แกนนำภาคประชาชนด้านสุขภาพ ประกาศไม่รับร่าง รธน.ปี 2559 ฉบับมีชัย เหตุเนื้อหาสุขภาพแย่สุด ซ้ำล้าหลังเมื่อเปรียบเทียบกับ รธน.ฉบับเดิม ไม่เคารพสิทธิประชาชน ไม่ศึกษารากเหง้าระบบสุขภาพประเทศ คงแนวคิดจัดแบบสงเคราะห์ผู้ยากไร้ แถมลิดรอนสิทธิภาคเอกชนและประชาชน กันไม่ให้มีส่วนร่วมจัดบริการสุขภาพ ซ้ำไม่สนใจการปฏิรูประบบสุขภาพลดความเหลื่อมล้ำ พร้อมเสนอร่าง รธน.ฉบับใหม่ สู่การพัฒนาระบบสุขภาพประเทศ
นายนิมิตร์ เทียนอุดม
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และอดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพสัดส่วนภาคประชาชน กล่าวถึงสิทธิการรักษาพยาบาลและบริการสุขภาพในร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2559 ฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งอยู่ระหว่างการเตรียมลงประชามติทั่วประเทศ ว่า ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เมื่อดูในส่วนด้านสุขภาพ ต้องบอกว่าแย่ที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และ 2550 รวมถึงร่างของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่ตกไปก่อนหน้านี้ เพราะเป็นฉบับที่ผู้ร่างนอกจากไม่สนใจเรื่องระบบสุขภาพของประเทศแล้ว ยังสนับสนุนความเหลื่อมล้ำในระบบหลักประกันสุขภาพ โดยยังคงพูดถึงเรื่องความยากจน ซึ่งคนยากไร้เท่านั้นที่ได้รับบริการจากรัฐ เรียกว่ายังคงใช้วิธีคิดสงเคราะห์แบบเดิมๆ
ทั้งนี้เมื่อดูเนื้อหาเพิ่มเติม ยังมีสิ่งที่น่ากังวลมากที่สุด คือมีการลิดรอนสิทธิของภาคเอกชน และประชาชนในการเข้ามีส่วนร่วมจัดบริการสุขภาพ ซึ่งเดิมรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้เคยระบุได้ชัดเจนในมาตรา 80 (2) ที่สนับสนุนและส่งเสริมให้ให้เอกชนและชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาสุขภาพและการจัดบริการสาธารณสุข แต่ร่างรัฐธรรมนูญของนายมีชัย กลับมีการตัดเรื่องเหล่านี้ออกหมด เท่ากับว่าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้มุ่งไปสู่การปฎิรูปรัฐธรรมนูญเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ อีกทั้งระบบสุขภาพไม่ใช่แค่เรื่องของหมอและกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น ตรงนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก
“เราเริ่มปฏิรูปประเทศตั้งแต่ปี 2540 และต่อมาได้เกิดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี 2545 โดยในรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้มีการระบุถึงการจัดบริการและการเปิดให้มีส่วนร่วมทั้งจากภาคเอกชน ประชาชน และชุมชน ซึ่งมีรัฐบาลคอยสนับสนุนและส่งเสริม เป็นการดึงทรัพยากรทุกอย่างเข้ามาร่วมและช่วยกันในระบบสุขภาพของประเทศ นับเป็นวิวัฒนาการของระบบสุขภาพประเทศ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้นอกจากริดรอนสิทธิประชาชนด้านสุขภาพ ยังถอยหลังกลับไปก่อนปี 2540 ซึ่งล้าหลังมาก” ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าว
ต่อข้อซักถามว่า ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เตรียมลงประชามตินี้ ภาคประชาชนได้เข้ามีส่วนร่วมหรือไม่ นายนิมิตร์ กล่าวว่า ฉบับของนายมีชัยต้องบอกว่าภาคประชาชนเกือบไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วม แม้ว่าที่ผ่านมาเราจะได้เข้าไปให้ความเห็นไว้ แต่ความเห็นเหล่านั้นไม่ได้ถูกนำมาใส่ในฉบับสุดท้ายที่กำลังจะลงมตินี้ ต่างจากฉบับของนายบวรศักดิ์ที่เขียนเรื่องนี้ไว้ดีมาก มองการเข้าถึงระบบสุขภาพของประชาชนเป็นเรื่องของสิทธิ ไม่ใช่ยากไร้ ดังนั้นในด้านสุขภาพควรใช้เนื้อหาร่างของนายบวรศักดิ์มากกว่า
“เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยมีแนวโน้มที่น่ากังวล เพราะมีเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญที่ไม่เคารพต่อสิทธิประชาชนที่ต้องได้รับการดูแลจากรัฐทั่วถึงและเท่าเทียม เพราะการที่ระบุไว้ว่า บุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ เท่ากับเป็นการเขียนเช็คเปล่าให้กับระบบ ให้กับนักการเมืองที่จะก้าวขึ้น หากเมื่อไหร่กังวลว่างบประมาณของประเทศว่าจะถูกใช้ด้านการรักษาพยาบาลมากไป ก็ไม่ต้องมีพันธะผูกพันการจัดสวัสดิการรักษาพยาบาลให้กับประชาชน และอาจให้มีการเรียกเก็บเงินได้ ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่น่ากลัว และระบบจะกลับไปสู่การสงเคราะห์หรือไม่สงเคราะห์ก็ได้” นายนิมิตร์ กล่าวและว่า ทั้งนี้สิทธิการรักษาพยาบาลต้องเป็นสิทธิของประชาชนที่ต้องได้รับการดูแลตั้งแต่เกิด
นายนิมิตร์ กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกต่างชื่นชมระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับมีเส้นแบ่งของสิทธิที่ระบุถึงความยากไร้ เป็นการร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่ยึดโยงกับประชาชน และไม่ได้ศึกษารากเหง้าของระบบสุขภาพที่ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นใหม่นี้ควรเป็นส่วนหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำ แต่กลับทำให้การปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศเกิดการชะงักแทน
ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่าเป็นการเปิดไว้เพื่อรองรับกรณีที่ต้องมีการร่วมจ่าย นายนิมิตร์ กล่าวว่า เรื่องการร่วมจ่ายเป็นการมโนที่คิดเองว่าระบบหลักสุขภาพของประเทศจะต้องใช้เงินมาก และคิดว่ารัฐบาลจะต้องแบบรับภาระงบประมาณ เป็นวิธีคิดที่ถูกครอบงำโดยชนชั้นนำในสังคมที่คิดว่าตนเองถูกรีดภาษีไปเพื่อช่วยคนจน และระบบวิธีคิดนี้ได้ไปครอบงำการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ผู้ร่างขาดความเข้าใจในระบบสุขภาพ ทั้งที่งบประมาณประเทศเป็นความชอบธรรมที่จะนำมาเพื่อดูแลรักษาพยาบาลให้กับประชาชน ซึ่งไม่เกินกำลังการจัดเก็บรายได้ภาครัฐที่จะนำมาสนับสนุนได้ ทำให้เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญออกมาแบบนี้
“ต้องบอกว่าเราไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และคงต้องสู้กัน โดยเฉพาะประเด็นที่ระบุว่าคนจนมีสิทธิรับบริการจากรัฐ เนื่องจากเรายังมี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การร่างรัฐธรรมนูญจึงต้องยึดโยงกับกฎหมายที่มีด้วย รวมไปถึงกฎหมายฉบับอื่นๆ ที่ระบุถึงความเท่าเทียมด้านสุขภาพ ซึ่งต้องยืนยันว่าทุกคนมีสิทธิเสมอภาคเท่าเทียมกันที่จะได้รับบริการสุขภาพจากรัฐ ดังนั้นเมื่อร่างรัฐธรรมนูญเขียนไว้ไม่ดี เราต้องไม่ยอมจำนนต่อร่างรัฐธรรมนี้ฉบับนี้”
ต่อข้อซักถามว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญนี้ ยังขัดแย้งกับแนวทางการปฏิรูประบบสุขภาพเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุน ที่ดำเนินไปก่อนหน้านี้ นายนิมิตร์ กล่าวว่า นอกจากผู้ร่างไม่ได้สนใจการปฏิรูประบบสุขภาพแล้ว ยังเขียนเนื้อหาแบบแนวอนุรักษ์นิยมเก่าๆ ที่มองเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องสงเคราะห์ ผู้ยากไร้เท่านั้นจึงมีสิทธิรับบริการฟรีจากรัฐ ซึ่งยอมรับว่าเราคงต้องเหนื่อยอีกมาก แต่เนื้อหาแบบนี้คงไปเข้าทางกับฝ่ายที่ไม่อยากเห็นประเทศมีระบบสุขภาพที่มั่นคง และไม่อยากเห็นการลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพ ดังนั้นทางออกที่ดีคือเราต้องไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และต้องสนับสนุนให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำในประเทศให้ได้
นายนิมิตร์ กล่าวต่อว่า ส่วนที่ในมาตรา 258 (4) ที่ระบุว่า ปรับระบบหลักประกันสุขภาพให้ประชาชนได้รับสิทธิและประโยชน์จากการบริหารจัดการ และการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและสะดวกทัดเทียมกัน มองว่า เป็นการเขียนถึงระบบหลักประกันสุขภาพที่กว้างมาก ไม่มีเป้าหมายและความชัดเจน ไม่ได้มีเป้าหมายว่าจะลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพแต่อย่างใด แม้ว่าจะมีการระบุว่าให้มีการปรับระบบสุขภาพ ไม่ได้ลงรายละเอียดว่าให้ปรับอย่างไร ให้เหลือระบบเดียวหรือไม่ หรือบริหารจัดการอย่างไร เป็นการเขียนแบบขอไปที
ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2559 ฉบับของนายบวรศักดิ์ ยังมีความก้าวหน้ามากกว่า เพราะผู้ร่างได้ศึกษาปัญหาระบบสุขภาพของประเทศ ซึ่งนอกจากมีการระบุชัดเจนในรัฐธรรมนุญว่าทุกคนในประเทศต้องได้รับบริการทั่วถึงและเท่าเทียมกันแล้ว ยังมีเนื้อหา 5 ข้อ ที่เป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินระบบสุขภาพประเทศ คือ
1.การพัฒนาระบบที่เน้นไปที่ระบบปฐมภูมิ เพื่อให้เป็นฐานในการรองรับบริการประชาชน ครอบคลุมทั้งการรักษาและป้องกัน พร้อมกันนี้ยังเปิดให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในการจัดการระบบ
2.เรื่องการบริหารการเงินการคลังของทุกกองทุนสุขภาพที่ต้องมีมาตรฐานที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งจะช่วยสร้างเสมอภาค เป็นธรรม และยั่งยืนได้ และต้องให้มีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายซึ่งถือที่เป็นหัวใจสำคัญ โดยยึดหลักที่นำไปสู่ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของระบบ เพราะปัจจุบันความเหลื่อมล้ำของกองทุนสุขภาพที่เกิดขึ้นมาจากงบประมาณที่ไม่เท่ากัน
3.การควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ โดยต้องสนับสนุนข้อมูลพื้นฐานเพื่อให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพตนเอง
4.มีระบบการกำกับเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ ใช้เศรษฐกิจการตลาดที่เป็นธรรม โดยสามารถควบคุมราคายาและค่าบริการทางการแพทย์ให้มีค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม และเป็นธรรมต่อผู้รับบริการ ซึ่งปัจจุบันไม่มีใครคุมราคาของเอกชนเลย
และ 5.เน้นการกระจายบุคลากรไปสู่ชนบท โดยส่งเสริมผลิตบุคลากรผ่านสถาบันการศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน ซึ่งในเรื่องเหล่านี้จะนำไปสู่การปฏิรูปและลดความเหลื่อมล้ำได้ ต่างจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังลงจะประชามตินี้
- 6 views