กระทรวงสาธารณสุข เผย 4 ปีนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ” ช่วยผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉิน เกือบ 8 หมื่นคน รอดปลอดภัย ร้อยละ 90 พอใจ จับมือ 3 กองทุนและโรงพยาบาลเอกชน ปรับนิยามผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินให้ชัดยึดเกณฑ์ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เช่น ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ระบบการหายใจติดขัด ภาวะช็อก เป็นต้น เร่งหาราคากลางค่ารักษาและรูปแบบการจ่ายเงินที่ทุกฝ่ายยอมรับ พร้อมเตรียมระบบรองรับหลัง 72 ชั่วโมง
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลัง การประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรื่อง การบริหารจัดการระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินในสถานพยาบาล ภายใต้นโยบาย "เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ" โดยมี นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รักษาการเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ผู้แทนกรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม โดยทุกฝ่ายให้ความร่วมมือในนโยบายดังกล่าวเป็นอย่างดี พร้อมทั้งร่วมแก้ไขปัญหาอุปสรรคให้ผู้ป่วยวิกฤติฉุกเฉินได้รับการรักษาปลอดภัยและไม่ถูกเรียกเก็บเงิน
นโยบายนี้ ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ 1 เมษายน 2555 โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจากรัฐบาล ผลการดำเนินงานตั้งแต่ 1 เมษายน 2555 ถึง 27 มกราคม 2559 มีผู้ป่วยเข้ารับบริการ รวมทั้งสิ้น 77,456 คน โดย สปสช.มีการจ่ายค่ารักษาประมาณร้อยละ 60 ของจำนวนผู้ป่วยที่โรงพยาบาลส่งเบิก ในวงเงินเฉลี่ย ร้อยละ 27.08 จากจำนวนที่เรียกเก็บ และมีโรงพยาบาลเอกชนเข้าร่วมโครงการประมาณร้อยละ 70
อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตจาก สปสช.ที่สำรวจพบว่า ผู้ป่วยมากกว่าร้อยละ 90 มีความพึงพอใจในบริการ ทำให้ทุกฝ่ายมั่นใจว่า นโยบายนี้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนจริงๆ และหากได้ปรับระบบบริหารจัดการให้ทุกฝ่ายเห็นร่วมกัน นโยบายนี้จะช่วยผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินได้จริง ทั้งในแง่ความสะดวก รวดเร็ว ผู้ป่วยปลอดภัย ไม่ต้องจ่ายเงิน ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล
นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า เพื่อให้นโยบายนี้ เป็นที่พึ่งของผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการจ่ายเงินรัฐบาลได้มอบให้กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย 3 กองทุน และโรงพยาบาลเอกชน กำหนดแนวทางการบริหารจัดการใหม่ โดยกำหนดนิยามผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตชัดเจน ให้ประชาชนทราบ โรงพยาบาลยอมรับ ยึดตามเกณฑ์ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินจะประกาศออกมา เช่น ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ระบบการหายใจติดขัด ภาวะช็อก เป็นต้น
รวมทั้งการเจรจาหารือกับโรงพยาบาลเอกชน เพื่อหารูปแบบและอัตราการจ่ายที่ยอมรับได้ทุกฝ่ายทั้งฝ่ายกองทุนและฝ่ายโรงพยาบาล รวมทั้งการจัดระบบรองรับหลัง 72 ชั่วโมง ที่ต้องส่งกลับโรงพยาบาลต้นสังกัดของกองทุนนั้น กระทรวงสาธารณสุข จะบริหารจัดการในเรื่องการสำรองเตียงร่วมกับ 3 กองทุน และโรงพยาบาลในสังกัด ทั้งนี้ 3 กองทุนและโรงพยาบาลเอกชน ได้นำราคากลางเรื่องค่ารักษาพยาบาลที่หน่วยวิชาการเสนอไปพิจารณา
- 5 views