มูลนิธิโรคไต เผยผลสำเร็จ “โครงการปลูกถ่ายไตถวายเป็นพระราชกุศล 60 พรรษาสมเด็จพระเทพฯ” สามารถผ่าตัดปลูกถ่ายไตให้กับผู้ป่วยถึง 618 ราย ภายใน 1 ปี เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ พร้อมเดินหน้าต่อยอดโครงการจัดหาผู้บริจาคไตเพิ่ม เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับผู้ป่วยที่รอเปลี่ยนไตจำนวนมาก
นพ.วิศิษฏ์ สิตปรีชา รองประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับหน่วยงานผู้สนับสนุนโครงการจำนวน 12 แห่ง และโรงพยาบาลทั่วประเทศ จำนวน 58 แห่ง จัดทำ “โครงการปลูกถ่ายไตถวายเป็นพระราชกุศล 60 พรรษาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2558 ที่ผ่านมา
โครงการได้ครบกำหนดระยะเวลา 1 ปีในปีนี้ โดยมีผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตแล้วทั้งสิ้น จำนวน 618 ราย เป็นไตจากญาติ จำนวน 226 ราย เป็นไตจากการบริจาค 392 ราย จากที่มูลนิธิฯ ได้ตั้งเป้าถวายเป็นพระราชกุศลไว้ จำนวน 600 ราย ถือว่าโครงการประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของหลายๆ ฝ่าย ทำให้ยอดผ่าตัดปลูกถ่ายไตเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายที่วางไว้ สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยให้ได้รับการปลูกถ่ายไตมากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมให้มีการบริจาคไต ตลอดจนอวัยวะอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น และยังสนับสนุนให้หน่วยงานและสถาบันการแพทย์จัดตั้งโครงการปลูกถ่ายไตเพิ่มมากขึ้น และดำเนินงานมีคุณภาพเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
ทั้งนี้โครงการดังกล่าว ได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากหลายๆ ฝ่าย ดังนี้
1.กระทรวงสาธารณสุข
2.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล
3.มูลนิธิท่านท้าวมหาพรหมโรงแรมเอราวัณ
4.ศิริราชมูลนิธิ
5.มูลนิธิศิริวัฒนภักดี
6.สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
7.สำนักงานประกันสังคม
8.กรมบัญชีกลาง
9.ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย
10.โรงพยาบาลที่ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายไตและสนับสนุนอวัยวะ
11.สมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย
12.สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย
13.สถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์
และ 14.ผู้มีจิตศรัทธาทั่วไป
อย่างไรก็ดี ภายในปี 2559 ทางมูลนิธิฯ มีแผนงานที่จะดำเนินโครงการต่อไป เพื่อผู้ป่วยโรคไตจำนวนมากที่ยังรอการปลูกถ่ายไตอยู่ แม้ว่าการผ่าตัดปลูกถ่ายไตในประเทศไทย เริ่มทำการปลูกถ่ายไตตั้งแต่ปี 2514 แต่การปลูกถ่ายไตในประเทศไทยยังไม่ตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยได้เพียงพอ ด้วยจำนวนผู้ป่วยโรคไตที่รอการผ่าตัดปลูกถ่ายไตเพิ่มมากขึ้นทุกปี ปัญหาใหญ่คือการบริจาคไต
โดยในปี 2556 ผู้ป่วยรอรับการปลูกถ่ายไตจากภาวะสมองตาย อยู่ถึง 3,900 ราย แต่มีผู้สมองตายบริจาคไตเพียง 158 ราย และปลูกถ่ายไตได้เพียง 287 ราย คิดเป็นเพียงร้อยละ 7.3 เท่านั้น ซึ่งมูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทยจะเดินหน้าสนับสนุนจัดทำโครงการปลูกถ่ายไตให้กับผู้ป่วยที่ยากไร้ต่อไป เนื่องจากการปลูกถ่ายไต (Kidney Transplantation) เป็นการบำบัดทดแทนไตที่ดีที่สุด โดยนำไตที่ยังทำงานได้ดีของผู้อื่น มาปลูกถ่ายใส่ร่างกายของผู้ป่วย เพื่อให้ไตใหม่ที่ทำงานได้ดี จะทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว สามารถประกอบกิจกรรมต่างๆ ได้เหมือนคนปกติ แต่ปัญหาที่พบคือระยะเวลาการรอรับอวัยวะยาวนานเนื่องจากจำนวนผู้บริจาคอวัยวะมีจำนวนน้อย
“การบริจาคอวัยวะในประเทศไทยนั้น ดำเนินการโดยศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย ซึ่งทำหน้าที่ประสานงานให้มีการบริจาคอวัยวะ นำอวัยวะของผู้บริจาคไปปลูกถ่ายยังผู้รอรับบริจาคที่ได้ขึ้นทะเบียนตามลำดับ โดยดูที่ความเร่งด่วน การเข้ากันของอวัยวะ ปัจจุบันยังมีผู้เสียชีวิตจากสมองตาย บริจาคอวัยวะน้อยมากเพียงปีละ 80 รายเท่านั้น โดยสถิติตามจำนวนประชากรแล้วประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากสมองตายและบริจาคอวัยวะได้ จำนวนประมาณ 1,000 รายต่อปี ทั้งนี้ผู้บริจาค 1 ราย สามารถนำอวัยวะไปปลูกถ่าย ได้แก่ ไต 2 ข้าง ตับ หัวใจ และปอด ให้แก่ผู้รอปลูกถ่ายอวัยวะได้ถึง 3-5 ราย นับเป็นการสร้างบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ในวาระสุดท้ายของชีวิต และเป็นที่น่ายินดีว่า สปสช.ได้กำหนดให้การปลูกถ่ายไตเป็นสิทธิที่ผู้ป่วยพึงได้รับ” นพ.วิศิษฏ์ กล่าว
ด้าน พญ.ประนอม คำเที่ยง รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อว่า ปัจจุบันคาดว่าทั่วประเทศมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังประมาณ 8 ล้านคน โดย 1 ใน 3 มีอายุน้อยกว่า 60 ปี ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย 200,000 คน มีผู้เสียชีวิตจากไตวายปีละ 13,000 คน และมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 10,000 คน โดยผู้ป่วยไต 1 คน มีค่าใช้จ่ายในการล้างไตด้วยวิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หรือล้างไตผ่านทางหน้าท้องต่อคนเฉลี่ยเดือนละ 30,000 บาท ซึ่งแต่ละปีใช้งบประมาณสูงถึง 3,000 ล้านบาท คาดว่าในปี 2560 อาจต้องใช้งบประมาณถึงกว่า 17,000 ล้านบาท ต้นเหตุส่วนใหญ่ร้อยละ 70 เกิดจากป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูงและการรับประทานเค็มซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคไตมากขึ้น
อย่างไรก็ตามการรักษาโดยการปลูกถ่ายไตทั่วโลกยอมรับกันว่า เป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการบำบัดรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งปัจจุบัน สปสช.ได้ให้สิทธิประโยชน์การปลูกถ่ายไตในระบบบัตรทอง ทำให้ผู้ป่วยคนไทยทุกรายมีสิทธิประโยชน์ในการปลูกถ่ายไตทำให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ได้รับการปลูกถ่ายไตเพิ่มขึ้น จาก 200-250 ราย เป็น 400-500 รายและเป้าหมายสัดส่วนตัวเลขผู้ได้รับการปลูกถ่ายไตจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากนโยบายที่จะให้โรงพยาบาลทั่วไปที่ดูแลผู้ป่วยสมองตายให้มีการวินิจฉัยสมองตายและเปิดโอกาสให้บริจาคอวัยวะทุกราย เป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดโอกาสให้ผู้ป่วย ญาติ บุคลากรที่ร่วมดูแลผู้ป่วย ทีมประสานงานการปลูกถ่ายอวัยวะได้ร่วมกันสร้างทานอันสูงสุด
- 1171 views