อาจารย์จุฬาฯ ปั้นแอพพลิเคชั่น ‘Resus Ultrasound’ เผยเป็น Interactive Textbook ครั้งแรกของคนไทยบน App Store สำหรับให้แพทย์ใช้ศึกษาหรือเป็นคู่มือการใช้อัลตร้าซาวน์ในห้องฉุกเฉิน หวังเป็นคู่มือช่วยลดความผิดพลาดในการวิเคราะห์อาการคนไข้
พญ.สุธาพร ล้ำเลิศกุล อาจารย์ประจำหน่วยฉุกเฉิน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดเผยว่า ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นบนไอโฟนชื่อ Resus Ultrasound ซึ่งเป็น Interactive textbook สำหรับให้แพทย์ใช้ศึกษาหรือเป็นคู่มือในการใช้อัลตร้าซาวน์เพื่อวิเคราะห์อาการผู้ป่วยในห้องฉุกเฉิน โดยเป็นแอพพลิเคชั่นแรกที่เป็น textbook ของคนไทยบน App Store และถ้านับเฉพาะในฟิลด์นี้ทั้ง App Store มีประมาณ 7-8 แอพฯ เท่านั้น
พญ.สุธาพร กล่าวว่า ศาสตร์ในการใช้อัลตร้าซาวน์ในห้องฉุกเฉินเริ่มมีได้ประมาณ 10 ปีแล้ว แต่ในไทยทำมาได้ 5 ปี และเริ่มใช้กันอย่างแพร่หลายในปีนี้ โดยเป็นปีแรกที่บรรจุอยู่ในหลักสูตรของแพทย์ฉุกเฉินด้วย ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยลดความผิดพลาดในการวิเคราะห์อาการผู้ป่วยได้อย่างมาก
“เมื่อก่อน คนไข้มาก็ตรวจด้วยมือ ซักประวัติ อย่างมากก็ส่งไปเอ็กซเรย์ พอมีศาสตร์ที่เรียกว่าการอัลตร้าซาวน์ในห้องฉุกเฉิน สมมุติเช่น มีคนไข้หัวใจหยุดเต้นเข้ามา ซักประวัติไม่ได้ เราก็สามารถอัลตร้าซาวน์ดูได้ว่าขาดน้ำหรือเปล่า มีน้ำ มีหนองอยู่ตรงไหน มันจะลดความผิดพลาดตรงนี้ หรือถ้าเป็นไข้เลือดออก เมื่อก่อนเราเข้าใจว่าคนที่เป็นไข้เลือดออกเสียชีวิตจากการขาดน้ำ เราก็ให้น้ำ แต่หลังพอมีการทำอัลตร้าซาวน์ในห้องฉุกเฉิน กลายเป็นว่าคนไข้ครึ่งหนึ่งขาดน้ำ ครึ่งหนึ่งน้ำเกิน ฉะนั้น ถ้าคนไข้เข้ามาแล้วไม่ซาวน์ก็บอกไม่ได้ หรือคนไข้ที่เป็นโรคไตและต้องแทงคอเพื่อทำล้างไต ถ้าสมัยก่อนก็มีโอกาสแทงโดนปอดได้ สมมุติ 5% แต่ตั้งแต่มีอัลตร้าซาวน์ กลายเป็น 0%” พญ.สุธาพร กล่าว
ขณะเดียวกัน ในส่วนของหมอทั่วไป ก็มีบางกรณีที่สามารถนำศาสตร์การใช้อัลตร้าซาวน์ไปใช้ได้โดยง่าย เช่น การดูหนอง ดังนั้นหมอทั่วไปหากนำอัลตร้าซาวน์มาใช้มากขึ้น ก็จะช่วยลดช่องว่างในการรักษาบางอย่างลงได้บ้าง
ทั้งนี้ แอพพลิเคชั่น Resus Ultrasound ตั้งราคาใน app store ไว้ที่ 4 ดอลล่าร์สหรัฐอเมริกา หรือประมาณ 120 บาท ซึ่งถือว่าไม่แพงเพราะตั้งใจให้คนไทยได้ใช้ก่อน ข้อดีของแอพพลิเคชั่นนี้คือมีทั้งตัวอักษรและวิดีโอ เมื่อโหลดมาไว้บนมือถือแล้ว แต่ต่อให้ไม่มีอินเทอร์เน็ตก็สามารถเปิดดูได้
Link ใน iTune Store (คลิก ที่นี่)
วิดีโอแนะนำการใช้ (คลิก ที่นี่)
- 128 views