กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพออกแถลงการณ์ข้อเสนอเพื่อการปรับปรุงกฎหมายบัตรทอง ระบุเห็นด้วยต้องปรับปรุงกฎหมาย แต่ต้องแก้อย่างมีส่วนร่วมจากประชาชน ไม่ใช่รวมศูนย์อำนาจให้รัฐมนตรี ข้าราชการแก้กันเอง พร้อมเสนอ 2 ข้อ ต้องเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วม และต้องแก้บนพื้นฐานเจตนารมณ์ของกฎหมายคุ้มครองสิทธิประชาชน เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน จึงต้องจัดเป็นสวัสดิการถ้วนหน้า

นส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา

นส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า วันนี้ (10 เม.ย.) กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพได้ออกแถลงการณ์ข้อเสนอเพื่อการปรับปรุงกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งทางกลุ่มฯ เองก็เห็นว่าควรมีการปรับปรุงมานานแล้วเช่นกัน แต่ควรเป็นการปรับปรุงปรับแก้อย่างมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยเฉพาะประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิภายใต้กฎหมายฉบับนี้ และเป็นกลุ่มประชาชน 9 หมื่นคนผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายนี้ตั้งแต่เมื่อปี 2544 เป็นกฎหมายที่มีผลกระทบต่อประชาชน จึงควรมีการรับฟังความเห็นอย่างกว้างขวางเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้รับทราบและได้แสดงความเห็น อีกประการที่สำคัญคือการปรับแก้กฎหมายต้องไม่เปลี่ยนแปลงหลักการ เจตนารมณ์ ของกฎหมายนั้น สำหรับกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นกฎหมายที่อิงกับหลัก สิทธิมนุษยชน และหลักแนวนโยบายแห่งรัฐ

“ดังนั้น การที่นายกรัฐมนตรีมีข้อมูลเพียงว่าระบบหลักประกันสุขภาพเป็นปัญหาด้านงบประมาณของประเทศจึงสั่งการให้มีการปรับแก้กฎหมาย แล้วให้อำนาจเพียงรัฐมนตรีบางกระทรวง ข้าราชการ และพนักงานบริหารกองทุนมาประชุมเพื่อแก้กฎหมายจึงเป็นลักษณะรวมศูนย์อำนาจ ไม่เปิดให้มีการมีส่วนร่วม”

นส.สุรีรัตน์ กล่าวว่า ข้อเสนอของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ คือ 1.ต้องเปิดรับฟังความเห็นประชาชน และให้มีตัวแทนประชาชนเข้าร่วมเป็นกรรมการพิจารณาปรับปรุงกฎหมาย 2.การยืนยันเจตนารมณ์ของกฎหมายที่เป็นการคุ้มครองสิทธิประชาชน เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน จึงต้องจัดเป็นสวัสดิการถ้วนหน้า และไม่ทำให้ประชาชนเข้าไม่ถึงการรับบริการเพราะเหตุแห่งความยากจน การไม่มีรายได้ และต้องกลายเป็นผู้รับการสงเคราะห์การรักษา ไม่ใช่เป็นเพราะเป็นสิทธิพื้นฐานในการดำรงชีวิต

ข้อเสนอเพื่อการปรับปรุงกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ 10 เมษายน 2559

การปรับปรุงกฎหมายที่ใช้มานานแล้วเกินกว่า 10 ปีขึ้นไปนับเป็นทิศทางที่มีความก้าวหน้า เพราะกฎหมายเป็นสิ่งที่ใช้เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชน ดังนั้นเพื่อให้ทันกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทั้งสภาพทางเศรษฐกิจ ทางสังคม ทางการเมือง การปรับปรุงกฎหมายหลักประกันสุขภาพจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ทั้งนี้ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเองก็เห็นว่าควรมีการปรับปรุงมานานแล้วเช่นกัน ซึ่งควรเป็นการปรับปรุงปรับแก้อย่างมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยเฉพาะประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิภายใต้กฎหมายฉบับนี้ และเป็นกลุ่มประชาชน 9 หมื่นคนผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายนี้ตั้งแต่เมื่อปี 2544

กฎหมายที่มีผลกระทบต่อประชาชนควรมีการรับฟังความเห็นอย่างกว้างขวางเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้รับทราบและได้แสดงความเห็น อีกประการที่สำคัญคือการปรับแก้กฎหมายต้องไม่เปลี่ยนแปลงหลักการ เจตนารมณ์ ของกฎหมายนั้น สำหรับกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นกฎหมายที่อิงกับหลัก สิทธิมนุษยชน และหลักแนวนโยบายแห่งรัฐ ตามรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มีเจตนารมณ์คือให้ประชาชนทุกคนได้รับสิทธิในการรับบริการสาธารณสุข ประชาชนทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยสามารถเข้ารับบริการโดยไม่อุปสรรคกีดขวางใดใด โดยเฉพาะอุปสรรคด้านการเงินของประชาชน นี่เป็นที่มาของการตรากฎหมายฉบับนี้ คือประชาชนล้มละลายจากการเจ็บป่วย ทั้งที่สิทธิที่จะมีชีวิตอย่างมีคุณภาพเป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนควรได้รับอย่างเสมอหน้า เสมอภาคกัน ดังนั้น จึงก่อให้เกิดกฎหมายฉบับนี้เพื่อเป็นหลักประกันด้านสุขภาพสำหรับประชาชนทุกคนไม่ว่าจะมีถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกาย สุขภาพ ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างไร หลักการคือหลักสิทธิ หลักการเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข คนไม่ป่วย ช่วยคนป่วย ใช้การบริหารงบประมาณแบบประกันสุขภาพ

ดังนั้น การที่นายกรัฐมนตรีมีข้อมูลเพียงว่าระบบหลักประกันสุขภาพเป็นปัญหาด้านงบประมาณของประเทศจึงสั่งการให้มีการปรับแก้กฎหมาย แล้วให้อำนาจเพียงรัฐมนตรีบางกระทรวง ข้าราชการ และพนักงานบริหารกองทุนมาประชุมเพื่อแก้กฎหมายจึงเป็นลักษณะรวมศูนย์อำนาจ ไม่เปิดให้มีการมีส่วนร่วม ข้อเสนอของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ คือ

1.ต้องเปิดรับฟังความเห็นประชาชน และให้มีตัวแทนประชาชนเข้าร่วมเป็นกรรมการพิจารณาปรับปรุงกฎหมาย

2.การยืนยันเจตนารมณ์ของกฎหมายที่เป็นการคุ้มครองสิทธิประชาชน เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน จึงต้องจัดเป็นสวัสดิการถ้วนหน้า และไม่ทำให้ประชาชนเข้าไม่ถึงการรับบริการเพราะเหตุแห่งความยากจน การไม่มีรายได้ และต้องกลายเป็นผู้รับการสงเคราะห์การรักษา ไม่ใช่เป็นเพราะเป็นสิทธิพื้นฐานในการดำรงชีวิต

รายละเอียดที่กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเสนอเพื่อการปรับปรุง ปรับแก้กฎหมาย รวมทั้งข้อเรียกร้อง

ให้บอร์ดตามกฎหมายได้ทำหน้าที่มากขึ้นในบางมาตราที่ยังไม่ได้ดำเนินการเลย ดังนี้

1.การให้คำนิยามบริการสาธารณสุขที่ชัดเจน ครอบคลุมทั้งเรื่องบริการสุขภาพ บริการสาธารณสุข

2.การระบุค่าใช้จ่ายด้านบริการสาธารณสุข บริการสุขภาพ ให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่างๆของหน่วยให้บริการ โดยเฉพาะกรณีโรงพยาบาลของรัฐ ตามที่มีปัญหาการตีความของ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และกฤษฎีกา ที่ทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถใช้จ่ายเงินหลักประกันสุขภาพได้ครอบคลุม

3.การระบุให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่ามีองค์กรที่สามารถให้บริการสุขภาพกับประชาชนในระบบหลักประกันที่หลากหลายขึ้นทั้ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน องค์กรสาธารณประโยชน์

4.การยกเลิกการเก็บเงินทุกครั้งที่เข้ารับบริการ ตามมาตรา 5 เสนอให้ยกวรรคสองออกทั้งวรรค โดยให้มีการพิจารณาการร่วมจ่ายเพื่อประกันสุขภาพในรูปแบบภาษี การปฏิรูประบบภาษีเพื่อให้สามารถนำมาจัดสวัสดิการถ้วนหน้า และการดำเนินการให้ทุกคนสามารถเข้าสู่การเสียภาษีทางตรงตามรายได้

5.ปรับปรุงองค์ประกอบคณะกรรมการ 2 ชุดในกฎหมาย ตาม ม. 13 และ ม.48  โดย เพิ่มผู้แทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการบริหารกองทุน เช่น กรมบัญชีกลาง เลขาธิการประกันสังคม และปรับออกบางกระทรวงที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรง  การปรับย้ายผู้แทนสภาวิชาชีพไปเป็นกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐาน เพราะจะตรงกับเรื่องการกำกับด้านจริยธรรมของผู้ให้บริการ แล้วเปลี่ยนเป็นให้มีผู้แทนผู้ให้บริการจากโรงพยาบาล 3 ระดับคือ ปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ แทน

6.ระบุให้ชัดเรื่องการคุ้มครองสิทธิประชาชนให้ได้รับยา เวชภัณฑ์ อวัยวะเทียม อุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่มีความจำเป็น มีราคาสูง เข้าถึงได้ยาก หรือมีข้อจำกัดเช่นมีการใช้จำนวนน้อยทำให้โรงพยาบาลไม่สำรองไว้ในคลังยา เช่น เซรุ่มต่างๆ โดยบอร์ดให้สำนักงานสามารถดำเนินการจัดซื้อ จัดหา ในระดับประเทศได้

7.ขยายการคุ้มครองสิทธิเมื่อได้รับความเสียหายของประชาชน ตามมาตรา 41 ปรับเปลี่ยนจากการช่วยเหลือเบื้องต้น เป็นการเยียวยาชดเชยตามความเสียหาย และขยายให้ครอบคลุมทั้งผู้รับบริการ และผู้ให้บริการ

8.ตัดมาตรา 42 ออกที่เกี่ยวกับการไล่เบี้ยผู้กระทำผิดในการทำให้เกิดความเสียหายขึ้น เพื่อให้ผู้ให้บริการไม่ได้รับความทุกข์และที่ผ่านมา 10 กว่าปีของกฎหมายนี้ ยังไม่ได้มีการดำเนินการตามมาตรานี้

9.เร่งรัดให้บอร์ด ดำเนินการตามมาตรา 12 ให้สำนักงานทำหน้าที่เป็นหน่วยงานจ่ายเงิน และเรียกเก็บเงินจากบริษัทประกันภัยกรณีประสบภัยจากรถ เพื่อให้ประชาชนได้รับสิทธิการรักษาโดยไม่ถุกปฏิเสธหรือเป็นภาระในการดำเนินการด้านเอกสารที่เป็นเรื่องยุ่งยากของประชาช

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ พร้อมเข้าไปเป็นตัวแทนในการปรับปรุงกฎหมาย และติดตามใกล้ชิดใน

การดำเนินงานของรัฐในเรื่องนี้ เพื่อให้การปรับปรุงกฎหมายครั้งนี้ไม่ทำลายหลักการ เจตนารมณ์ และทำร้ายประชาชน