กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ/เครือข่ายประชาชน 9 ด้าน ยื่นหนังสือ “หมอปิยะสกล” แสดงจุดยืนหนุนแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หลังใช้มากว่า 10 ปี เพื่อความก้าวหน้า แต่ต้องเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมแก้ไขกฎหมาย พร้อมคงเจตนารมณ์เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน พร้อมเรียกร้อง รมว.สธ.สื่อสารรัฐบาลเข้าใจระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หลังร่าง รธน.ฉบับใหม่ ยังระบุจำกัดสิทธิรักษาฟรีเฉพาะผู้ยากไร้
นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์แห่งประเทศไทย ในฐานแกนนำกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ พร้อมด้วยแกนนำเครือข่ายประชาชน 9 ด้าน ได้แก่ เด็กหรือเยาวชน, สตรี, ผู้สูงอายุ, คนพิการหรือผู้ป่วยจิตเวช, ผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือผู้ป่วยเรื้อรังอื่น, ผู้ใช้แรงงาน, ชุมชนแออัด, เกษตรกร และชนกลุ่มน้อย ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เพื่อสนับสนุนการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ใช้มานานเกินกว่า 10 ปีแล้ว ถือเป็นทิศทางที่ก้าวหน้า เพื่อให้ทันกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทั้งสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เพียงแต่ควรเป็นการปรับปรุงแก้ไขโดยการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
นายอภิวัฒน์ กล่าวว่า ในการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องไม่เปลี่ยนแปลงหลักการและเจตนารมณ์ของกฎหมาย พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นกฎหมายที่อิงกับหลักสิทธิมนุษยชน มีเจตนารมณ์สำคัญที่มุ่งให้ประชาชนทุกคนได้รับสิทธิในการรับบริการสาธารณสุขอย่างเสมอภาค และสามารถเข้ารับบริการได้โดยไม่มีอุปสรรคกีดขวาง โดยเฉพาะอุปสรรคด้านการเงิน นอกจากนี้ประชาชนยังต้องไม่ล้มละลายจากการรักษา
ทั้งนี้จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีมีข้อมูลเพียงว่าระบบหลักประกันสุขภาพเป็นปัญหาด้านงบประมาณของประเทศ จึงสั่งให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในลักษณะการรวมศูนย์อำนาจ โดยไม่เปิดให้มีการมีส่วนร่วม ทำให้เกิดความกังวลต่อการแก้ไขกฎหมายอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนได้ ดังนั้นกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ พร้อมด้วยเครือข่ายประชาชน 9 ด้าน จึงขอเรียกร้องการดำเนินการแก้ไขกฎหมาย ดังนี้
ต้องเปิดรับฟังความเห็นประชาชน และให้มีตัวแทนประชาชนเข้าร่วมเป็นกรรมการพิจารณาปรับปรุงกฎหมาย
ยืนยันเจตนารมณ์ของกฎหมายที่เป็นการคุ้มครองสิทธิประชาชน เป็นสิทธิขึ้นพื้นฐาน จึงต้องจัดเป็นสวัสดิการถ้วนหน้าและไม่ทำให้ประชาชนเข้าไม่ถึงการรับบริการ เพราะเหตุแห่งความยากจน การไม่มีรายได้ และต้องกลายเป็นผู้รับการสงเคราะห์การรักษา ไม่ใช่เป็นเพราะเป็นสิทธิพื้นฐานในการดำรงชีวิต
สำหรับในส่วนของการแก้ไขเนื้อหา พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น นายอภิวัฒน์ กล่าวว่า ได้มีข้อเสนอให้ปรับปรุง อาทิ การให้คำนิยามบริการสาธารณสุขที่ต้องชัดเจน ครอบคลุมทั้งเรื่องบริการสุขภาพและสาธารณสุข, การยกเลิกเก็บเงินทุกครั้งที่เข้ารับบริการในมาตรา 5 โดยสนับสนุนการร่วมจ่ายในรูปแบบภาษี, ปรับปรุงองค์ประกอบคณะกรรมการ 2 ชุด ตามมาตรา 13 และ 48 เพิ่มผู้แทนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารกองทุนโดยตรง และปรับผู้แทนสภาวิชาชีพไปอยู่ในกรรมการชุดควบคุมคุณภาพมาตรฐาน และขยายการคุ้มครองสิทธิ์เมื่อได้รับความเสียหายให้ครอบคลุมผู้รับบริการ ตัดมาตรา 42 ที่เกี่ยวข้องกับการไล่เบี้ยผู้กระทำผิดในการทำให้เกิดความเสียหายขึ้น เป็นต้น
นายอภิวัฒน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังได้ขอให้ รมว.สาธารณสุข แสดงจุดยืนต่อร่างรัฐธรรมนุญที่มีการระบุการให้สิทธิรักษาพยาบาลในสถานบริการภาครัฐเฉพาะผู้ยากไร้ โดยอยากให้ท่านเป็นผู้สื่อสารกับรัฐบาลให้เข้าใจถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของรัฐในการจัดสนับสนุนการบริการสุขภาพให้กับประชาชนเพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และต้องไม่ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากลายเป็นระบบที่อ่อนแอหรือเป็นบริการชั้นล่างสำหรับคนยากไร้
- 11 views