รองปลัด สธ.เร่งคลอดระเบียบใหม่เยียวยาบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุข หลังผลตีความกฤษฎีการะบุไม่สามารถใช้เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพมาจ่ายได้ เผยจากผลการศึกษาไม่มีระเบียบหรือประกาศฉบับใดที่สามารถนำมาใช้ได้ จึงต้องออกเป็นระเบียบใหม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียว่าจะออกเป็นใด ระหว่างระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ระเบียบกระทรวงการคลัง หรือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีดี
นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร
นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยความคืบหน้าการจัดทำร่างระเบียบการเยียวยาบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อใช้แทนมาตรา 18 (4) ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่ถูกคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าไม่สามารถนำเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพมาจ่ายเพื่อช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการทางการแพทย์ที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุขได้ เนื่องจากหมายกำหนดให้จ่ายช่วยเหลือเฉพาะผู้รับบริการเท่านั้น โดย นพ.วิศิษฎ์ กล่าวว่าได้มีการประชุมไปแล้ว 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ที่ประชุมได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายที่เกี่ยวข้องไปศึกษาในประเด็นที่ว่ามีกฎหมายอื่นใดที่สามารถนำมาใช้จ่ายเงินเยียวยาแก่บุคลากรสาธารณสุขได้บ้าง
ขณะที่การประชุมครั้งที่ 2 ได้นำผลการศึกษากลับมาพิจารณา พบว่าไม่มีระเบียบหรือประกาศฉบับใดที่นำมาใช้ได้ มีที่เกี่ยวข้องเพียงส่วนเดียว คือระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการสงเคราะห์ผู้ติดเชื้อโรคเอดส์เนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ พ.ศ.2540 แต่ก็ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ที่กระทรวงสาธารณสุขต้องการ
นพ.วิศิษฎ์ กล่าวว่า แนวโน้มคงต้องมีการยกร่างระเบียบฉบับใหม่ขึ้นมา โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดว่าจะออกเป็นระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ระเบียบกระทรวงการคลัง หรือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเกี่ยวข้องกับที่มาของการตั้งงบประมาณ จึงต้องเปรียบเทียบรายละเอียดข้อดีข้อเสียก่อนว่าแบบไหนถึงเหมาะสมที่สุด
ทั้งนี้ มีอีกแนวคิดหนึ่ง คือการขยายระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการสงเคราะห์ผู้ติดเชื้อโรคเอดส์เนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ พ.ศ.2540 ให้ครอบคลุมโรคอื่นๆ ให้มากขึ้น วิธีนี้จะทำได้เร็ว แต่มีข้อเสียคือกรณีเกิดอุบัติเหตุกับรถส่งตัวผู้ป่วย หรือเกิดอุบัติเหตุกับเจ้าหน้าที่ที่ออกไปดูแลผู้ป่วย ณ จุดที่เกิดเหตุ จะไม่สามารถเยียวยาได้ เพราะไม่ได้เกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บ ดังนั้นแนวโน้มจึงน่าจะต้องจัดทำระเบียบฉบับใหม่แทนมากกว่า
“ตอนนี้ก็พยายามเร่งทำอยู่ ผมให้เวลากลุ่มงานด้านกฎหมาย 2-3 สัปดาห์ไปเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของแต่ละแบบ เรื่องนี้ดูเหมือนง่ายแต่หากทำแล้วไม่ครบวงจรก็จะมีปัญหายุ่งยากอีก ซึ่งเมื่อยกร่างเสร็จแล้ว ก็ต้องส่งให้กระทรวงการคลังให้ความเห็นชอบเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้งบประมาณ หลังจากนั้นถึงจะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาได้” นพ.วิศิษฎ์ กล่าว
- 5 views