นสพ.กรุงเทพธุรกิจ : "อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม" ส่งหนังสือถึง "สปท.-ครม." จี้ทบทวนมติเก็บภาษีเครื่องดื่มน้ำตาลเกินเกณฑ์กระทบสุขภาพ ชี้กระทบอุตฯ ต่อเนื่องทั้ง "น้ำตาล-บรรจุภัณฑ์-โลจิสติกส์" และ ผู้บริโภค แถมมติขาดความชอบธรรมเหตุปิดโอกาส ผู้มีส่วนได้เสียแสดงเหตุผล ขณะที่ กมธ.สาธารณสุขยันแก้ปัญหาตรงจุด เดินหน้าถกกรรมการ 3 ฝ่าย ก่อนเสนอ ครม.ภายในเดือนนี้
สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย ได้ส่งหนังสือถึง ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) พร้อมทั้งส่งสำเนาหนังสือไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อขอความเป็นธรรมในการทบทวนมติของ สปท.เกี่ยวกับมาตรการป้องกันและควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพและโภชนาการ ที่เสนอให้จัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานสุขภาพ
ก่อนหน้านี้ สปท.ได้มีมติเห็นชอบรายงานของคณะกรรมมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ที่เสนอให้จัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานสุขภาพ ประเภทน้ำอัดลม ชาเขียว กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง นมเปรี้ยว นมถั่วเหลือง น้ำผลไม้ โดยเสนอให้จัดเก็บ ภาษี 2 อัตรา ตามความเข้มข้นของน้ำตาล คือปริมาณน้ำตาลมากกว่า 6-10 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร จัดเก็บภาษีในอัตราที่ทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นไม่น้อยกว่า 20% ของราคาขายปลีก และปริมาณน้ำตาลมากกว่า 10 มิลลิกรัมต่อ 100 มิลลิลิตร จัดเก็บภาษีในอัตราที่ทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นไม่น้อยกว่า 25% ของราคาขายปลีก
"อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม" ยื่นทบทวนภาษีน้ำหวาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หนังสื่อที่สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย ส่งถึงประธาน สปท.ลงนามโดยนายวีระ อัครพุทธิพร อุปนายก สมาคมฯ เนื้อหาในหนังสือระบุว่า
ตามบันทึกการประชุมที่อ้างถึงสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ได้มีมติเห็นชอบรายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อน การปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เรื่องการป้องกันและควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพด้านอาหารและโภชนาการ ในประเด็นการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตฐานสุขภาพ โดยให้นำความเห็นและข้อเสนอแนะของสมาชิกสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ ปรับปรุงก่อนส่งรายงานไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการต่อไปนั้น
ยันมติ สปท.ขาดความชอบธรรม
สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย ในฐานะองค์กรกลางของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในประเทศไทย ขอเรียนมายังท่านด้วยความกังวลเป็นอย่างยิ่งว่า มติดังกล่าวถูกนำเสนอ ผลักดัน และขับเคลื่อน โดยกลุ่มคนเพียงเล็กๆ ที่มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยได้รับการสนับสนุนจากข้าราชการที่มิได้วางตัวเป็นกลาง ปิดโอกาสไม่ให้ผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญซึ่งจะได้รับผลกระทบนี้ได้มีส่วนร่วมให้ความคิดเห็นและนำเสนอข้อมูลประกอบ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม รอบด้าน และ ครบถ้วน
ทั้งนี้ สมาคมฯ จึงมีความเห็นว่ามติดังกล่าว ไม่มีความชอบธรรมและขัดแย้งต่อหลักการปฏิรูปประเทศที่จะต้องเปิดโอกาสและพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมในกระบวนการปฏิรูปด้วย
นอกจากการขาดความชอบธรรมแล้ว ข้อเสนอดังกล่าวยังขาดข้อมูลการศึกษาทางวิชาการที่น่าเชื่อถือเรื่องผลกระทบของนโยบายภาษีนี้ ทั้งต่ออุตสาหกรรมเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อุตสาหกรรมต่อเนื่องตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนประชาชนผู้บริโภคที่ข้อเสนอนี้ต้องการผลักภาระภาษีให้ทั้งหมดในรูปราคาขายปลีกที่จะต้องสูงขึ้น 20-25% โดยมีรายละเอียดตามเอกสารแสดงจุดยืนของสมาคมฯ ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ซึ่งหากมีการผลักดันต่อไปโดยไม่มีการศึกษาเรื่องนี้ในบริบทของประเทศไทยอย่างรอบคอบแล้ว ผลกระทบที่ตามมาอาจกว้างขวางและรุนแรง เกินกว่าที่กลุ่มคนดังกล่าวจะสามารถรับผิดชอบได้
ดังนั้น สมาคมฯ จึงใคร่ขอให้ท่านพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการทบทวนมติดังกล่าว พร้อมทั้งเปิดโอกาส และพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้มีโอกาสในการนำเสนอข้อมูลประกอบการพิจารณาอย่างรอบด้าน เท่าเทียมและทั่วถึง ก่อนที่จะดำเนินการใดๆ ต่อไป
ชี้กระทบอุตสาหกรรมต่อเนื่อง-ผู้บริโภค
นายวีระ ยังให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ในประเด็นเรื่องการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานสุขภาพ อยากให้ประธาน สปท.นำความเห็นและข้อเสนอแนะของสมาชิก สปท.มาทบทวนมติและปรับปรุงก่อนส่งรายงานไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อดำเนินการต่อไป เนื่องจากเห็นว่ามาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการภาษีที่มีผลกว้างขวาง ไม่จำกัดเฉพาะอุตสาหรรมเครื่องดื่มเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง เช่น น้ำตาล บรรจุภัณฑ์ โลจิสติกส์ รวมถึงผู้บริโภคที่จะต้องแบกรับค่าครองชีพที่สูงขึ้น
ปูดคนมีอคติผลักดัน
ทั้งนี้ มองว่าการผลักดันข้อเสนอการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มฯ ถูกผลักดันโดยคนกลุ่มเดียวที่มีอคติต่ออุตสาหกรรม และปิดกั้นไม่ให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการหารือประเด็นดังกล่าว ทำให้อุตสาหกรรมรับทราบเรื่องดังกล่าวล่าช้า จนกระทั่ง สปท.มีมติในเรื่องดังกล่าวออกมาแล้ว
ทางสมาคมฯ จึงอยากขอความเป็นธรรมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องว่า อยากให้ทุกฝ่ายได้รับโอกาสการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม โปร่งใส และเป็นธรรมในกระบวนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะและการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้การกระบวนการแก้ไขปัญหานี้ เป็นไปอย่างรอบคอบและมีความเป็นธรรม
หวั่นทำลายความเชื่อมั่นเอกชน
"หากรัฐบาลยอมรับกระบวนการนี้ นอกจากจะเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุดแล้ว ยังจะเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของกระบวนการปฏิรูปประเทศ และทำลายความเชื่อมั่นของภาคเอกชนในการดำเนินธุรกิจและการลงทุน อย่างไรก็ดี ทางสมาคมฯ ยืนยันว่าไม่เคยคัดค้านการแก้ไขปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นจากภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับทุกฝ่าย" อุปนายกสมาคมฯ ระบุ
ทั้งนี้ สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย เป็นการรวมกลุ่มของผู้ผลิตเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกฮอล์ โดยในปัจจุบันสมาคมฯ มีสมาชิกประกอบด้วยผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด, บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน), บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท กรีนสปอต จำกัด, บริษัท โอสถสภา จำกัด, บริษัท ฝาจีบ จำกัด (มหาชน)
สปท.เดินหน้าถกวิป สนช.-ครม.
ด้าน พญ.พรพันธุ์ บุณยรัตน์พันธุ์ สมาชิก สปท.ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม สปท. กล่าวว่า หลังจากที่ สปท.ได้ให้ความเห็นชอบรายงานของ กมธ.เรื่องการป้องกันและควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพด้านอาหารและโภชนาการไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนหลังจากนี้ก็จะมีการส่งรายงานให้คณะกรรมการร่วม 3 ฝ่ายที่มี สปท. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ ครม.หรือวิป 3 ฝ่ายเพื่อพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง
โดยขณะนี้อยู่ในช่วงรอการเสนอเข้าสู่วาระการพิจารณา คาดว่าประมาณสิ้นเดือนนี้ วิป 3 ฝ่ายน่าจะมีการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ในส่วนของ กมธ.จะต้องไปอธิบายให้ทั้ง 3 ฝ่ายได้เข้าใจอีกครั้ง หลังจากนั้นถ้าคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่ายให้ความเห็นชอบก็จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.เพื่อให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
มั่นใจได้รับความเห็นชอบ
ในส่วนของข้อท้วงติงจากกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย ที่มองว่าควรที่จะมีการรณรงค์การบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลในปริมาณที่เหมาะสม แทนการขึ้นภาษีที่อาจจะดูไม่เป็นธรรมนั้น พญ.พรพันธุ์ เห็นว่า การรณรงค์เป็นเพียงการจำกัดการให้ข้อมูลเพียงแค่กลุ่มคนที่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเท่านั้นหรือคนที่มีการศึกษาที่พอจะเข้าใจ แต่ก็ยังมีกลุ่มคนอีกมากที่ไม่สามารถเข้าถึงหรือไม่เข้าใจแนวทางในการป้องกัน
"ระบบภาษีคือถ้าพร้อมใจกันในการลดระดับน้ำตาลลงเท่ากับเราได้ป้องกันผู้ที่ไม่รู้ข้อมูลข่าวสารไปด้วย เขาก็จะได้รับเครื่องดื่มที่มีคุณภาพมีน้ำตาลน้อยไปด้วย เราจึงคิดว่าจะมีความครอบคลุมที่กว้างขวางกว่า"
พญ.พรพันธุ์ กล่าวด้วยว่า ความเห็นจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยต่อประเด็นนี้ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา ก็ต้องสู้กันด้วยเหตุผล ในส่วนของ กมธ.ก็ได้เตรียมไปชี้แจงทำความเข้าใจกับฝ่ายต่างๆ ส่วนตัวยังมีความมั่นใจว่าประเด็นดังกล่าวจะได้รับความเห็นชอบ
ชี้เอกชนไม่เสียประโยชน์-ลดต้นทุนผลิต
"เราได้ทำการศึกษามาเป็นเวลา 10 ปีอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้มีการศึกษามีข้อมูลทางวิชาการ รวมถึงงานวิจัยต่างๆ มาเป็นอย่างดี จึงมีความเชื่อมั่นว่า เรื่องดังกล่าวจะเป็นการป้องกันสาเหตุที่แท้จริง และจะเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ปลอดภัยขึ้นสำหรับประชาชนคนไทยทุกคน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ประเด็นนี้อาจจะเรียกว่าใช้ยาแรงแต่เราคิดว่าเป็นการป้องกันคนไทยให้มีสุขภาพดีขึ้น"
ส่วนที่มองว่าผลประโยชน์ของบริษัทผู้ผลิตจะเสียไปนั้น พญ.พรพันธุ์ ชี้ว่า ไม่น่าจะเสีย เพราะหากมีการปรับสูตรเสียใหม่ก็จะเป็นการลดต้นทุนด้วยซ้ำ เนื่องจากใช้น้ำตาลน้อยลง และเทรนด์ต่อไปข้างหน้าก็จะนำไปสู่แนวทางเช่นนี้ทั้งนั้น ดังนั้นบริษัทที่มีการปรับตัวก่อนก็จะถือว่าได้กำไร
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 15 พฤษภาคม 2559
- 127 views