิต เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการหารืออย่างจริงจังกับกลไกที่เกี่ยวข้องต่อไป
“ทั้งนี้ หลังจากรวบรวมและศึกษาข้อมูลแล้ว จะมีการยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในบริการสุขภาพคนพิการเพื่อพิจารณาด้วย ได้แก่ คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ, คณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, สำนักงานประกันสังคม และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมถึงให้ข้อมูลต่อสาธารณชนเพื่อให้เกิดความตระหนักถึงความเท่าเทียมกันมากขึ้น”
ที่ประชุมยังเสนอให้เร่งรัด แผนพัฒนาการดูแลสุขภาพคนพิการ โดย สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2560-2564) และ แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2560-2564) โดย กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 จะช่วยให้เกิดการขับเคลื่อนการทำงานอย่างครอบคลุมและบูรณาการยิ่งขึ้น
นพ.สุวิทย์ กล่าวอีกว่า ทางสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ยังได้จัดทำรายงานคู่ขนานการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ นำเสนอต่อคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ ณ กรุงเจนีวา สวิสเซอร์แลนด์ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งในส่วนของประเทศไทยต้องรายงานความก้าวหน้าทุกๆ 4 ปี โดยการประชุมดังกล่าว ถือเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
นายรัตน์ กิจธรรม ฝ่ายต่างประเทศและกิจการพิเศษ สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในการประชุม คณะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ มีความเป็นห่วงประเทศไทย ประเด็นหลักเกณฑ์การออกบัตรคนพิการ เพื่อได้รับสิทธิตามกฎหมาย ที่ควรปรับปรุงให้สอดคล้องกับมิติทางสังคมด้วย (Social Model) และการปรับแนวคิดจากการมุ่งเน้นดูแลคนพิการด้วยการจัดสวัสดิการ เป็นการให้คนพิการได้รับสิทธิทางกฎหมาย
พญ.ดารณี สุวพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันสิริธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กล่าวว่า หลายประเทศยังมีความเป็นห่วงการดูแลคนพิการทางจิตและพฤติกรรมของประเทศไทยตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 เนื่องจากยังเน้นการรักษา (Medical Model) มากกว่าการมองมิติทางสังคม (Social Model) โดยแนะนำให้เพิ่มความสำคัญกับการฟื้นฟูและการคืนสู่ชุมชนได้อย่างมีคุณภาพ และพยายามลดการบังคับรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งเรื่องดังกล่าวได้มีการนำเสนอต่อรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขแล้ว เพื่อให้มีการปรับแก้ พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 ต่อไป
“ปัจจุบันประเทศไทยปรับปรุงกระบวนการดูแลผู้พิการและผู้ป่วยจิตเวชในหลายๆ ด้านแล้ว แต่ยังไม่สามารถทำได้ครบถ้วน เนื่องจากความพร้อมของสถานพยาบาลแต่ละแห่งไม่เท่ากัน และสิ่งที่ยังขาดคือการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน ดังนั้น ระยะต่อไปกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงพัฒนาสังคมฯ น่าจะมีความร่วมมือกันมากขึ้น”
- 6 views