พยาบาลวิชาชีพ ยืนยันขอแยกกล่องค่าตอบแทนออกจากกลุ่มสหวิชาชีพ เตรียมหารือเคลื่อนไหวขอเม็ดเงินเพิ่ม พร้อมระบุร่างค่าตอบแทนฉบับแพทย์ชนบทเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรมวิชาชีพพยาบาล ยังคงค่าตอบแทนแพทย์/ทันตแพทย์อัตราเดิม ปรับลดเฉพาะระดับล่าง แจงถูกปัดข้อเสนอที่ให้ปรับค่าตอบแทนเหลือแค่ 3 ระดับ และให้ตัดเพิ่มค่าตอบแทนปีที่ 21 ออก

น.ส.อรุณวรรณ เชิดเกียรติเจริญ หัวหน้าพยาบาลโรงพยาบาลบรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ ผู้แทนชมรมผู้บริหารการพยาบาล โรงพยาบาลชุมชน ซึ่งร่วมเข้าประชุมคณะทำงานเพื่อพิจารณาปรับค่าตอบแทนวิชาชีพในกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำค่าตอบแทนในส่วนของพยาบาลวิชาชีพว่า จากที่เข้าร่วมประชุมคณะทำงานฯ เพื่อจัดทำร่างหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนฉบับที่ 11 เมื่อวันที่ 30-31 พฤษภาคม ที่ผ่านมา มี นพ.สุวิชา ศฤงคารพูนเพิ่ม รองผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจบริการด้านปฐมภูมิ โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี เป็นประธาน ซึ่งมีตัวแทนจากแต่ละวิชาชีพเข้าร่วม และได้มีการพิจารณาร่างหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนซึ่งจัดทำโดยชมรมแพทย์ชนบท ร่วมทั้งได้มีการจัดทำร่างหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนโดย นพ.สุวิชา ซึ่งในท้ายที่สุดที่ประชุมต่างเห็นชอบให้ยึดร่างค่าตอบแทนที่จัดทำโดยชมรมแพทย์ชนบทนี้ และได้นัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 12 มิถุนายน นี้     

น.ส.อรุณวรรณ กล่าวว่า จากการพิจารณาร่างค่าตอบแทนของชมรมแพทย์ชนบท ซึ่งนำเสนอโดย นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ยังคงแบ่งวิชาชีพออกเป็น 5 กลุ่ม คือ แพทย์และทันตแพทย์, เภสัชกร, สหวิชาชีพซึ่งรวมถึงพยาบาลวิชาชีพ, เจ้าหน้าที่อื่นซึ่งมีวุฒิเทียบเท่าปริญญาตรี และเจ้าหน้าที่วุฒิต่ำกว่าปริญญาตรีรวมถึงพยาบาลเทคนิค ขณะเดียวกันยังได้แบ่งการจ่ายค่าตอบแทนเป็น 4 ระดับตามระยะเวลาอยู่ในพื้นที่ คือ ตั้งแต่ 1-3 ปี, 4-10 ปี, 11-20 ปี และ 21 ปีขึ้นไป

หากยึดตามหลักเกณฑ์นี้ ในส่วนของพยาบาลจะยังคงมีความเหลื่อมล่ำอยู่มาก ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบในช่วงปีที่ 1-3 แพทย์จะได้ค่าตอบแทนที่ 10,000 บาท พยาบาลได้รับ 2,200 บาท ดูเหมือนพยาบาลจะได้เงินไม่น้อย แต่เมื่อเปรียบเทียบในปีที่ 21 แพทย์ได้ค่าตอบแทน 50,000 บาท ขณะที่พยาบาลได้ค่าตอบแทนที่ 3,200 บาท หรือเพียงแค่ร้อยละ 6 ของแพทย์ถือว่าน้อยมาก แต่ในส่วนของวิชาชีพอื่นๆ อย่างเจ้าหน้าที่สาธารณสุข (จพ.สธ.) และนักวิชาการสาธารณสุข (นวก.สธ.) ค่าตอบแทนมีการขยับเพิ่มขึ้น จึงยังคงสนับสนุนร่างค่าตอบแทนของชมรมแพทย์ชนบท 

ทั้งนี้ในช่วงบ่ายของการประชุมเมื่อวันที่ 30 พ.ค. ทาง นพ.เกรียงศักดิ์ไม่ได้เข้าร่วม โดยในส่วนของวิชาชีพที่เหลือได้มีการหารือในงบประมาณค่าตอบแทนที่ถูกจำกัด จึงเห็นควรให้มีการปรับค่าตอบแทนเหลือเพียงแค่ 3 ระดับเท่านั้น โดยขอตัดระดับตั้งแต่ในปี 21 ขึ้นไปออก เนื่องจากมองว่าแพทย์ที่ทำงานต่อเนื่องมาถึงขนาดนี้แล้วคงไม่ลาออก และให้มีการปรับในส่วนพื้นที่และขนาดโรงพยาบาล ซึ่งจะทำให้งบที่มีอยู่เพียงพอได้ นพ.สุวิชา จึงได้จัดทำร่างค่าตอบแทนใหม่ แต่ปรากฎว่าในการประชุมเช้าวันที่ 31 พ.ค. กลับใช้ร่างค่าตอบแทนฉบับของชมรมแพทย์ชนบทเช่นเดิม

“เท่าที่พิจารณาแล้วเห็นว่า ร่างค่าตอบแทนที่นำเสนอโดย นพ.เกรียงศักดิ์ ไม่ได้ลดในส่วนของแพทย์และทันตแพทย์เลย แต่มาลดค่าตอบแทนในระดับสหวิชาชีพมากกว่า ไม่ได้ตอบโจทย์การปรับปรุงแก้ไขค่าตอบแทนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และยังคงไม่เป็นธรรมกับพยาบาล ทั้งนี้คงเป็นไปตามประธานที่ประชุมซึ่งระบุว่า คนที่ได้ค่าตอบแทนเยอะอยู่แล้วคงไม่ลด แต่จะไปเพิ่มค่าตอบแทนในส่วนคนที่ได้น้อยแทน ตรงนี้เป็นโจทย์จะเพิ่มอย่างไร เพราะเม็ดเงินที่กระทรวงได้มาอย่างไรก็ไม่พอ”

น.ส.อรุณวรรณ กล่าวว่า จากสถานการณ์ข้างต้นนี้ส่งผลให้วิชาชีพพยาบาลยังคงความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนอยู่ ดังนั้นจากการถกเถียงในที่ประชุมในที่สุดได้ยินยอมให้พยาบาลวิชาชีพแยกกล่องค่าตอบแทนออกจากกลุ่มสหวิชาชีพและให้ไปต่อสู้เรื่องงบประมาณและอัตราค่าตอบแทนเอง โดยใช้เหตุผลว่าเราเป็นกลุ่มวิชาชีพเฉพาะ มีภาระงานหนักมาก และยังมีเรื่องค่าการตลาดเพื่อให้คงอยู่ในระบบ

“จากนี้กลุ่มพยาบาลวิชาชีพคงต้องมาหาวิธีว่าทำอย่างไรจึงจะเพิ่มค่าตอบแทน และจะหาเม็ดเงินมากจากไหนเพิ่มเติม ซึ่งแต่เดิมร่างค่าตอบแทนที่ได้จัดทำนั้น พยาบาลควรได้รับที่ร้อยละ 25 หรือไม่ต่ำกว่า 1 ใน 4 เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราค่าตอบแทนแพทย์ แต่ด้วยสถานการณ์ขณะนี้คงต้องมีการหารือกัน อย่างไรก็ตามเรื่องค่าตอบแทนอยากให้มองถึงภาระงานของพยาบาลที่ปฏิบัติ ซึ่งนอกจากงานในวิชาชีพแล้ว บางครั้งนอกเวลาต้องทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยแทนแพทย์ จ่ายยาแทนเภสัชกร บางครั้งยังต้องทำหน้าที่คิดเงินแทนธุรการ ไม่ใช่มองแค่ที่จำนวนพยาบาลที่มีมาก การเพิ่มค่าตอบแทนจะส่งผลต่องบประมาณซึ่งคงไม่เป็นธรรม” น.ส.อรุณวรรณ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พยาบาลร้อง สธ.ขอขยับค่าตอบแทนเป็น 25% ของแพทย์ ลดช่องว่างวิชาชีพ