นับเป็นชั่วโมงระทึกของญาติและครอบครัวผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษ ระหว่างรอการนำส่งยาต้านพิษจากห้องยาใน โรงพยาบาลที่เป็นหน่วยสำรองยา เพื่อลุ้นโอกาสการหายกลับมาเป็นปกติ หากได้รับการรักษาด้วยยาต้านพิษอย่างทันท่วงที ก่อนที่ภาวะสารพิษในร่างกายจะทวีความรุนแรงขึ้น สารพิษบางรายการมีระยะเวลาให้การรักษาที่จำกัดเพียงแค่ 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น การช่วยเหลือผู้ป่วยจึงต้องแข่งขันกับเวลา ไม่เว้นแม้แต่ในช่วงยามวิกาล
ในช่วงค่ำคืนของวันที่ 21 ตุลาคม 2558 หลังได้รับการประสานจาก “ศูนย์พิษวิทยา รามาธิบดี” ว่า มีผู้ป่วยได้รับสารพิษ “ก๊าซไข่เน่า” หรือ Hydrogen Sulfide ด้วยความที่ทราบถึงความจำเป็นเร่งด่วนของผู้ป่วยที่ต้องได้รับยาต้านพิษ โซเดียม ไนไตรท์ โดย ภก.ประมนัส ตุ้มทอง กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ได้ตัดสินใจใช้รถยนต์ส่วนตัวเพื่อนำยาต้านพิษส่งต่อให้ทีมแพทย์โรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ แม้ว่าจะเป็นเวลาเกือบเที่ยงคืนแล้ว
ภก.ประมนัส ตุ้มทอง
ผลจากการตัดสินใจในเวลานั้นทำให้ ภก.ประมนัส ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วย 2 ราย และได้รับหนังสือชมเชยการปฏิบัติงานจากศูนย์พิษวิทยา รามาธิบดี ส่งถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ซึ่งต่อมาได้มีการเผยแพร่ต่อในโลกโซเชียล แม้ว่าจะเป็นเพียงแค่เหตุการณ์เล็กๆ แต่สะท้อนให้เห็นถึงความเสียสละและความรับผิดชอบต่อวิชาชีพในฐานะเภสัชกรเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาในยามภาวะวิกฤต
ภก.ประมนัส เล่าย้อนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า การเข้าถึงยาต้านพิษของผู้ป่วยในครั้งนั้น คงเริ่มจากความร่วมมือระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และศูนย์พิษวิทยา รามาธิบดี ที่ได้ดำเนิน “โครงการเพิ่มการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษ” ในปี 2553 เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษประสบปัญหาการเข้าถึงยาอย่างมาก เพราะเป็นกลุ่มยาที่มีอัตราการใช้น้อยมาก ทำให้บริษัทยาส่วนใหญ่ไม่ผลิตและนำเข้า แต่ยังเป็นยาที่จำเป็นต่อการรักษาผู้ป่วย จึงได้รวบรวมความต้องการยากลุ่มนี้จากทั่วประเทศ และนำมาบริหารจัดหาและจัดซื้อในภาพรวม พร้อมกับจัดระบบสำรองยาเพื่อกระจายยาให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีได้รับมอบให้เป็นคลังสำรองยาต้านพิษในโครงการ รวมถึงยาต้านพิษก๊าซไข่เน่าในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้
หลังการดำเนินโครงการเพิ่มการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษ ที่ผ่านมายากลุ่มนี้มีการเบิกจ่ายไม่มากและอยู่ในช่วงเวลาราชการ จนกระทั่งเมื่อเดือนตุลาคม 2558 ช่วงเวลาประมาณเกือบเที่ยงคืน ได้รับโทรศัพท์แจ้งจากศูนย์พิษวิทยา รามาธิบดีว่า มีผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษก๊าซไข่เน่าและจำเป็นต้องได้รับยาต้านพิษเร่งด่วน
ซึ่งโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีเป็นคลังสำรองยาต้านพิษโซเดียม ไนไตรท์ ที่ใช้รักษาภาวะพิษจากก๊าซไข่เน่าที่อยู่ใกล้เคียงกับโรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ที่รับรักษาผู้ป่วย จึงประสานขอเบิกจ่ายยาเพื่อนำส่งยาให้กับผู้ป่วยโดยเร็ว แต่เนื่องจากเป็นการเกิดเหตุช่วงวิกาลซึ่งไม่เคยมีมาก่อน และโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีไม่ได้มีการจัดระบบส่งยาต้านพิษในช่วงกลางคืนรองรับไว้
และหากผู้ป่วยได้รับยาต้านพิษโดยเร็ว จะมีโอกาสฟื้นจากภาวะเป็นพิษจนหายเป็นปกติได้เพิ่มขึ้น จึงตัดสินใจขับรถยนต์ส่วนตัวเพื่อนำยาต้านพิษที่เบิกจ่ายไปส่งยังจุดที่ใกล้กับโรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ มากที่สุดเท่าที่ทำได้
“ทันทีได้รับการประสานจากศูนย์พิษวิทยาฯ ถึงยาโซเดียม ไนไตรท์ ในคลังสำรองยาของโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี จึงได้นำรถออกเพื่อส่งยาต้านพิษให้ผู้ป่วยทันที เพราะในฐานะวิชาชีพเภสัชกรและจากที่ได้เข้าอบรมความรู้สารพิษและยาต้านพิษซึ่งจัดโดยศูนย์พิษวิทยาฯ ทำให้ทราบถึงความจำเป็นที่ผู้ป่วยต้องได้รับยาโดยเร็ว นั่นหมายถึงโอกาสความปลอดภัยของผู้ป่วย จึงไม่อยากรีรอ ประกอบกับโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานียังไม่มีระบบส่งยาต้านพิษในยามวิกาล ซึ่งหลังขับรถออกจากบ้านมาได้ประมาณ 20 นาทีก็ได้รับการประสานกับศูนย์พิษวิทยาฯ อีกครั้ง ซึ่งขอให้ช่วยนำส่งยาไปยังโรงพยาบาลเกิดเหตุ ซึ่งได้แจ้งกลับไปว่าได้นำรถออกมาส่งยาต้านพิษแล้ว แต่ด้วยวันรุ่งขึ้นผมต้องร่วมออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในช่วงเช้า หากขับรถเพื่อนำส่งยาไปถึงโรงพยาบาลที่รับรักษาผู้ป่วย คงไม่ไหว เพราะมีระยะทางไกลประมาณ 170 กิโลเมตร จึงขอให้ประสานไปยังโรงพยาบาลเกิดเหตุนำรถมารับยาต้านพิษครึ่งทางที่ห้องยาแผนกผู้ป่วยฉุกเฉิน โรงพยาบาลหลังสวนแทน”
ภก.ประมนัส เล่าต่อว่า ในวันรุ่งขึ้นได้รับทราบข้อมูลจากศูนย์พิษวิทยาฯ ที่ได้ติดตามเหตุการณ์และผู้ป่วยต่อเนื่องว่า ในเหตุการณ์นี้มีผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษก๊าซไข่เน่า 3 ราย ในจำนวนนี้ 1 ราย ได้เสียชีวิตที่ห้องฉุกเฉินไปก่อนหน้านี้ ส่วนอีก 2 ราย พ้นขีดอันตรายแล้วหลังได้รับยาต้านพิษและภายใต้การรักษาของทีมรักษาของโรงพยาบาล
โดยผู้ป่วยเป็นแรงงานข้ามชาติ ทำงานบนเรือประมง ได้รับก๊าซไข่เน่าจากการลงไปใต้ท้องเรือเพื่อเก็บสัตว์น้ำที่จับได้ ซึ่งใต้ท้องเรือเป็นพื้นที่ปิด หากมีสัตว์น้ำจำนวนมาก แต่ความเย็นไม่เพียงพอก็จะเกิดการหมักหมมสัตว์น้ำเหล่านี้จนเกิดก๊าซไข่เน่าได้
หลังทราบข่าว รู้สึกดีใจกับผู้ป่วยและครอบครัวผู้ป่วยที่รอดชีวิต รวมถึงทีมแพทย์ผู้ให้การรักษา
“หากไม่ตัดสินใจนำยาต้านพิษไปส่ง ผมเองไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง ผู้ป่วยอาจรอดหรือเสียชีวิตก็เป็นไปได้ ขึ้นอยู่กับปริมาณสารพิษที่ได้รับ และต้องชื่นชมทีมรักษาของโรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ที่พยายามดูแลผู้ป่วยเต็มที่ ซึ่งผมเองเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ได้นำยาต้านพิษไปส่งเท่านั้น” ภก.ประมนัส กล่าวและว่า ทั้งนี้รู้สึกยินดี หลังทราบว่าทางศูนย์พิษวิทยาฯ ได้ทำหนังสือชื่นชมการปฏิบัติงานครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นกำลังใจในการปฎิบัติงานต่อไป
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ภก.ประมนัส บอกต่อว่า ได้นำปัญหาที่เกิดขึ้นหารือกับหัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรมเพื่อเตรียมรองรับกรณีเกิดเหตุต้องนำส่งยาต้านพิษในยามวิกาล โดยประสานงานกับฝ่ายดูแลรถของโรงพยาบาลไว้ล่วงหน้า เพื่อที่จะสามารถนำส่งยาได้ทันทีที่มีผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยาต้านพิษรักษาในเวลาจำกัด
นอกจากนี้ในส่วนของศูนย์พิษวิทยาฯ เอง จะมีการประชุมและทบทวนการเพิ่มจุดสำรองยาต้านพิษ โดยเฉพาะในพื้นที่มีความเสี่ยงต่อการรับสารพิษ เช่น พื้นที่อุตสาหกรรม พื้นที่ทำประมง เป็นต้น จากแต่เดิมที่สำรองไว้เฉพาะในโรงพยาบาลใหญ่ ที่ยังมีปัญหาการนำส่งยาให้กับโรงพยาบาลที่อยู่ห่างไกล ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาทันท่วงที
อย่างไรก็ตามการช่วยเหลือผู้ป่วยที่ได้รับก๊าซพิษไข่เน่าในครั้งนี้คงไม่เกิดขึ้น หาก สปสช.ไม่มีนโยบายด้านยาเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาที่จำเป็น ที่ร่วมมือกับศูนย์พิษวิทยาฯ และสภากาชาดไทยในการผลิต เพราะแต่เดิมยาโซเดียม ไนไตรท์ ในโรงพยาบาลไม่เคยมีรายการยาต้านพิษนี้สำรองไว้ เพราะจัดซื้อไม่ได้ ไม่มีบริษัทยาผลิต จึงนับเป็นนโยบายที่ช่วยผู้ป่วยได้มากและมีประโยชน์กับประชาชนโดยตรง รองรับความเสี่ยงจากภาวะสารพิษ
ด้าน นพ.อดิเกียรติ เอี่ยมวรนิรันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่บุคลากรในสังกัดได้รับการชื่นชมจากศูนย์พิษวิทยา รามาธิบดีในครั้งนี้ และขอชื่นชมในฐานะเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ซึ่งมีจิตสาธารณะและความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือผู้อื่น ถือเป็นสิ่งที่ดี เป็นหัวใจสำคัญของการทำหน้าที่ ซึ่งตรงกับนโยบายของโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีที่เน้นการบริการที่ดี มีคุณภาพ และให้บุคลากรมีใจในบริการผู้ป่วย โดยกรณีของ ภก.ประมนัส ถือเป็นแบบอย่าง ซึ่งแต่ละวิชาชีพต่างก็มีหลายวิธีที่จะทำสิ่งดีได้เช่นกัน
- 113 views