ประวัติศาสตร์การดูแลรักษาสุขภาพของชาวพม่าหรือการแพทย์พื้นบ้านพม่าอิงอยู่กับแนวคิดของการแพทย์อายุรเวทของอินเดีย ซึ่งได้รับการสนับสนุนและพัฒนาจากกษัตริย์พม่ามาโดยตลอด กล่าวคือ

ตั้งแต่ราชวงศ์ตองอู (ค.ศ.1486-1752 หรือ พ.ศ.2029-2295) การรักษาพยาบาลคนไข้มักกล่าวถึงสมุนไพรเป็นหลัก จนกระทั่งยุคอังวะมีการค้นพบแท่นหินที่จารึกเหตุแห่งโรคต่างๆ บนแท่นหินทั้ง 4 ด้าน ยุคนี้มีพระที่มีชื่อเสียงได้บันทึกความรู้ทางการแพทย์ไว้ในรูปของบทกวี

ส่วนตำราการแพทย์พม่าที่สำคัญนั้นเป็นผลงานของพระเจ้าอโนเพตลุนที่ได้โปรดให้รวบรวมขึ้น ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ตำราด้วยกัน คือ ตำราที่ว่าด้วยคำอธิบายรายละเอียดของธาตุ ตำราที่ว่าด้วยการรวมกันของธาตุต่างๆ ตำราว่าด้วยการเกิดของกายธาตุของสิ่งมีชีวิต ตำราชั้นสูงเกี่ยวกับรายละเอียดของธาตุต่างๆ และตำราเกี่ยวกับหลักสำคัญของธาตุทั้ง 8 ในราชวงศ์คองบอง (ค.ศ.1752-1885 หรือ พ.ศ.2295-2428) สมัยพระเจ้าอลองพญา พระสงฆ์นามว่า “ฉิ่น นายา” ได้รวบรวมตำราการแพทย์พื้นบ้านถึง 7 ตำราด้วยกัน อีกทั้งยังค้นพบตำราการรักษาโรคทางนรีเวช โรคเด็ก การรักษาอาการไข้ ริดสีดวงทวาร โรคฝีดาษ อีสุกอีใส อุจจาระร่วง การรักษาแผล รวมทั้งตำราการรักษาอาการผิดปกติทางจิต การพัฒนาการแพทย์พื้นบ้านพม่าในช่วงนี้สะท้อนอิทธิพลของอายุรเวทของอินเดียที่แพร่เข้ามาในพื้นที่พม่าพร้อมกับพระพุทธศาสนา มีหลักฐานระบุว่ากษัตริย์พม่าส่งพระสงฆ์และแพทย์พื้นบ้านพม่าไปเรียนรู้การแพทย์แบบอายุรเวทที่อินเดียในปี ค.ศ.1785 (พ.ศ.2328) และนำตำราการรักษาพยาบาลกลับมาแปลเป็นภาษาพม่า มีชื่อสมุนไพรที่ใช้ดูแลรักษาสุขภาพมากถึง 700 ชนิด

ในช่วง ค.ศ. 1857-1885 (พ.ศ.2400-2428) กษัตริย์พม่าได้พัฒนาตำราการแพทย์พื้นบ้านเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมากที่แปลจากตำราการแพทย์อายุรเวท ตำราเหล่านี้ส่วนมากแปลโดยพระสงฆ์ มีวัดซึ่งทำหน้าที่เป็นสถาบันการศึกษาด้านการแพทย์พื้นบ้าน และยังพบว่ามีแพทย์พื้นบ้านหลายคนที่มิได้อยู่ในสมณเพศได้รวบรวมตำราการแพทย์พื้นบ้านไว้ ไม่ว่าจะเป็นตำราว่าด้วยการใช้ชีวิตในแต่ละช่วงฤดูกาลเพื่อการมีสุขภาพที่ดี ตำราการบริโภคอาหารให้เหมาะสมกับธาตุในร่างกาย และตำราการวินิจฉัยเหตุแห่งโรคโดยใช้หลักทฤษฎีร้อนเย็น ซึ่งได้กลายเป็นหลักวินิจฉัยโรคของการแพทย์พื้นบ้านพม่าเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ในประวัติศาสตร์พม่า ยุคสมัยที่การแพทย์พื้นบ้านเป็นที่ยอมรับกันมากโดยเฉพาะในราชสำนักพม่านั้น มีการคัดเลือกแพทย์พื้นบ้านเพื่อมาประจำการเป็นแพทย์หลวงในราชสำนัก โดยแพทย์พื้นบ้านที่สามารถเข้ามาเป็นแพทย์หลวงของกษัตริย์พม่าได้จะต้องเป็นผู้ที่สืบทอดหรือมีบรรพบุรุษเป็นแพทย์พื้นบ้าน มีความรู้ทักษะในการรักษาคนไข้โดยจะต้องผ่านการสอบจากคณะแพทย์หลวง แพทย์พื้นบ้านที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับเงินเดือนๆ ละ 53 จั๊ต กษัตริย์พม่าแต่งตั้งแพทย์หลวงประจำพระองค์ถึง 10 คน แพทย์หลวงประจำพระมเหสีและพระประยูรญาติอีก 7 คนด้วยกัน

กล่าวได้ว่า การแพทย์พื้นบ้านพม่าตามแนวทางการแพทย์อายุรเวทนั้นมีลักษณะที่แตกต่างออกไปจากการรักษาแบบพื้นบ้านของประชาชนทั่วไปที่มีลักษณะผสมผสานกันทั้งความเชื่อทางพุทธศาสนา ไสยศาสตร์ และสมุนไพร และแม้ว่าพระสงฆ์ยังมีบทบาทอย่างมากในการแพทย์พื้นบ้านที่อิงอยู่กับแนวคิดอายุรเวทในฐานะเป็นผู้ผลิตตำราแพทย์และเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ แต่กลับไม่ปรากฏแพทย์หลวงหรือแพทย์ที่มีชื่อเสียงในราชสำนักพม่าเป็นพระสงฆ์ หากแต่เป็นบุคคลที่สืบทอดวิชาการแพทย์จากบรรพบุรุษและยังมีการศึกษาเรียนรู้ผ่านตำราที่มีการรวบรวมเป็นภาษาพม่าไว้เป็นจำนวนมาก ในขณะที่บทบาทของพระสงฆ์ในฐานะผู้รักษากลับมีอยู่มากในการรักษาพื้นบ้านในท้องถิ่นห่างไกล

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประวัติศาสตร์การดูแลรักษาสุขภาพของชาวพม่าก่อน ค.ศ.1824 (พ.ศ.2367) เริ่มมีการพัฒนาการแพทย์พื้นบ้านที่อิงแนวคิดการแพทย์อายุรเวทอย่างเป็นระบบ โดยเริ่มที่ราชสำนักพม่า แต่เมื่อพม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษการแพทย์พื้นบ้านพม่าที่พัฒนามาแต่เดิมกลับถูกนิยามว่าเป็นการแพทย์ที่หลอกลวง การแพทย์พื้นบ้านในสายตาแพทย์อังกฤษในยุคนั้นคือการรักษาที่ล้าสมัย ไม่มีประสิทธิภาพและไม่ปลอดภัย แต่ด้วยข้อจำกัดด้านเงินและบุคลากร อังกฤษได้ใช้แพทย์พื้นบ้านพม่าเป็นกำลังคนสนับสนุนการแพทย์สมัยใหม่ในการควบคุมโรคในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งนำไปสู่การผลักดันแนวคิดการแพทย์สมัยใหม่ให้เป็นระบบการแพทย์กระแสหลักในสังคมพม่า ตลอดจนเบียดขับให้พระสงฆ์หลุดออกไปจากการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่นอย่างชัดเจน

แต่การมาของการแพทย์สมัยใหม่ในสังคมพม่าก็มิอาจทำลายรากฐานของการแพทย์พื้นบ้านพม่าไปได้อย่างสิ้นเชิงเนื่องด้วยข้อจำกัดทางด้านเศรษฐกิจที่ยังทำให้ประชาชนพม่าเข้าถึงการรักษาแบบสมัยใหม่ได้ยาก แต่กลับพึ่งพาการดูแลรักษาแบบการแพทย์พื้นบ้านได้มากกว่า

เก็บความจาก

เทพินทร์ พัชรานุรักษ์. “การพัฒนาการแพทย์พื้นบ้านพม่า: มาตรฐานการรักษาและโอกาสของคนจน” ใน วัฒนธรรมสุขภาพในสังคมอาเซียน. นนทบุรี: สุขศาลา สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.), 2558, หน้า 75-96.

ขอบคุณภาพจาก

www.panoramicjourneys.com

 www.icimod.org