เครือข่ายผู้ป่วยฯ ซัดนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินยังใช้ไม่ได้จริง แม้ สธ.ได้ตั้ง คกก.เพื่อแก้ไขปัญหา แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า“ปรียนันท์” จี้ตั้งกรรมการกลาง one stop service แก้ปัญหาความสับสน พร้อมชงภาคประชาชนร่วมเป็นคณะทำงานในกรรมการแก้ปัญหาของ สธ. คาดภายในเดือน เม.ย.นี้ มีความชัดเจน
นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เปิดเผยว่า จนถึงขณะนี้นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินของรัฐบาลยังไม่สามารถใช้ได้จริง โดยเฉพาะแนวปฏิบัติที่ออกในสมัย นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อดีต รมว.สาธารณสุข (สธ.) กำหนดให้สถานพยาบาลต้องรับรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายใน 72 ชั่วโมงแรก ซึ่งข้อเท็จจริงที่พบคือโรงพยาบาลยังเรียกเก็บเงินมัดจำจากผู้ป่วยอยู่ และในอีกหลายกรณีที่ให้ผู้ป่วยลงนามยอมรับเงื่อนไขการจ่ายค่ารักษาพยาบาลก่อนได้รับการรักษา
นางปรียนันท์ กล่าวว่า ในสมัย นพ.รัชตะ มีการวางแนวทางแก้ไขปัญหาไว้อย่างชัดเจนทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดย นพ.รัชตะ ได้นำเสนอรายงานต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไปแล้วด้วย อย่างไรก็ตามเมื่อเปลี่ยนตัว รมว.สธ. มาเป็น นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร กลับพบว่าความพยายามในการแก้ไขปัญหาหยุดชะงักลง
“ท่านรัฐมนตรีปิยะสกลเข้ารับตำแหน่งได้ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องค่ารักษาพยาบาลแพงยังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน เพราะยังมีชาวต่างชาติเข้ามารับการรักษาในประเทศไทยจำนวนมาก นั่นหมายความว่าราคายังเป็นที่ยอมรับได้อยู่ ซึ่งการให้สัมภาษณ์ดังกล่าวทำให้ความพยายามแก้ไขปัญหาเรื่องเจ็บป่วยฉุกเฉิน และค่ารักษาพยาบาลแพงต้องหยุดนิ่ง” นางปรียนันท์ กล่าว
นางปรียนันท์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ สธ.ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด โดยชุดแรกทำงานเรื่องค่ารักษาพยาบาลแพงทั้งในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ซึ่งมีการแต่งตั้งตัวแทนภาคประชาชนเข้าร่วมเป็นคณะทำงานด้วย ขณะที่คณะกรรมการอีกชุดหนึ่ง ซึ่งทำงานเรื่องเจ็บป่วยฉุกเฉิน มี พญ.ประนอม คำเที่ยง รองปลัด สธ.เป็นประธาน นั้น กลับไม่เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้าไปร่วมด้วย
“หลักการการแก้ปัญหาเจ็บป่วยฉุกเฉินคือต้องให้ทั้ง 3 ส่วน คือสถานพยาบาล กองทุนสุขภาพ และประชาชน อยู่ได้ แต่ข้อเท็จจริงในปัจจุบันคือสถาพยาบาลและกองทุนสุขภาพเท่านั้นที่อยู่ได้ ส่วนประชาชนได้รับความเดือดร้อน และที่สำคัญคือในคณะกรรมการชุด พญ.ประนอม นั้น มีเพียงกองทุนสุขภาพที่ต่อรองราคากับสถานพยาบาลอยู่ โดยที่ประชาชนไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงอยากเรียกร้องให้แต่งตั้งตัวแทนภาคประชาชนเข้าร่วมด้วย” นางปรียนันท์ กล่าว
นางปรียนันท์ กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพงนั้น คณะกรรมการได้ประชุมไปแล้วเมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา ส่วนตัวได้เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการกลางขึ้นมา 1 ชุด มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเพื่อการบริหารจัดการนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินและค่ารักษาพยาบาลแพงในลักษณะ one stop service
“เมื่อผู้ป่วยมีปัญหาก็จะสามารถประสานงานมายังคณะกรรมการชุดนี้ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่ารักษาหรือเรื่องสิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาความสับสนต่างๆ โดยเบื้องต้นคณะกรรมการจะประชุมกันอีกครั้งเพื่อพิจารณาโครงสร้างคณะกรรมการ โครงสร้างราคา และข้อกฎหมายภายในเดือน เม.ย.นี้.” นางปรียนันท์ กล่าว
- 360 views