กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ห่วงล็อคสเปคเลือกเลขาธิการ สปสช. หลังส่อแววส่งกฤษฎีกาตีความผู้สมัครเลขาฯ สปสช.ใหม่ กรณีผู้สมัครที่เป็นผู้บริหาร สธ.ถือเป็นคู่สัญญา สปสช.หรือไม่ พร้อมย้ำเลขาธิการ สปสช.ต้องมีความอิสระ ยึดมั่นหลักการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีแนวคิดใหม่พัฒนาระบบ พร้อมเตือนบอร์ด สปสช. 6 มิ.ย. คัดเลือกเลขาฯ สปสช.ด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม
นส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา
นส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวถึงการเลือกเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งจะมีวาระเข้าสู่การพิจารณาบอร์ด สปสช.ในวันที่ 6 มิถุนายน นี้ว่า ยอมรับว่าในการเลือกเลขาธิการ สปสช.ครั้งนี้ ภาคประชาชนต่างมีความกังวลตั้งแต่คณะกรรมการสรรหาที่ไม่หลากหลาย ส่วนใหญ่จะหนักไปยังผู้แทนที่มาจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ขณะเดียวกันหากได้เลขาธิการ สปสช.มาจากส่วนราชการ ขณะที่ประธานบอร์ด สปสช.ยังเป็น รมว.สาธารณสุข อาจมีความเกรงใจกันในการบริหารและ รมว.สาธารณสุขอาจสั่งการเลขาธิการ สปสช.ได้ ซึ่งในประเด็นนี้ต้องบอกว่า ภาคประชาชนเพียงแค่การตั้งข้อสังเกต เนื่องจากประเทศไทยยังมีลักษณะการอุปถัมภ์อยู่ ดังนั้นแม้ว่าจะแยกไปเป็นผู้บริหารองค์กรอิสระแล้วแต่ยังอาจขาดความเป็นอิสระได้
ส่วนกรณีที่ชมรมแพทย์ชนบทออกมาเปิดประเด็นการส่งกฤษฎีกาตีความในประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้สมัครที่เข้ารับการสรรหา เนื่องจากหนึ่งในผู้สมัครที่จะได้รับการเสนอชื่อต่อบอร์ด เคยดำรงตำแหน่งผู้บริหาร สธ. ในช่วงที่เป็นคู่สัญญากับ สปสช.นั้น นางสาวสุรีรัตน์ กล่าวว่า เข้าใจว่าที่ชมรมแพทย์ชนบทออกมาเคลื่อนไหวได้เน้นไปที่ประธานกรรมการสรรหาเลขาธิการ สปสช.ที่ดูเหมือนเป็นคนใกล้ชิด รมว.สาธารณสุข และไม่ทราบว่าในกรณีที่เกิดขึ้นได้มีการสั่งการอะไรหรือไม่ ซึ่งเชื่อมโยงถึงกรณีที่ รมว.สาธารณสุข ขอให้บอร์ด สปสช.ส่งประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้สมัครในกรณีนี้กลับไปยังกฤษฎีกาขอให้ตีความใหม่ว่า ผู้บริหาร สธ.จะถือเป็นคู่สัญญาหรือไม่ เพราะหากยึดตามผลการตีความเดิมจะถือว่าขาดคุณสมบัติและตกไป อย่างไรก็ตามเป็นห่วงว่า หากผลตีความใหม่ส่งผลให้ผู้บริหาร สธ.ไม่ขาดคุณสมบัติก็อาจเกิดการล๊อกสเปคเลขาธิการ สปสช.หรือไม่
อย่างไรก็ตามปกติในการตีความของกฤษฎีกา ที่ผ่านมาเรามักเห็นธรรมเนียมของกฤษฎีกาที่เมื่อตีความเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้ว จะยึดคำวินิจฉัยตีความเดิม เช่นเดียวกับกรณีที่ สปสช.เคยส่งเรื่องให้กฤษฎีกาตีความก่อนหน้านี้ว่า ผู้มีสิทธิ์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นใคร ซึ่งกฤษฎีกาตีความว่าเป็นคนไทยที่มีเลข 13 หลัก แม้ว่าจะส่งผลกระทบต่อประชาชนบางกลุ่มที่ไม่มีเลข 13 หลัก โดย สปสช.เคยส่งตีความใหม่ แต่กฤษฎีกายังยืนยันผลการตีความเดิม ซึ่งทำให้ สปสช.ไม่กล้าส่งเรื่องนี้อีก
“การที่ชมรมแพทย์ชนบทออกมาแสดงความกังวลในเรื่องนี้ ภาคประชาชนเห็นด้วย แต่เข้าใจว่าชมรมแพทย์ชนบทน่าจะมีข้อมูลเชิงลึก อย่างไรก็ตามสิ่งที่ภาคประชาชนอยากให้ความสำคัญคือ ไม่ว่าเลขาธิการ สปสช.จะเป็นใคร เราอยากได้บุคคลที่พร้อมมาเป็นผู้บริหารองค์กรอิสระ ซึ่งต้องมีความเป็นตัวของตัวเอง ยึดมั่นหลักการของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และทำงานร่วมกับบอร์ด สปสช.ได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งมีแนวคิดและข้อเสนอใหม่ๆ ในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ใช่กลัวนโยบายจำกัดเงินกองทุน ไม่กล้าต่อสู้งบประมาณ จนส่งผลกระทบต่อการคุ้มครองสิทธิประชาชน”
นส.สุรีรัตน์ กล่าวว่า ขอฝากไปยัง รมว.สาธารณสุข ซึ่งกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพได้เคยเข้าพบและสอบถามถึงทิศทางการบริหารหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ว่าจะเน้นที่ประชาชนหรือการบริหารจัดการเบ็ดเสร็จภายใต้ สธ. ซึ่งท่านยืนยันว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีกฎหมายของตัวเอง แต่ขณะนี้ดูเหมือนท่านกำลังอยากได้คนจาก สธ.มานั่งตำแหน่งเลขาธิการ สปสช.หรือไม่ จึงอยากให้ท่านทำตามหน้าที่ในฐานะ รมว.สาธารณสุข ในรัฐบาล คสช. และควรมองไปข้างหน้า เนื่องจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้วและควรทำให้ดียิ่งขึ้น จึงควรคัดเลือกบุคคลที่มีความเข้าใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเข้ามาบริหาร และไม่ควรเปิดโอกาสให้บุคคลใกล้ชิดทำการล๊อบบี้คะแนนเลือกเลขาธิการฯ แต่ควรเปิดให้เป็นอิสระ ขณะเดียวกันขอฝากไปยังบอร์ด สปสช.ด้วยว่า ควรเลือกเลขาธิการ สปสช.ตามความเหมาะสม ไม่ใช่มาจากการล็อบบี้หรือคำร้องของใคร
“ในวันที่ 6 มิ.ย.นี้ ภาคประชาชนเคารพการตัดสินใจของบอร์ด แต่ขอส่งความเห็นที่เป็นการเตือนล่วงหน้าว่า บอร์ด สปสช.ควรเลือกเลขาธิการฯ ด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมเพื่อให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเดินหน้าต่อไป” ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามภาคประชาชนเชื่อว่าระบบหลักประกันสุขภาพยังคงอยู่ ไม่ว่าจะมีเลขาธิการฯ แบบไหน ภาคประชาชนจะติดตามคุ้มครองระบบหลักประกันสุขภาพ เพราะเป็นระบบที่ดีที่สุดแล้ว ทั้งได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ แต่คนในประเทศเองกลับพยายามบอนไซระบบไม่ให้เติบโต ดังนั้นไม่ว่าอย่างไรเราคงดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้ประเทศไทยมีนโยบายสาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนต่อไป
- 3 views