นสพ.สยามธุรกิจ : เศรษฐกิจซึมยาว คนไทยเข้าโรงพยาบาลเอกชนลดลง 15% ด้านผู้ประกอบการดิ้นสู้ เปิดศูนย์ศัลยกรรมความงาม รับกระแส Medical Tourism ศูนย์กสิกรไทยมองโตต่อเนื่อง เปิดโอกาสขยายฐานลูกค้าต่างชาติ ชิงเค้ก 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ชูท่องเที่ยวเด่นบริการเยี่ยม สู้คู่แข่งมาเลเซีย สิงคโปร์
นางสาวสุดฤทัย ทองสอง ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์และการตลาดบัตรเครดิตและบัตรเดบิต ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า จากปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเวลานาน ส่งผลให้คนไทยบางส่วนมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการใช้จ่ายที่มีความจำเป็น เช่น เรื่องการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะการเข้ารักษาในโรงพยาบาลเอกชน โดยกลุ่มที่มีรายได้ระดับกลางเริ่มหันมาใช้บริการโรงพยาบาลของรัฐ การใช้สิทธิ์ประกันสังคม หรือเลือกซื้อยาจากร้านขายยามารับประทานเองมากกว่า ส่งผลให้ภาพรวมของโรงพยาบาลเอกชนในปีที่ผ่านมามียอดลูกค้าคนไทยใช้บริการลดลงไปประมาณ 15%
ดังนั้น ธนาคารกสิกรไทยจึงได้ร่วมกับโรงพยาบาลชั้นนำของประเทศ จัดแคมเปญ "Cycle of Care 2559 สุขภาพดี...ใครก็มีได้ กับทั้งบัตรเครดิตและบัตรเดบิตกสิกรไทย" เพื่อช่วยลดภาระและส่งเสริมให้คนไทยได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพจากโรงพยาบาลระดับแนวหน้าของไทย โดยผู้ถือบัตรเครดิตและเดบิตของธนาคารกสิกรไทยได้รับสิทธิพิเศษจากการใช้จ่ายผ่านบัตรที่โรงพยาบาลชั้นนำทั่วประเทศไทย อาทิ โรงพยาบาลในเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลสมิติเวช เครือโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ เครือโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลบีเอ็นเอช เช่น ส่วนลดค่าห้องสูงสุด 30% ส่วนลดค่ายาสูงสุด 10% โปรแกรมตรวจสุขภาพราคาเดียวเพียง 2,559 บาท รายการตรวจสุขภาพราคาพิเศษจากโรงพยาบาลที่ร่วมรายการ พร้อมรับสิทธิ์แบ่งจ่าย KBank Smart Pay 0% สูงสุด 10 เดือน จากบัตรเครดิตกสิกรไทยที่โรงพยาบาลและคลินิกทันตกรรมชั้นนำกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่วันนี้-31 ธันวาคม 2559
ทั้งนี้ การใช้จ่ายในหมวดสุขภาพและการรักษาพยาบาลผ่านบัตรเครดิตกสิกรไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มที่มียอดการใช้จ่ายสูงต่อเนื่อง โดยในปี 2558 มียอดการใช้จ่ายรวมกว่า 20,000 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับปี 2557 โดยเฉลี่ยมีการใช้จ่ายประมาณ 7,000 บาท/เซลส์สลิป คาดปี 59 มีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้น 15% คิดเป็นมูลค่าราว 24,000 ล้านบาท
ขณะที่ สถานพยาบาลเอกชน เริ่มปรับตัวและหาพันธมิตรในการขยายธุรกิจ อย่างเช่น ไพร์มเมดิกากรุ๊ป ผู้ให้บริการเสริมความงาม จับกระแสไทยเป็นฮับการท่องเที่ยวทางการแพทย์ (Medical Tourism) สยายปีกสู่ตลาดอุตสาหกรรมสุขภาพและความ งาม มุ่งเน้นการศัลยกรรมตกแต่ง จับมือ โรงพยาบาลศัลยกรรมเจดับเบิ้ลยู เกาหลี กับโรงพยาบาลศัลยกรรมท็อป 5 ของเกาหลี เปิดศูนย์ศัลยกรรมความงาม เจดับเบิ้ลยู ประเทศไทย
นางอลิสา อินเทเสนี ประธานกรรมการบริหาร ไพร์มเมดิกากรุ๊ป เปิดเผยว่า ประเทศไทย มีชื่อเสียงในฐานะศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) แห่งเอเชีย และเป็นที่ยอมรับในด้านการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางการแพทย์ ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดถึง 40% จากตลาดท่องเที่ยวทางการแพทย์ทั่วโลก จากสถิตินักท่องเที่ยวกว่า 26.5 ล้านคน ที่เดินทางมาประเทศไทย มีถึง 2.5 ล้านคนที่เดินทางมาด้วยเหตุผลทางการแพทย์ และมีการเติบโต 15% ต่อเนื่องทุกปี ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะศูนย์กลางทางการแพทย์ของภูมิภาค ด้วยจุดเด่นด้านเทคโนโลยี บุคลากรทางการแพทย์ที่มีความชำนาญ การให้บริการที่มีคุณภาพจากสถาบันทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานสูง
ยิ่งไปกว่านั้น ตลาดสินค้าและบริการเพื่อความงามเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ และมีเม็ดเงินหมุนเวียนต่อเนื่องแม้ในช่วงสภาวะเศรษฐกิจทรงตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคเริ่มเปิดกว้างต่อการทำศัลยกรรมมากขึ้น ส่งผลให้มูลค่าตลาดศัลยกรรมความงามปี 2559 สูงขึ้นถึง 3 หมื่นล้านบาท และยังมีแนวโน้มเติบโตขึ้น ต่อเนื่อง 20% ทุกปี ไพร์มเมดิกากรุ๊ป มองเห็นโอกาสทางการตลาดจึงรวมกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ผู้มีความเชี่ยวชาญในการบริหารธุรกิจความงาม จึงทุ่มงบลงทุน 50 ล้านบาท ในการวางแผนจัดตั้งศูนย์ศัลยกรรมความงาม เจดับเบิ้ลยู ประเทศไทย โดยร่วมมือกับโรงพยาบาลศัลยกรรมเจดับเบิ้ลยู จากประเทศเกาหลี (JW Plastic Surgery Korea) ซึ่งเป็นโรงพยาบาลศัลยกรรมความงามชื่อดังที่ได้รับความนิยมติดอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศเกาหลี เพื่อให้บริการในด้านการผ่าตัดตกแต่งศัลยกรรมความงาม
"ศูนย์ศัลยกรรมเจดับเบิ้ลยู ประเทศไทย เปิดให้บริการศัลยกรรมจมูก ตาสองชั้น ปรับแก้ไขรูปหน้า หน้าอก และแปลงเพศ ใน 2 รูปแบบ คือ 1.เข้ารับบริการศัลยกรรมที่โรงพยาบาล เจดับเบิ้ลยู เกาหลี ในรูปแบบแพ็กเกจทัวร์พร้อมท่องเที่ยว 2.เข้ารับบริการศัลยกรรมภายในศูนย์ศัลยกรรมเจดับเบิ้ลยู ประเทศไทย โดยมุ่งเจาะกลุ่มเป้าหมายคนไทยระดับ B ขึ้นไปที่มีความสนใจและเปิดรับการทำศัลยกรรม ทั้งนี้ ค่าบริการเริ่มต้นอยู่ที่ 25,000 บาท ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถเข้ารับคำปรึกษาและข้อมูลเกี่ยวกับการศัลยกรรมตกแต่งได้ที่ศูนย์ก่อนการตัดสินใจโดยไม่มีค่าใช้จ่าย"
ทั้งนี้ ไพร์มเมดิกากรุ๊ป วางงบการตลาดประมาณ 20 ล้านบาท เพื่อเน้นสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มเป้าหมาย และวางแผนขยายสาขาเพิ่ม 1-2 สาขากลางใจเมืองในปีนี้ และตั้งเป้ารายได้อยู่ที่ 45 ล้านบาท ภายในปีนี้ สำหรับแผนในอนาคตของไพร์มเมดิกากรุ๊ป จะเดินหน้าดำเนินธุรกิจความงามและศูนย์สุขภาพอย่างครบวงจรให้มั่นใจได้ในคุณภาพความงามอย่างเป็นธรรมชาติและความปลอดภัยเป็นอันดับหนึ่ง ทั้งหมดอยู่ในช่วงการดำเนินงาน คาดว่าจะเห็นเป็นรูปธรรมภายในปีนี้
ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าตลาดฮับการท่องเที่ยวทางการแพทย์ (Medical Tourism) ยังมีแนวโน้มเติบโตอีกมาก และไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่น่าจะได้รับอานิสงส์ดังกล่าวจากการเป็นประเทศที่มีชื่อเสียง ทางด้านการแพทย์และการท่องเที่ยว ส่งผลให้การขยายตลาด Medical Tourism เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบ การธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่มีศักยภาพ และพร้อมที่จะรองรับหรือขยายฐานลูกค้า ต่างชาติ ทดแทนในช่วงที่ภาวะกำลังซื้อของคนในประเทศยังคงซบเซา อีกทั้งในภูมิภาคอาเซียน "ไทย" ถือเป็นผู้นำตลาด Medical Tourism โดยพิจารณาจากจำนวนคนไข้ ต่างชาติที่เดินทางเข้ามาใช้บริการด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี
ท่ามกลางกำลังซื้อของคนในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน จะเห็นว่าธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่พึ่งพารายได้จากคนไข้ต่างชาติยังคงรักษาอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 11.7% (ค่าเฉลี่ยปี 2557-2558) ซึ่งสูงกว่าธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่พึ่งพารายได้จากกลุ่มลูกค้าคนไทยที่มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 7.0% (ค่าเฉลี่ยปี 2557-2558) ดังนั้น ตลาด Medical Tourism จะเป็นตลาดที่เข้ามามีบทบาทในการทำรายได้ให้กับธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนของไทยมากขึ้น
ในภูมิภาคอาเซียน ประเทศที่พยายามผลักดันให้ตนเองกลายเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) นอกจากประเทศไทยแล้ว ยังมีประเทศอื่นที่ถือเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทย ได้แก่ สิงคโปร์และมาเลเซีย ซึ่งแต่ ละประเทศต่างชูจุดเด่นและศักยภาพทาง การแพทย์ของตนเองเพื่อดึงดูดและรองรับกับตลาด Medical Tourism ให้เข้ามาใช้บริการด้านสุขภาพในประเทศของตนเอง ซึ่งตลาดดังกล่าวกำลังเป็นที่นิยมไปทั่วโลก หรือคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจุดแข็งที่สำคัญของประเทศไทยนอกจากความมีชื่อเสียงในการรักษา คือ ความคุ้มค่าคุ้มราคาแล้ว ยังมีชื่อเสียงทางด้านการท่องเที่ยวและการบริการ จึงสามารถสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันและจูงใจให้กลุ่ม Medical Tourism เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในไทยมากขึ้น
สำหรับทิศทางธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ตลาด Medical Tourism จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการทำรายได้ให้กับธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน โดยจะเห็นได้จากรายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่มาจากกลุ่มคนไข้ต่างชาติเพิ่มขึ้นจาก 25% ของรายได้ทั้งหมดของโรงพยาบาลเอกชน ในปี 2554 เป็นกว่า 30% ในปี 2558 และคาดว่าแนวโน้มดังกล่าวจะยังคงมีอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังมีโอกาสรองรับกับกลุ่มลูกค้า EXPAT ที่สนใจเข้ามาลงทุนทำธุรกิจหรือเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) มากขึ้น โดยจะเห็นได้จากการเข้ามาลงทุนทางตรงของนักลงทุนต่างชาติ (FDI) ใน CLMV ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6.3% ต่อปี จึงเป็นโอกาสที่ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนของไทยจะรองรับกลุ่มลูกค้า EXPAT ที่เข้ามาทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากระบบการให้บริการด้านสาธารณสุขของประเทศเพื่อนบ้านอาจจะยังไม่เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งการขยายฐานลูกค้ากลุ่ม Medical Tourism นับว่าเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ช่วยรักษาอัตราการเติบโตของรายได้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทยท่ามกลางตลาดลูกค้าในประเทศที่กำลังเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงจากกำลังซื้อที่ยังคงซบเซา
สำหรับบริการด้านสุขภาพที่ได้รับความนิยมของกลุ่มลูกค้า Medical Tourism ที่เข้ามารับการรักษาในไทย ส่วนใหญ่เป็นบริการตรวจสุขภาพ (Check Up) 17% ของจำนวน Medical Tourism ทั้งหมด รองลงมาได้แก่ ศัลยกรรมความงาม 14% และทันตกรรม 11% ตามลำดับ
ทั้งนี้ เมียนมาและตะวันออกกลาง ยังคงเป็นตลาดที่น่าสนใจและมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ ต้องขยายฐานลูกค้า Medical Tourism ให้ครอบคลุมตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ อาทิ จีน และบางประเทศในอาเซียน (เวียดนาม อินโดนีเซีย) เนื่องจากเป็นตลาดที่น่าสนใจและมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ ฉบับวันที่ 2 - 8 เม.ย. 2559
- 12 views