จากคำสั่งย้ายพ้นตำแหน่งเลขาธิการ อย. ในปี 2551 หลัง 8 ปี ของการต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม ถึงคำตัดสินศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 ที่กลับคำตัดสินศาลปกครองชั้นต้น ให้ นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ชนะคดี พร้อมเพิกถอนมติ ครม. เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2551 และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2551 ที่ย้าย นพ.ศิริวัฒน์ ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งเพิกถอนคำสั่งของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2551 ที่ให้ นพ.ศิริวัฒน์ รักษาการตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข
นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล
สาเหตุสำคัญของคำสั่งย้ายที่ไม่เป็นธรรมครั้งนี้ เป็นผลพวงจากมาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (Compulsory Licensing: CL) เพื่อให้ผู้ป่วยในประเทศไทยเข้าถึงยาที่จำเป็นต่อการรักษาโรคเพื่อช่วยชีวิต
“กลายเป็นเรื่องช็อคโลก เมื่อประเทศไทยประกาศใช้ซีแอลยาในสมัย นพ.มงคล ณ สงขลา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข” นพ.ศิริวัฒน์ เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นคำสั่งย้ายนี้และกล่าวว่า โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยาข้ามชาติต่างตื่นตระหนกทั้งที่การทำซีแอลไม่ใช่เรื่องใหม่และมีหลายประเทศประกาศใช้ไปแล้ว อย่าง บราซิล อินเดีย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น เพียงแต่ที่ผ่านมาไทยเป็นเด็กดีและไม่เคยประกาศซีแอลทั้งที่มีกฏหมายสิทธิบัตรเปิดช่องให้ทำได้ แต่เมื่อประเทศไทยดำเนินนโยบายระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาอย่างครอบคลุมและทั่วถึงภายใต้งบประมาณที่จำกัด รวมถึงโรคค่าใช้จ่ายสูงการทำซีแอลจึงเป็นสิ่งจำเป็น
รายการยาที่ประเทศไทยได้ทำซีแอลล้วนแต่เป็นยาที่มีความจำเป็นต่อการเข้าถึง ได้แก่ ยาต้านไวรัสเอชไอวี 3 รายการ ยาโรคหัวใจ 1 รายการ และยามะเร็ง 4 รายการ ซึ่งก่อนการประกาศซีแอลได้ดำเนินการไปตามขั้นตอน โดยมีการเรียกบริษัทยาในรายการที่เตรียมประกาศบังคับใช้สิทธิ เข้าต่อรองเพื่อให้ได้ราคายาที่เหมาะสม ซึ่งบริษัทยาส่วนใหญ่ลดราคาให้เพียง 30 เปอร์เซ็น หรือไม่ลดราคายาแต่ใช้วิธีแถมแทน โดยอ้างเรื่องของต้นทุนและกลไกทางการตลาดทั้งที่มีกำไรมหาศาล ส่งผลการต่อรองให้ยังคงเป็นราคาที่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ารับไม่ไหว จึงต้องมีการประกาศซีแอลยาในที่สุด ซึ่งกระทบต่อบริษัทยาอย่างมาก
นพ.ศิริวัฒน์ เล่าต่อว่า หลังยุคของ นพ.มงคล ได้เข้าสู่รัฐบาลจากการเลือกตั้งในยุคของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขมี นายไชยา สะสมทรัพย์ ดำรงตำแหน่งเป็น รมว.สาธารณสุข ซึ่งมีความเข้าใจเกี่ยวกับซีแอลน้อยมาก ขณะเดียวกับที่บริษัทยาข้ามชาติได้วิ่งเข้าหารัฐบาลเพื่อให้ยุตินโยบายนี้ และต่อมาได้มีการประกาศทบทวนนโยบายซีแอลในที่สุด แม้ว่าตนเองจะพยายามของเข้าชี้แจงนโยบายซีแอลยาและขณะนั้นในส่วนของข้าราชการประจำที่เคยเป็นตัวจักรสำคัญในการทำซีแอลเหลือตนเพียงคนเดียว ในที่สุดก็ถูกคำสั่งย้ายจากเลขาธิการ อย.ไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง โดยระบุสาเหตุการสั่งย้ายว่าตนบกพร่องในหน้าที่
“ขณะนั้นนายไชยาซึ่งเป็น รมว.สาธารณสุขได้ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุที่ต้องย้ายต่อสื่อในลักษณะหมิ่นประมาทผม โดยบอกว่าโทรหาผมตอนสี่โมงเย็น ผมก็ไม่อยู่กลับบ้านไปแล้ว ผมไม่ลงไปตรวจไส้หมูนำเข้าที่มีปัญหาเชื้อปนเปื้อน ผมไม่ออกตรวจเครื่องดื่มผสมคาเฟอีน ทั้งที่ผมได้ปฏิบัติหน้าที่ การสั่งย้ายข้าราชการผมมองว่าเป็นสิ่งที่ทำได้และเป็นเรื่องปกติในราชการ แต่ไม่ควรใช้ข้อกล่าวหาที่ไร้สาระและไม่เป็นธรรมมาสั่งย้ายผมแบบนี้ และยังเป็นการย้ายนอกฤดูกาล ดังนั้นจึงต้องระบุเหตุผลให้ชัดว่า ย้ายผมเพราะผมทำให้เกิดความเสียหายอย่างไร ไม่ตอบสนองต่อนโยบายเรื่องใดบ้าง และซ้ำร้ายยังเป็นคำสั่งย้ายเร่งด่วนภายใน 24 ชั่วโมง ทั้งที่ไม่มีเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วนอะไร” อดีตเลขาธิการ อย.กล่าวและว่า ทั้งนี้เชื่อว่าคำสั่งย้ายครั้งนั้น มาจากการทำซีแอลยาที่กระทบผลต่ประโยชน์มหาศาลของอุตสาหกรรมยาข้ามชาติและบริษัทยาข้ามชาติน่าจะอยู่เบื้องหลังเพื่อให้เกิดการล้มนโยบายนี้
นพ.ศิริวัฒน์ กล่าวว่า จากความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น นอกจากชมรมแพทย์ชนบทและเครือข่ายผู้ป่วยได้ออกมาประท้วงต่อคำสั่งที่มิชอบในคำสั่งย้ายดังกล่าวแล้ว รวมถึงการขับไล่ รมว.สาธารณสุข ในส่วนของตนเองยังเดินหน้าเพื่อขอความเป็นธรรม เบื้องต้นต้องดำเนินไปตามขั้นตอนก่อน โดยได้อุทธรณ์คำสั่งย้ายต่อนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นจึงได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่งหลังการพิจารณาได้รับคำตอบว่า คำสั่งย้ายนี้ชอบแล้ว
จากนั้นจึงสามารถยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้ในปี 2551 เพื่อสู้คดีในชั้นศาล โดยได้ยื่นฟ้องบุคคลตามกระบวนการ มี นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 1 เนื่องจาก ครม.มีมติอนุมัติคำสั่งย้ายนี้ นายไชยา เป็นจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้เสนอคำสั่งย้ายต่อ ครม. และ นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ เป็นจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้เสนอชื่อต่อ รมว.สาธารณสุข ซึ่งศาลปกครองชั้นต้นได้วินิจฉัยเช่นเดียวกับ ก.พ. ดังนั้นจึงได้อุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งทั้งหมดใช้เวลานานถึง 8 ปี จนในที่สุดศาลปกครองสูงสุดจึงได้วินิจฉัยกลับคำตัดสินศาลปกครองชั้นต้นและให้ชนะคดี โดยระบุว่าเป็นคำสั่งย้ายโดยมิชอบ พร้อมกับให้เพิกถอนคำสั่งย้ายดังกล่าว
นพ.ศิริวัฒน์ กล่าวว่า ในช่วงที่ถูกคำสั่งย้ายส่วนตัวไม่ได้รู้สึกเสียใจอะไรและไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรต่อชีวิต แต่ที่ได้รับกระทบมากคือทำให้การเดินหน้านโยบายซีแอลขณะนั้นต้องขาดตอนลง เพราะแม้จะไม่มีการประกาศซีแอลยาเพิ่มเติมแล้ว แต่ในฐานะเลขาธิการ อย.เป็นผู้ที่ต้องจัดหายาสามัญที่มีคุณภาพเพื่อนำมาใช้กับผู้ป่วยในระบบ ขณะเดียวกันยังต้องทำงานร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ติดตามการใช้ยาซีแอลเหล่านี้ในผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ยังมีบทบาทสร้างความมั่นใจต่อคุณภาพยาซีแอลที่นำเข้ามาจากอินเดีย ซึ่งตอนนั้นหลายโรงพยาบาลไม่กล้าใช้เพราะด้วยราคาที่แตกต่างกับยาต้นแบบอย่างมาก เหล่านี้เป็นสิ่งที่เสียประโยชน์จากคำสั่งย้ายตน อีกทั้งในคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดยังระบุด้วยว่า แม้จะนำคนอื่นมาทำหน้าที่นี้ แต่ก็ไม่มีประสบการณ์ดำเนินกระบวนการทำซีแอลเช่นเดียวกับตน
อดีตเลขาธิการ อย. กล่าวว่า สำหรับคำตัดสินที่ได้รับในวันนี้ เป็นเพียงการกอบกู้ประวัติและศักดิ์ศรีของข้าราชการที่ถูกรังแก ถูกย้ายโดยมิชอบ ทั้งที่ได้ทำงานเพื่อเป็นประโยชน์ประชาชน เนื่องจากตนได้เกษียณอายุราชการตั้งแต่ 4 ปีที่แล้ว คงไม่สามารถคืนตำแหน่งอะไรได้ และคงไม่มีผลใดๆ ทางกฎหมาย เนื่องจากผู้ที่เกี่ยวข้องได้พ้นตำแหน่งไปแล้วและบางคนได้เสียชีวิตลงด้วย อย่างไรก็ตามหลังมีคำสั่งย้ายให้ไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงได้ทำหน้าที่นี้อยู่เพียง 8 เดือน เพราะเมื่อการเมืองเปลี่ยน โดยนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล ได้เข้าดำรงตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข ซึ่งเป็นผู้ที่เข้าใจและตนได้เคยเข้าไปอธิบายถึงความจำเป็นของการทำซีแอล จึงได้คืนความเป็นธรรมและย้ายให้มาดำรงตำแหน่งรองปลัด สธ.จนเกษียณอายุราชการ
ผลคำตัดสินศาลปกครองสูงสุดกรณีของ นพ.ศิริวัฒน์ ครั้งนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างข้าราชการที่ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมและปกป้องศักดิ์ศรีของความเป็นข้าราชการประจำจากคำสั่งย้ายโดยมิชอบ.
- 277 views