สปสช.เปิดมติบอร์ด ยันอดีตรักษาการเลขาธิการตั้งคณะทำงานตามมติบอร์ด ไม่ใช่การลุแก่อำนาจตามที่ถูกกล่าวหา ส่วนการจัดซื้อน้ำยาล้างไตผ่าน อภ.ที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริตนั้น ล่าสุด อภ.ทำหนังสือถึง คกก.สรรหาเลขาธิการ สปสช. แจง อภ.ไม่มีงบสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ หรือเงินสวัสดิการใดๆ ให้แก่ สปสช.สำหรับการจัดซื้อน้ำยาล้างไต และราคาที่ สปสช.ซื้อได้เป็นราคาที่ต่ำกว่าที่ขายภายในประเทศและขายให้ประเทศอื่นในภูมิภาคด้วย
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สปสช.ขอชี้แจงประเด็นที่ พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา และพวกได้ทำหนังสือเปิดผนึกถึงกรรมการสรรหาเลขาธิการ สปสช. มีข้อกล่าวหาให้ร้าย นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช.ใน 2 ประเด็นนั้น ประเด็นแรกคือการกล่าวหาว่า เมื่อครั้งที่ นพ.ประทีป ยังทำหน้าที่รักษาการเลขาธิการ สปสช.ได้แสดงถึงความลุแก่อำนาจด้วยการแต่งตั้งคณะทำงานที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติให้ยกเลิกแล้วกลับมาทำงานอีก เพียงแต่เปลี่ยนชื่อจากคณะกรรมการเป็นคณะทำงานเท่านั้น ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลเท็จ มีเจตนามุ่งร้ายหวังผลต่อการสมัครเลขาธิการ สปสช.คนใหม่
ทพ.อรรถพร กล่าวต่อว่า คำสั่งแต่งตั้งที่ดำเนินการในอำนาจของรักษาการเลขาธิการ สปสช.นั้น ทำตามมติบอร์ด สปสช.ทุกประการ ผู้สนใจสามารถหาอ่านได้ในเว็บไซต์ของ สปสช. ที่มาของเรื่องนี้สืบเนื่องจากในการประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2559 กรรมการท่านหนึ่งขอหารือที่ประชุมเรื่องการออกคำสั่ง สปสช.ที่ 17/2559 ลงวันที่ 22 มกราคม 2559 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบการจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเพื่อให้ยุติในประเด็นดังกล่าวบอร์ด สปสช.จึงมีมติให้ สปสช.ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวนี้ โดยให้ สปสช.ดำเนินการจัดทำเป็นคำสั่งแต่งตั้งภายในเพื่อสนับสนุนงานตามอำนาจหน้าที่ของเลขาธิการ
ต่อมาในการประชุมบอร์ด เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2559 มีการนำเรื่องนี้ขึ้นหารืออีกครั้ง และมติบอร์ด สปสช.ในวันนั้นสรุปยืนยันเห็นชอบว่า สำนักงานได้ยกเลิกการออกคำสั่ง สปสช.ที่ 17/2559 ลงวันที่ 22 มกราคม 2559 แล้ว และได้จัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเป็นการภายในเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของเลขาธิการ และไม่จำเป็นต้องมีการสอบสวนข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งนี้ เป็นไปตามมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2559 วันที่ 7 มีนาคม 2559 แล้ว
ทพ.อรรถพร กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นที่ 2 นั้น คือการกล่าวหาว่าไม่สุจริตในการจัดซื้อน้ำยาล้างไตCAPD โดยมีการแสวงหาประโยชน์จากการจัดซื้อดังกล่าว ซึ่งในเรื่องดังกล่าวนั้น เมื่อวันที่ 27 เมษายน 59 ที่ผ่านมา องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้ทำหนังสือถึง คณะกรรมการสรรหาเลขาธิการ สปสช.เรื่อง ข้อเท็จจริงโครงการน้ำยาล้างไต CAPD ของ สปสช.ว่า เนื่องจากประเทศไทยได้กำหนดให้การล้างไตผ่านช่องท้องหรือ CAPD เป็นบริการแรกสำหรับการทดแทนไตที่ให้กับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายทุกรายที่ไม่มีข้อห้ามทางการแพทย์ หรือที่เรียกว่านโยบาย PD First เนื่องจากการล้างไตช่องท้องด้วยน้ำยาล้างไต CAPD นั้น ผู้ป่วยสามารถทำได้ด้วยตนเองที่บ้าน จึงทำให้ประหยัดเวลาในการเดินทาง ประหยัดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยเองหรือญาติที่ไม่ต้องพามา รพ.และเมื่อ สปสช.เข้ามาดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว ได้มอบให้ อภ.เป็นผู้จัดหาและส่งน้ำยาล้างไตทางช่องท้องถึงบ้านผู้ป่วยและหน่วยบริการตั้งแต่ปี 2551 โดยมีการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยร้อยละ 15-20 ต่อปี จากข้อมูลปี 2558 มีผู้ป่วยล้างไตช่องท้องในระบบ 18,615 ราย
สำหรับแหล่งจัดซื้อน้ำยาล้างไตนั้น อภ.จัดซื้อจาก 2 บริษัทและได้ต่อรองราคาจากบริษัทผู้จำหน่าย ได้ราคาถุงละ 113- 115 บาท อภ.ขายให้กับ สปสช.รวมค่าบริหารจัดการ ค่าจัดเก็บสำรองและค่าขนส่งถึงบ้านของผู้ป่วยที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ในราคาเฉลี่ยถุงละ 128-130 บาท จากราคาจำหน่ายในประเทศทั่วไปถุงละ 150-170 บาท และเมื่อเทียบกับราคาขายที่ทั้ง 2 บริษัทนี้ขายในประเทศมาเลเซียถุงละ 171 บาท ขายในประเทศฟิลิปปินส์ถุงละ 175 บาท และขายในประเทศสิงคโปร์ถุงละ 325 บาท จะพบว่าราคาที่ขายในประเทศไทยเป็นราคาที่ขายต่ำสุด
ในหนังสือดังกล่าว อภ.ยังระบุว่าการขายน้ำยาล้างไต CAPD ให้กับ สปสช.ในราคานี้ เป็นราคาที่ อภ.ดำเนินการตามพันธกิจเพื่อสังคมโดยไม่หวังผลกำไรตอบแทน ซึ่งการดำเนินการตามพันธกิจครั้งนี้ อภ.ไม่มีงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐให้แก่ สปสช.สำหรับการจัดซื้อน้ำยาล้างไต CAPD
“จึงขอชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องให้สังคมได้รับทราบกัน ก่อนที่จะมีการขยายข้อมูลเท็จและสร้างความเสียหายไปมากกว่านี้ และ สปสช.ขอวิงวอนให้กลุ่มบุคคลที่เผยแพร่ข้อมูลไม่ถูกต้องได้ศึกษาข้อเท็จจริงก่อนที่จะดำเนินการใดๆ ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นการสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นไม่มีที่สิ้นสุด และไม่ก่อให้ประโยชน์ใดๆ ต่อระบบสาธารณสุขแม้แต่น้อย เพราะเป็นข้อมูลเท็จและก็ขอให้หยุดการเผยแพร่ส่งต่อข้อมูลเท็จนั้นเสีย เพราะการสร้างความขัดแย้งด้วยข้อมูลที่บิดเบือนและไม่ถูกต้องนั้นไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ต่อสังคมเลย” โฆษก สปสช. กล่าว
- 426 views